World News

จีนงัดเทคนิคใหม่ ‘คุมส่งออกเทคโนโลยี’ สกัด ‘TikTok’ ขายธุรกิจสหรัฐ

แผนขายธุรกิจ TikTok ในสหรัฐ ของ “ไบท์แดนซ์” ส่อเค้ายุ่งยากมากขึ้น  หลังจีนออกกฎข้อบังคับฉบับใหม่ ควบคุมการส่งออกเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (เอไอ) สถานการณ์ที่อาจทำให้ การขายธุรกิจมีความซับซ้อนมากขึ้น ท่ามกลางการต่อสู้ด้านเทคโนโลยีอย่างรุนแรง ระหว่าง “จีน-สหรัฐ” 2 ชาติเศรษฐกิจขนาดใหญ่สุดในโลก

กฎข้อบังคับใหม่ดังกล่าว ซึ่งกระทรวงต่างๆ ของจีน ที่รับผิดชอบด้านพาณิชย์ วิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยี ประกาศออกมา เมื่อวันศุกร์ที่แล้ว (28 ส.ค.) ครอบคลุมถึงการ ส่งออกเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์ และ การประมวลผลข้อมูล อย่าง การจดจำเสียงพูด และข้อความ  ที่ต้องได้รับการอนุมัติจากทางการก่อน ซึ่งกระบวนการขออนุญาตนี้ ต้องใช้เวลาประมาณ 30 วัน จึงจะได้รับการอนุมัติในขั้นต้น

TikTok

นายกุ่ย ฝ่าน ศาสตราจารย์ด้านการค้าระหว่างประเทศ จากมหาวิทยาลัยเศรษฐกิจ และธุรกิจระหว่างประเทศ ในกรุงปักกิ่ง ชี้ว่า การเคลื่อนไหวเพื่อควบคุมการส่งออกเทคโนโลยีครั้งล่าสุดของจีน ซึ่งเกิดขึ้นเป็นครั้งแรก ในรอบ 12 ปีนี้ จะถูกนำไปบังคับใช้กับกรณีของTikTok ด้วย

ศาสตราจารย์รายนี้ บอกว่า ไบท์แดนซ์ ประสบความสำเร็จในระดับสากล จากความสามารถด้านเทคโนโลยีในประเทศ ของจีน และการจัดหาอัลกอริทึม ที่ผ่านการพัฒนาแล้ว ให้กับบริษัทในต่างประเทศ ซึ่งถือเป็นรูปแบบหนึ่งของการส่งออกเทคโนโลยี  อันหมายความว่า ไม่ว่าใครจะเป็นผู้ดำเนินงานในธุรกิจระหว่างประเทศของไบท์แดนซ์ ก็ตาม ล้วนแต่มีแนวโน้มที่จะเกิดการถ่ายทอดเทคโนโลยีข้ามพรมแดนอยู่ดี

“ถ้าหากไบท์แดนซ์ มีแผนที่จะส่งออกเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้อง ก็จะต้องดำเนินขั้นตอนการขออนุญาตก่อน”

ทางด้านนายอีริค แอนเดอร์สัน ที่ปรึกษาไบท์แดนซ์ บอกว่า บริษัทกำลังศึกษาถึงกฎข้อบังคับใหม่ ที่เพิ่งประกาศออกมา ซึ่งในการทำข้อตกลงข้ามพรมแดนใดๆ ก็ตาม บริษัทจะปฏิบัติตามกฎหมายที่ออกมา ซึ่งในกรณีนี้ รวมถึง ข้อตกลงในสหรัฐ และจีนด้วย

ขณะที่สำนักข่าวซินหัว รายงานอ้างคณะที่ปรึกษาด้านการค้าของรัฐบาลจีนว่า ไบท์แดนซ์ ควรที่จะศึกษารายชื่อส่งออกใหม่ พร้อมพิจารณาอย่างระมัดระวัง และจริงจังว่า ควรที่จะระงับการเจรจา เพื่อขายกิจการ TikTok ในสหรัฐหรือไม่

ทั้งนี้ ไมโครซอฟท์ คอร์ป วอลมาร์ท อิงค์ และออราเคิล คอร์ป ธุรกิจรายใหญ่ของสหรัฐ ต่างแสดงความสนใจ ที่จะเข้าซื้อธุรกิจในสหรัฐ ของ TikTok แอปพลิเคชันแชร์คลิปวีดีโอขนาดสั้น ที่ประสบความสำเร็จอย่างมาก  หลังจากที่ ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ผู้นำสหรัฐ มีคำสั่งให้ไบท์แดนซ์ แตกกิจการธุรกิจในสหรัฐ ท่ามกลางความกังวลเกี่ยวกับวิธีการจัดการข้อมูลส่วนบุคคลของบริษัท

ท่าดังกล่าวของทรัมป์ ถูกตอบโต้กลับจากรัฐบาลจีน โดยกระทรวงการต่างประเทศจีน ระบุว่า คัดค้านการออกคำสั่งประธานาธิบดีของทรัมป์ ในเรื่องนี้ และว่ารัฐบาลจีนจะดำเนินการปกป้องสิทธิตามกฎหมาย และผลประโยชน์ของธุรกิจจีน

TikTok

TikTok กับเรื่องวุ่นไม่จบไม่สิ้น 

ทั้งนี้ ความสัมพันธ์ระหว่างจีน กับสหรัฐ ที่ตึงเครียดขึ้นเรื่อยๆ นั้น ทำให้การทำธุรกิจของบริษัท จากแดนมังกร ในตลาดอเมริกัน กลายมาเป็นเรื่องยุ่งยากอย่างมาก โดยไบท์แดนซ์ ถือเป็นธุรกิจแดนมังกรรายล่าสุด ที่ได้รับผลกระทบจากเรื่องนี้

ตั้งแต่ปีที่แล้ว ทางการสหรัฐ กล่าวหาTikTok หลายต่อหลายครั้งว่า เป็นภัยคุกคามต่อความมั่นคงแห่งชาติของสหรัฐ  ทั้งยังกล่าวหา ไบท์แดนซ์ (ByteDance) เจ้าของแอปพลิเคชันนี้  ซึ่งมีสำนักงานใหญ่อยู่ที่กรุงปักกิ่ง เมืองหลวงของจีน ว่า ส่งต่อข้อมูลที่รวบรวมจากวิดีโอสตรีมมิง ของชาวอเมริกัน ไปยังรัฐบาลจีน แม้คำกล่าวนี้จะถูกปฏิเสธจากTikTok แล้วก็ตาม

หลังจากทรัมป์ ออกคำสั่งประธานาธิบดี ห้ามบุคคล หรือหน่วยงานใดในสหรัฐ ทำธุรกรรมกับ “ไบท์แดนซ์”  บริษัทเจ้าของแอพพลิเคชั่นTikTok ไปแล้วนั้น เมื่อวันที่ 24 สิงหาคม ที่ผ่านมาTikTok  ก็ได้ตัดสินใจยื่นฟ้องรัฐบาลสหรัฐ ภายใต้การบริหารของทรัมป์  ซึ่งในคำฟ้องร้องทั้งหมด 39 หน้า โดยระบุว่า จำเลยคือ โดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐ, วิลเบอร์ รอสส์ รัฐมนตรีกระทรวงพาณิชย์ของสหรัฐ และกระทรวงพาณิชย์สหรัฐ

ในเอกสารการฟ้องร้องTikTok กล่าวหาว่า ทางการสหรัฐ ละเมิดสิทธิของบริษัท โดยปราศจากซึ่งหลักฐานที่พิสูจน์ให้เห็นถึงพฤติกรรมอันรุนแรง รวมถึงกล่าวหาว่า การออกคำสั่งประกาศแบนแอป เป็นการกระทำโดยไม่แจ้งเตือนล่วงหน้า หรือไม่เปิดโอกาสในการฟังความ ถือเป็นการละเมิดกระบวนการคุ้มครองตามบทบัญญัติรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมครั้งที่ 5 (Fifth Amendment)

ในขณะเดียวกัน คำฟ้องร้องยังอ้างอิงถึงคำพูดของทรัมป์เกี่ยวกับกรณีนี้ เช่น การประโคมข่าวในเชิงรณรงค์ว่า TikTok “ไม่มีสิทธิ” และจะแบนแอปพลิเคชันยอดนิยมนี้ หากTikTok ไม่ยอมจ่ายเงินให้กับรัฐบาลสหรัฐ เพื่อให้ได้รับคำอนุมัติสำหรับการทำธุรกรรมซื้อขายใดๆ ซึ่งคำพูดเหล่านี้ขัดกับบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ

คำฟ้องร้องระบุว่า “ประธานาธิบดีได้ทำการยึดทรัพย์สินของโจทก์โดยไม่มีการชดเชย ด้วยการเรียกร้องให้โจทก์ชำระเงินให้กระทรวงการคลังของสหรัฐอเมริกา ในฐานะเงื่อนไขในการขายTikTok ถือเป็นการละเมิดบทบัญญัติรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมครั้งที่ 5″

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo