Lifestyle

‘มะเร็งลำไส้ใหญ่ ไส้ตรง’ เลี่ยงได้ด้วยตัวคุณเอง ปรับพฤติกรรมการกิน

มะเร็งลำไส้ใหญ่ ไส้ตรง ติดอันดับต้นๆ กรมการแพทย์แนะเลี่ยงอาหารไขมันสูง ฟาสต์ฟู้ด ปิ้งย่างไหม้เกรียม อาหารจากน้ำมันทอดซ้ำ เนื้อสัตว์แปรรูป

นายแพทย์สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดี กรมการแพทย์ เปิดเผยว่า สำหรับประเทศไทย มะเร็งลำไส้ใหญ่ และไส้ตรง พบได้บ่อยเป็นอันดับ 3 ในเพศชาย และอันดับ 2 ในเพศหญิง โดยจากข้อมูลประมาณการณ์ ในปี 2563 จะมีผู้ป่วยใหม่ราว 13,000 ราย และเสียชีวิตประมาณ 5,000 คน

มะเร็งลำไส้ใหญ่

ปัญหาอุปสรรคของการรักษาโรคมะเร็งคือ โรงพยาบาลส่วนใหญ่ มีจำนวนเตียงไม่เพียงพอ ผู้ป่วยที่ต้องได้รับยาเคมี จำเป็นต้องนอนโรงพยาบาลทุกครั้ง บางครั้ง ทำให้ผู้ป่วยได้รับการรักษาไม่เป็นไปตามรอบ การให้ยา และขาดความต่อเนื่อง

กรมการแพทย์ โรงพยาบาลรามาธิบดี พร้อมโรงพยาบาลต่าง ๆ ในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข โรงพยาบาลมหาวิทยาลัย และสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ จึงได้ร่วมผลักดัน นโยบายเรื่องการให้ยาเคมีบำบัดที่บ้าน (Home chemotherapy) เป็นชุดสิทธิประโยชน์ สำหรับผู้ป่วยมะเร็งลำไส้ใหญ่และไส้ตรง ตั้งแต่เดือน กรกฎาคม 2563

โครงการดังกล่าว ทำให้ผู้ป่วยได้รับการรักษาตรงเวลา มีประสิทธิภาพ ให้ผลลัพธ์ต่อสุขภาพร่างกาย และจิตใจที่ดีกว่า อีกทั้งยังพบว่า การให้ยาเคมีบำบัดที่บ้าน มีต้นทุนต่ำกว่า การบริการยาเคมี ที่โรงพยาบาลอีกด้วย ซึ่งการรักษาด้วยวิธี Home chemotherapy จัดเป็นการพัฒนารูปแบบบริการการแพทย์วิธีใหม่ หรือเรียกว่า “New Normal of Medical Service” สำหรับผู้ป่วยมะเร็ง

ด้าน นายแพทย์จินดา โรจนเมธินทร์ ผู้อำนวยการ สถาบันมะเร็งแห่งชาติ กล่าวเพิ่มเติมว่า ปัจจุบันวิถีชีวิตของคนไทย เปลี่ยนแปลงไปจากอดีตมาก โดยเฉพาะพฤติกรรมการบริโภค เช่น อาหารไขมันสูง อาหารฟาสต์ฟู้ดต่าง ๆ ได้รับความนิยมมากขึ้น

การกินอาหารปิ้งย่าง ที่ไหม้เกรียม อาหารจากน้ำมันทอดซ้ำ และเนื้อสัตว์แปรรูป ถือเป็นปัจจัยเสี่ยงสำคัญ ต่อการเกิดโรค อีกทั้งยังมีปัจจัยเสี่ยงอื่น ๆ เช่น การสูบบุหรี่ ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ การขาดการออกกำลังกาย การมีภาวะอ้วนน้ำหนักเกิน ตลอดจนการมีประวัติครอบครัว หรือตนเอง เป็นติ่งเนื้อในลำไส้ เป็นต้น

ไหม้

สำหรับโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ เริ่มจากการเกิดติ่งเนื้อในลำไส้ (polyp) และพัฒนาจนเป็นมะเร็ง โดยใช้ระยะเวลาประมาณ 10-15 ปี มะเร็งลำไส้ใหญ่และไส้ตรง มักจะไม่มีอาการในระยะเริ่มแรกของโรค จะมีอาการก็ต่อเมื่อ โรคลุกลามมากขึ้น จนถึงระยะสุดท้าย ส่งผลทำให้การรักษาไม่ได้ผลดีเท่าที่ควร

ทั้งนี้ อาการของโรคที่พบบ่อย ได้แก่ การถ่ายอุจจาระผิดปกติ มีอาการท้องผูกสลับท้องเสีย ถ่ายอุจจาระบ่อยครั้ง ถ่ายไม่สุด ถ่ายเป็นมูกหรือ มูกปนเลือด หรืออาจถ่ายเป็นเลือดสด ขนาดลำอุจจาระเล็กลง และมีอาการปวดท้อง แน่นท้อง ท้องอืด จุกเสียด เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม มะเร็งลำไส้ใหญ่และไส้ตรง เป็นมะเร็งที่สามารถตรวจคัดกรอง เพื่อค้นหามะเร็งในระยะเริ่มแรกได้ ส่งผลให้การรักษาได้ผลดี และมีโอกาสหายจากโรคสูง

ดังนั้น ผู้ที่มีอายุ 50 ปีขึ้นไป ควรรับการตรวจคัดกรอง โรคมะเร็งลำไส้ใหญ่และไส้ตรง โดยการตรวจหาเลือดแฝง ในอุจจาระ ปีละครั้ง หากผิดปกติ ควรได้รับการส่องกล้อง ตรวจลำไส้ใหญ่ กรณีพบติ่งเนื้อ หรือความผิดปกติ ในลำไส้ใหญ่ แพทย์จะทำการตัดชิ้นเนื้อบริเวณดังกล่าว เพื่อวินิจฉัยต่อไป

ด้านโรงพยาบาลศิริราช ปิยมหาราชการุณย์ ให้ความรู้เกี่ยวกับโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ว่า มะเร็งลำไส้ใหญ่ มักพบมากในผู้ที่มีอายุ 50 ปีขึ้นไป แต่ก็สามารถเกิดได้ในทุกเพศ ทุกวัย โดยอายุเฉลี่ยของคนไทย ที่ตรวจพบมะเร็งชนิดนี้ อยู้ในช่วงอายุ 60-65 ปีข้นไป ผู้ที่มีประวัติบุคคลในครอบครัวป่วยเป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่และทวารหนัก จะมีโอกาสเสี่ยงมากกว่าคนทั่วไป โดยเฉพาะหากบุคคลนั้นเป็นญาติสายตรง ลำดับแรกได้แก่ พ่อแม่ พี่น้อง และบุตร

ปัจจุบันยังไม่ทราบสาเหตุที่แท้จริงชองการเกิดมะเร็งลำไส้ใหญ่ แต่เชื่อว่า การรับประทานอาหารที่มีใยอาหารมาก ทานอาหารที่มีไขมันน้อย ร่วมกับการออกกำลังกายสม่ำเสมอ และป้องกันภาวะท้องผูก จะลดโอกาสการเกิดมะเร็งลำไส้ใหญ่ได้

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo