Business

วันนี้วันสุดท้าย ‘ยื่นภาษีไม่ทัน’ ต้องเตรียมตัวอย่างไร อ่านที่นี่!

“ยื่นภาษีไม่ทัน” ต้องทำอย่างไร หลังจากสรรพสากรขยายเวลาให้วันนี้ (31 สิงหาคม 2563) เป็นวันสุดท้ายของการยื่นเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ปีภาษี 2562

สิ่งแรก ที่ต้องรู้ คือ กรณี ยื่นภาษีไม่ทัน ไม่ว่าจะด้วยสาเหตุใด จะต้องไปยื่นเสียภาษีด้วยตัวเอง ที่สำนักงานสรรพากร พื้นที่ใกล้บ้านเท่านั้น โดยไม่สามารถยื่นผ่านช่องทางออนไลน์ได้เหมือนเวลาปกติ

ยื่นภาษีไม่ทัน

นั่นหมายความว่า สิ่งที่จะตามมาคือ เอกสารต้องครบ เพื่อความรวดเร็ว และไม่เสียเวลากลับไปเอาเอกสารหากเตรียมไปไม่พร้อม

กรมสรรพากร ระบุรายละเอียดเอกสาร ที่ต้องจัดเตรียมให้พร้อม สำหรับการยื่นเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ดังนี้

  • แบบฟอร์ม ภ.ง.ด. 91 หรือ ภ.ง.ด. 90
  • หนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่าย (50 ทวิ)
  • หนังสือรับรองการจ่ายเงินปันผล
  • เอกสารที่เกี่ยวข้องกับสิทธิการลดหย่อนภาษี เช่น หนังสือรับรองการจ่ายเบี้ยประกันชีวิต หรือประกันสุขภาพ ใบเสร็จเงินบริจาค เป็นต้น
  • หนังสือรับรองการจ่ายกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ
  • เอกสารยืนยันสิทธิค่าลดหย่อนบิดามารดา (ใบล.ย 03)
  • การชำระดอกเบี้ยกู้ยืมเพื่อซื้อบ้าน
  • เอกสารการซื้อกองทุน LTF / RMF เพื่อลดหย่อนภาษี

S 34775048นอกจากนี้ ยังต้องเตรียมใจ สำหรับบทลงโทษ กรณียื่นภาษีไม่ทันเวลาที่กำหนดในแต่ละปี โดยไม่ว่าจะด้วยเหตุผลอะไรก็ตาม ที่ทำให้ยื่นแบบภาษีไม่ทัน, ยื่นภาษีแต่ไม่จ่ายภาษี หรือจ่ายภาษีแต้ไม่ครบตามระยะเวลาที่กำหนด เตรียมรับบทลงโทษ ต่อไปนี้

  • กรณีไม่ยื่นแบบภาษีเงินได้ (ภ.ง.ด. 90/91 หรือ 94) ภายในเวลาที่กำหนด

จะต้องมีโทษปรับทางอาญา ไม่เกิน 2,000 บาท ตามมาตรา 35 แห่งประมวลรัษฎากร แต่สามารถขอลดค่าปรับได้

  • กรณียื่นแบบภาษีเงินได้ (ภ.ง.ด. 90/91) เลยกำหนดหรือ ยื่นภาษีย้อนหลัง สามารถยื่นภาษีย้อนหลังได้ โดยต้องเสียค่าปรับและเงินเพิ่ม โดยแบ่งเป็น 2 กรณีคือ

1. ยื่นภาษีย้อนหลัง และต้องจ่ายภาษีด้วย

แม้จะเตรียมเงินชำระภาษีไว้แล้ว แต่สิ่งที่ต้องรู้คือ จะต้องเตรียมเงินสำหรับค่าปรับ ในกรณีที่ยื่นภาษีล่าช้าไม่เกิน 2,000 บาท และเงินเพิ่มร้อยละ 1.5 ต่อเดือน (เศษของเดือนที่ต้องจ่ายภาษีปัดเป็น 1 เดือน)

2. ยื่นภาษีย้อนหลัง และไม่ต้องจ่ายภาษี

ในกรณีที่ทำการยื่นภาษีเพียงอย่างเดียว ไม่มียอดภาษีที่ต้องจ่ายเพิ่มเติม ก็ไม่ต้องคิดอะไรมาก แค่เตรียมเงินใหพร้อมสำหรับการจ่ายค่าปรับล่าช้าไม่เกิน 2,000 บาท เท่านั้น

  • ยื่นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา (ภ.ง.ด. 90/91) เพิ่มเติม (เลยกำหนดยื่นภาษี)

กรณีนี้คือ ยื่นภาษีเงินได้ประจำปีไปเรียบร้อยแล้ว และทันเวลา แต่เกิดข้อผิดพลาด เช่น จ่ายภาษีเกิน มีภาษีที่ต้องจ่ายเพิ่ม จ่ายภาษีแล้วข้อมูลไม่ถูกต้อง หากทันกำหนดก็สามารถยื่นภาษีใหม่ผ่านช่องทางออนไลน์ได้ แต่หากเกินกำหนด ต้องกรอกข้อมูลในแบบยื่นภาษีแบบกระดาษ และต้องนำเอกสารไปยื่นที่สำนักงานสรรพากรพื้นที่เท่านั้น

  • ยื่นภาษีออนไลน์ (ภ.ง.ด. 90/91) แล้ว แต่ลืมจ่ายภาษี

แม้ว่าจะยื่นภาษีอ่านช่องทางอินเทอร์เน็ต หรือช่องทางออนไลน์ไปแล้ว แต่ไม่ได้ชำระภาษี ก็ต้องรู้ว่า การไม่ได้จ่ายภาษีในระยะเวลาที่สรรพากรกำหนด จะถือว่ายังไม่ได้ยื่นภาษี และจะต้องจ่ายทั้งเงินภาษี และเงินเพิ่มอีกร้อยลพ 1.5 ต่อเดือน ของเงินภาษีที่ต้องจ่าย ตั้งแต่วันพ้นกำหนดการยื่นภาษี จนถึงวันที่จ่ายภาษี พร้อมเงินค่าปรับ 2,000 บาท

นอกจากนี้ ยังมีกรณีเจ้าพนักงานตรวจสอบ ออกหมายเรียก และปรากฏว่ามิได้ยื่นแบบแสดงรายการไว้ หรือยื่นแบบแสดงรายการไว้ แต่ชำระภาษีขาดหรือต่ำไป นอกจาก จะต้องรับผิดชำระเงินเพิ่มแล้ว ยังจะต้องรับผิดเสียเบี้ยปรับอีก 1 เท่าหรือ 2 เท่าของภาษีที่ต้องชำระแล้วแต่กรณี เงินเบี้ยปรับดังกล่าวอาจลดหรืองดได้ตามระเบียบที่อธิบดีกำหนดโดยอนุมัติรัฐมนตรี

อีกกรณีคือ จงใจ แจ้งข้อความเท็จ หรือแสดงหลักฐานเท็จหรือฉ้อโกง เพื่อหลีกเลี่ยงหรือพยายามหลีกเลี่ยงการเสียภาษีอากร มีโทษจำคุกตั้งแต่ 3 เดือนถึง 7 ปี และปรับตั้งแต่ 2,000 บาท ถึง 200,000 บาท

กรณีเจตนาละเลย ไม่ยื่นแบบแสดงรายการ เพื่อหลีกเลี่ยงการเสียภาษีอากร มีโทษปรับไม่เกิน 200,000 บาท หรือจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือทั้งจำทั้งปรับ

การเสียภาษี ถือเป็นหน้าที่ของคนไทยทุกคนที่ไม่ควรละเลย ในทุกปี อย่าลืมเสียภาษีให้ทันเวลา จะลดความยุ่งยากในชีวิตจากการต้องไปชำระย้อนหลังได้มากทีเดียว

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo