Lifestyle

ระวัง อาหารเป็นพิษจาก ‘กลอย’ อ่านวิธีล้างขจัดพิษ ก่อนนำไปปรุงอาหาร

อาหารเป็นพิษจากกลอย กรมควบคุมโรค แนะวิธีล้างพิษ หลังพบ ผู้ป่วยจากการรับประทานกลอย 172 รายในช่วง 5 ปี โดยเฉพาะช่วงหน้าฝนมากสุด

นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดี กรมควบคุมโรค เปิดเผยว่า จากการเฝ้าระวังของกรมควบคุมโรค เกี่ยวกับสถานการณ์ อาหารเป็นพิษจากพืช ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมาถึงปัจจุบัน (ปี 2559-2563) พบเหตุการณ์ อาหารเป็นพิษจากกลอย รวม 11 เหตุการณ์ พบผู้ป่วยทั้งสิ้น 172 ราย (ผู้ป่วยในเหตุการณ์อยู่ระหว่าง 3-32 ราย) เสียชีวิต 2 ราย ผู้ป่วยมีอาการรุนแรงเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล 36 ราย

อาหารเป็นพิษจากกลอย

ทั้งนี้ พบว่าเหตุการณ์ส่วนใหญ่ เกิดในเดือนสิงหาคม รองลงมาคือ เดือนธันวาคม กันยายน และ มีนาคม ส่วนภูมิภาคที่พบเหตุการณ์สูงสุด คือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 9 เหตุการณ์ รองลงมาคือ ภาคใต้ 1 เหตุการณ์ และภาคตะวันออก 1 เหตุการณ์

ในเดือน สิงหาคม 2563 นี้ มีรายงานพบผู้ป่วยโรคอาหารเป็นพิษ จากการรับประทานกลอย เป็นกลุ่มก้อน 2 เหตุการณ์จาก จังหวัดนครพนม และนครราชสีมา รวม 27 ราย โดยทั้งสองเหตุการณ์ไม่มีผู้เสียชีวิต

สำหรับผู้ป่วยส่วนใหญ่ มีอาการเวียนศีรษะ คลื่นไส้ อาเจียน ผลการสอบสวนโรค พบว่า ผู้ปรุงกลอย คาดว่ามีการล้างขจัดสารพิษ จากแหล่งที่ขายมาแล้ว จึงไม่ได้ทำการขจัดสารพิษอีกครั้ง ก่อนที่จะนำมาปรุงอาหาร

นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย
นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย

 

ขณะที่การพยากรณ์โรคและภัยสุขภาพ ประจำสัปดาห์นี้ คาดว่า มีโอกาสจะพบผู้ป่วยโรคอาหารเป็นพิษ จากการรับประทานกลอยเพิ่มขึ้น เนื่องจากในช่วงฤดูฝน เป็นช่วงที่กลอย กำลังออกดอก และมีหัว ซึ่งทำให้กลอยมีพิษสูงกว่าฤดูอื่นๆ

นายแพทย์สุวรรณชัย กล่าวว่า สำหรับ กลอย มีลักษณะทั่วไปเป็นไม้เถา มีหัวใหม่เกิดขึ้นทุกปี จากส่วนลำต้นใต้ดิน ในหัวกลอย มีแป้งและมีสารพิษ ที่ชื่อว่า “ไดออสคอรีน” (Dioscorine) มีฤทธิ์กดระบบประสาทส่วนกลาง ผู้ที่ได้รับพิษจากกลอย จะมีอาการ คันที่ปาก ลิ้น คอ คลื่นไส้ อาเจียน และทำให้เกิดอาการ มึนเมา วิงเวียน ใจสั่น ตาพร่า อึดอัด

ข้อมูลจากศูนย์พันธุวิศวกรรม และเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) สังกัด สวทช. พบว่า การขจัดพิษจากหัวกลอย ในสมัยก่อนทำได้โดย การฝานหัวกลอยเป็นชิ้นบาง ๆ แล้วนำมาแช่น้ำไหล เช่น ในลำธาร ซึ่งต้องใช้เวลาชะล้างสารพิษนานไม่ต่ำกว่า 7 วัน หรืออีกวิธีหนึ่ง คือ การนำไปแช่ในน้ำเกลือเข้มข้น  โดยเกลือจะทำให้เกิดการแลกเปลี่ยน สารไดออสคอรีน ในแผ่นกลอย ได้เร็วขึ้น แต่ต้องถ่ายน้ำทิ้งหลาย ๆ ครั้ง และ ใช้เวลาแช่ไม่ต่ำกว่า 3 วัน

กลอย

อย่างไรก็ตาม ยังไม่มีวิธียืนยันว่า การกำจัดพิษข้างต้น จะสามารถกำจัดพิษได้ 100% กรมควบคุมโรค จึงขอแนะนำประชาชน ให้ระมัดระวัง การรับประทานกลอย โดยเฉพาะในช่วงฤดูฝน หากนำมารับประทาน ควรเลือกซื้อกลอย จากแหล่งที่น่าเชื่อถือ และ มีการขจัดพิษแล้ว หากไม่แน่ใจ ควรปรุงกลอยโดยผ่านกรรมวิธีการขจัดพิษที่เหมาะสมก่อนทุกครั้ง

นอกจากนี้ ยังควรหลีกเลี่ยง ไม่ให้เด็กรับประทานกลอย เนื่องจากในเด็ก หากได้รับสารพิษแม้ในปริมาณเล็กน้อย อาจจะมีอาการรุนแรงกว่าผู้ใหญ่ ทั้งนี้ หากประชาชนที่รับประทานกลอย แล้วเกิดอาการผิดปกติข้างต้น ควรรีบพบแพทย์ในทันที สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ศูนย์พิษวิทยา รพ.รามาธิบดี โทร.1367 หรือสายด่วนกรมควบคุมโรค โทร.1422

ประเภทของกลอย

กลอย มีชื่อเรียกแตกต่างกันไปในแต่ละท้องถิ่น เช่น กลอยมัน กลอยข้าวเหนียว กลอยข้าวเจ้า กลอยหัว และกลอยนก เป็นต้น ในประเทศไทยมีกลอย ประมาณ 32 ชนิด พบมากทางภาคเหนือ และภาคอีสาน ในช่วงฤดูฝนจนถึงฤดูหนาว สำหรับชาวบ้านจะแบ่งประเภทของกลอยง่ายๆ ตามลักษณะของลำต้นและตามสีในเนื้อหัวกลอยได้ 2 ชนิด คือ

  • กลอยข้าวเจ้า จะมีลักษณะของเถาและก้านใบสีเขียว และจะมีเนื้อสีขาวนวลและเนื้อหยาบกว่ากลอยข้าวเหนียว
  • กลอยข้าวเหนียว มีเถาสีน้ำตาลอมดำ และมีสีเหลืองอ่อนถึงเหลืองเข้ม (สีทอง) เนื้อเหนียวและรสชาติดีกว่ากลอยข้าวเจ้า (มีเนื้อที่ร่วยซุย) ดังนั้น ชาวบ้านหรือเกษตรกร จึงมักจะนิยมกินกลอยข้าวเหนียว มากกว่ากลอยข้าวเจ้า

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo