Politics

‘วิชา มหาคุณ’ ชง ‘บิ๊กตู่’ รื้อคดี ‘บอส อยู่วิทยา’ ใหม่ทั้งหมด

วิชา มหาคุณ เตรียมเสนอ “นายกรัฐมนตรี” รื้อคดี บอส อยู่วิทยา ทายาทกระทิงแดงใหม่ทั้งหมด คาใจทำไมถึงเอาผู้ที่เสียชีวิตมาเป็นผู้ต้องหา ทั้งที่ตายไปแล้ว!!

ที่สำนักงานกฤษฎีกา ท่าพระจันทร์ นาย วิชา มหาคุณ ประธานคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายกรณีคำสั่งไม่ฟ้องคดีอาญาที่อยู่ในความสนใจของประชาชน กล่าวภายหลังการประชุมสรุปคดี กรณีอัยการสั่งไม่ฟ้อง นายวรยุทธ อยู่วิทยา หรือ บอส ทายาทเครื่องดื่มชูกำลังชื่อดัง ที่ขับรถชนตำรวจเสียชีวิตเมื่อปี 2555 ซึ่งใช้เวลากว่า 6 ชั่วโมง ว่า วานนี้ (30 ส.ค.) มีการสรุปรายงานที่จะนำเสนอนายกรัฐมนตรี ในวันนี้ (31 ส.ค.) ซึ่งขณะนี้ ยังไม่ได้มีการนัดเวลา แต่ได้พูดคุยกับ นายกรัฐมนตรี เรียบร้อยแล้ว ซึ่งก็เป็นไปตามกำหนดเวลา 30 วัน ทั้งนี้ ในส่วนของการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมขยายออกไปอีก 30 วัน

วิชา มหาคุณ

ทั้งนี้ ในส่วนของการสรุปรายงานแบ่งเป็น 2 แนวทางคือ แนวทางแรก เป็นการสรุปรายละเอียดว่า ได้สอบพยานกี่ปาก ใครบ้าง มีข้อมูลอย่างไร รวมทั้งการลำดับเหตุการณ์ว่า เกิดขึ้นอย่างไร ตั้งแต่เกิดเหตุการณ์จนมีผู้เสียชีวิต และมีผู้ต้องหา มีการทำสำนวนสอบสวนอย่างไร จนเกิดกรณีข้อสงสัยทั้งเรื่องการสั่งฟ้อง คดีขาดอายุความ

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าจะผ่านเวลามายาวนาน แต่เรามีเอกสารยืนยันบางเรื่อง เปลี่ยนจากที่เคยสอบมาแล้ว ซึ่งคณะกรรมการฯ ได้ความจริงว่า เหตุการณ์บางเหตุการณ์ไม่เป็นความจริง เพราะไม่ได้ทำขึ้นในวันที่เกิดเหตุ ดังนั้น เพื่อให้เห็นว่า มีความผิดพลาดคาดเคลื่อนอย่างไรบ้าง ซึ่งผิดพลาดตั้งแต่ทำสำนวน

โดยเฉพาะสิ่งที่คณะกรรมการฯ ติดใจมาก คือ ทำไมถึงเอาผู้ที่เสียชีวิต ซึ่งเป็นตำรวจมาเป็นผู้ต้องหาทั้งที่ตายไปแล้ว ไม่มีสิทธิ์ต่อสู้ ถือเป็นเรื่องผิดปกติ เป็นกระบวนการตั้งรูปคดี ที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ก็เคยสอบว่า มีข้อน่าสงสัย และ พิรุธจำนวนมาก ซึ่งก็มีการยึดแนวทางตามข้อยุติของ ป.ป.ช. ในส่วนหนึ่ง จากนั้นก็มีการสอบเพิ่มเติม

นายวิชา กล่าวอีกว่า ในกระบวนการทั้งหมดเราพบว่า เป็นกระบวนการที่ร่วมมือกันหลายฝ่าย ไม่สามารถเกิดขึ้น จากฝ่ายพนักงานสอบสวนเพียงฝ่ายเดียว หรือ พนักงานอัยการคนเดียว ทั้งกระบวนการอัยการ และ ตำรวจไม่ใช่องค์กรไม่ดี แต่ได้รับความเสียหาย และ ผลกระทบจากผู้ที่แสวงหาผลประโยชน์หรือไม่ ทำหน้าที่ของผู้บังคับบัญชา หรือ ผู้ทำหน้าที่ไม่สมบูรณ์ผิดพลาดบกพร่อง ซึ่งรายงานจะมีรายละเอียดทั้งหมด แต่ยังไม่สามารถเปิดเผยได้ โดยเฉพาะชื่อหรือบุคคล

“จุดมุ่งหมายของคณะกรรมการฯ คือ ต้องรื้อคดีนี้ใหม่ทั้งหมด ซึ่งมีแนวคำพิพากษาศาลฎีกาว่าการทำสำนวนคดีในลักษณะสมยอม หรือไม่สุจริตจะเสียกันทั้งระบบ จึงจะมีข้อเสนอให้เริ่มต้นใหม่ทั้งหมด เพื่อความยุติธรรมและเป็นธรรม แต่คงจะได้เฉพาะบางข้อกล่าวหาที่ยังไม่ขาดอายุความ หรือยังไม่เคยตรวจสอบ หรือ ยังไม่จัดการให้ชัดเจน” นายวิชา กล่าว

นายวิชา กล่าวอีกว่า บางประเด็นทางตำรวจ ได้พยายามแก้ไขโดยใช้มาตรา 147 แต่คณะกรรมการฯ เห็นว่า ต้องยิ่งกว่านั้น ซึ่งกระบวนการที่เสนอมีทั้งในส่วนของอาญา วินัย และจริยธรรมครบทั้ง 3 ด้าน ในส่วนบางคดีที่ขาดอายุความ ไม่สามารถรื้อกลับมาได้เป็นเรื่องที่ลำบากเพราะกฎหมายไม่ได้เขียนไว้ เพราะยังไม่เคยมีกรณีแบบนี้ ซึ่งมันรุนแรง

เมื่อถามว่า บางกรณีที่สามารถรื้อคดีขึ้นมาใหม่ได้ จะสามารถเอาผิด กับบุคคลที่เกี่ยวข้องได้หรือไม่ นายวิชา กล่าวว่า ก็ต้องแยกไปให้กับองค์กรที่เกี่ยวข้องทั้ง ป.ป.ช., ป.ป.ท., ดีเอสไอ ดำเนินการ ซึ่งส่วนตัวคิดว่า องค์กรยุติธรรมทั้งหมด จะต้องมาร่วมกันประชุมปรึกษาหารือว่าจะต้องทำอะไรบ้าง ทั้งนี้ ในรายงานไม่ได้ระบุถึงตัวบุคคล เพียงแต่บอกว่า มีใครเกี่ยวข้องอย่างไร จุดไหน พร้อมทั้งเสนอว่า ควรส่งสำนวนไปให้ใครเพื่อดำเนินการ

เมื่อถามย้ำว่า ในรายงานที่เสนอต่อนายกฯ จะเอาผิดต่อองค์กร หรือ กระบวนการได้หรือไม่ นายวิชา กล่าวว่า มีทั้งสามารถเอาผิดได้เลยและมีทั้งต้องไปขยายผล ซึ่งในรายงานเขียนไว้อย่างชัดเจนว่า เรามีเวลาจำกัด ไม่อาจสอบได้ครบถ้วนทุกปาก ซึ่งพยานยังมีอีกที่สามารถจะชี้ผิดถูกอย่างไร สำหรับความผิดที่ตรวจพบนั้น มีทั้งบุคคลธรรมดา บุคคลผู้ดำรงตำแหน่งในกระบวนการมีเยอะ ถ้าถึงจุดไหนที่เกี่ยวข้องกับบุคคลใด ก็ต้องไปดำเนินการให้ชัดว่า มีความผิดพลาดบกพร่อง หรือ ทุจริตประพฤติมิชอบอย่างไร

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo