Social

เปิดผลสอบคดีบอส ‘วิชา’ ชง รื้อสอบใหม่หมด – ฟันวินัยอาญา 8 กลุ่ม

เปิดผลสอบคดี “บอส อยู่วิทยา” ทีม “วิชา มหาคุณ” เสนอนายกรัฐมนตรี รื้อคดีสอบใหม่หมด พร้อมดำเนินการทางวินัย และอาญา ผู้เกี่ยวข้อง 8 กลุ่ม แนะแก้ไขระเบียบกฎหมายที่เกี่ยวข้อง 

จากกรณีนายวิชา มหาคุณ ประธานคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง และข้อกฎหมาย กรณีคำสั่งไม่ฟ้องคดีอาญา ที่อยู่ในความสนใจของประชาชน นำรายงานฉบับสมบูรณ์ ในการค้นหาความจริง กรณีที่อัยการมีคำสั่งไม่ฟ้อง คดีที่นายวรยุทธ อยู่วิทยา หรือ บอส ขับรถชนตำรวจเสียชีวิตเมื่อปี 2555 มารายงานต่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม พร้อมระบุว่า รายงานที่ส่งให้นายกฯ มีเนื้อหาประมาณ 100 หน้า แต่ข้อสรุปจริงๆมีประมาณ 10 หน้า เป็นรายละเอียดเขียนไว้ชัดเจนว่า เกิดความบกพร่องที่ใคร หน่วยงานไหนนั้น

cover บอส วิชามหาคุณ

ล่าสุด สำนักข่าวอิศรา รายงานอ้างแหล่งข่าวจากทำเนียบรัฐบาลว่า เนื้อหาในรายงานตรวจสอบดังกล่าว แบ่งเป็น 5-6 ส่วนหลัก คือ

1. กระบวนการสอบสวนคดีนี้ ไม่ชอบด้วยกฎหมาย เห็นควรให้มีการรื้อคดีสอบสวนใหม่ทั้งหมด เช่น การให้นายตำรวจที่ถูกชนเสียชีวิต ตกเป็นผู้ต้องหา, การสร้างพยานหลักฐานเท็จ โดยเฉพาะเรื่องความเร็วของรถเฟอร์รารี

2.เห็นควรให้ดำเนินการสอบสวนทางวินัย และอาญากับผู้เกี่ยวข้องจำนวน 8 กลุ่ม โดยส่งเรื่องให้หน่วยงานสอบสวน อาทิ สำนักงานคณะกรรมการป้องกัน และปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) , สำนักงานคณะกรรมการป้องกัน และปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) , สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) และกรมสอบสวนคดีพิเศษ ( ดีเอสไอ)

3.ให้สอบสวนจริยธรรมของผู้เกี่ยวข้อง ที่มีส่วนทำให้การสอบสวน มีความบกพร่อง และให้เผยแพร่รายงานการสอบสวน ต่อสาธารณชนทั้งหมด

4.ให้แก้ไขระเบียบกฎหมายที่เกี่ยวข้อง อาทิ การมอบอำนาจ เมื่อผู้บังคับบัญชามอบอำนาจให้ระดับรองไปแล้ว ต้องเข้าไปติดตามกำกับดูแล ไม่ใช่เป็นการมอบอำนาจให้แบบเบ็ดเสร็จเด็ดขาด จนทำให้เกิดปัญหา เหมือนกรณีตำรวจ และอัยการในคดีนายวรยุทธ ดังนั้นหากไม่ติดตามกำกับดูแล ให้ถือว่าผู้บังคับบัญชา มีความผิด

5.การร้องขอความเป็นธรรมต่ออัยการของผู้ต้องหา ควรพิจารณาดำเนินการได้เพียงแค่ 1 ครั้งเท่านั้น ถ้าหากจะมีการร้องขอความเป็นธรรมเพิ่มเติม ต้องมีพยานหลักฐานใหม่เท่านั้น

นอกจากนั้นเมื่ออัยการสูงสุด (อสส.) มอบให้รอง อสส.ไปดูแลงานเหล่านี้ จะต้องแยกการร้องขอความเป็นธรรม กับการสั่งคดีออกจากกัน จะให้อยู่ที่รอง อสส.เพียงคนเดียวไม่ได้ เพื่อให้มีการถ่วงดุลซึ่งกันและกัน

6.ควรมีการแก้ไขประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา (ป.วิอาญา) กรณีผู้ต้องหา หรือจำเลยหลบหนี ให้ไม่มีอายุความเหมือนกฎหมาย วิธีพิจารณาความอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง

ขอบคุณข้อมูล สำนักข่าวอิศรา

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo