Lifestyle

อาหารโปรตีนสูง น้ำตาลสูง กับ โรคมะเร็ง เรื่องจริงที่ต้องรู้!

โรคมะเร็ง กับอาหารโปรตีนสูง น้ำตาลสูง ไม่ทำให้เซลมะเร็งโตขึ้น ผลศึกษาชี้ชัด ผู้ป่วยโรคมะเร็ง ต้องทานอาหารครบ 5 หมู่ โดยเฉพาะโปรตีน ช่วยซ่อมแซมเซลล์

จากความเชื่อที่ว่า อาหารโปรตีนเพิ่มการเจริญเติบโตของเซลล์มะเร็ง จึงทำให้ ผู้ป่วยโรคมะเร็ง มักไม่กล้าบริโภคอาหารโปรตีน ศาสตราจารย์เกียรติคุณ แพทย์หญิง พวงทอง ไกรพิบูลย์ สมาคมรังสีรักษา และมะเร็งวิทยาแห่งประเทศไทย ให้ข้อมูลผ่าน เพจเฟซบุ๊ก “นักโภชนาการชายแดน” เฉลย โรคมะเร็ง กับอาหารโปรตีนสูง ไว้ดังนี้

โรคมะเร็ง

“เรื่องกินกับโรคมะเร็ง ที่มักกังวล

อาหารโปรตีนสูง น้ำตาลสูง ทำให้เซลล์มะเร็ง โตเร็วขึ้น จริงหรือไม่

อาหารโปรตีน สำคัญมากต่อผู้ป่วยโรคมะเร็ง เพราะเป็นอาหารให้พลังงาน ซ่อมแซมเซลล์ ที่เสียหายสึกหรอ และเป็นอาหารสำคัญ เพื่อเสริมสร้างไขกระดูก ซึ่งเป็นเนื้อเยื่อจำเป็นมาก สำหรับการรักษาโรคมะเร็ง

ทั้งนี้เพราะ ไขกระดูก เป็นเนื้อเยื่อสร้างเม็ดเลือดทุกชนิด ทั้งเม็ดเลือดแดง เม็ดเลือดขาว และ เกล็ดเลือด เพื่อความแข็งแรงกับร่างกาย ให้ภูมิต้านทานคุ้มกันการติดเชื้อ และเพิ่มการตอบสนองที่ดี ต่อการรักษา ด้วยเคมีบำบัด และรังสีรักษา

แต่คนทั่วไป มีความเชื่อว่า อาหารโปรตีนเพิ่มการเจริญเติบโตของเซลล์มะเร็ง จึงทำให้ ผู้ป่วยโรคมะเร็ง มักไม่กล้าบริโภค อาหารโปรตีน ซึ่งเป็น ความเชื่อที่ผิด

เพราะการศึกษาทางการแพทย์ ให้ผลยืนยันว่า ผู้ป่วยที่บริโภคอาหารครบทั้ง 5 หมู่ ซึ่งรวมทั้งโปรตีน มีอัตรารอดจากโรคมะเร็ง สูงกว่าผู้ป่วยจำกัดอาหารแบบเคร่งครัด อย่างชัดเจน ทั้งนี้ โดยทั่วไปแพทย์แนะนำ ควรได้รับอาหารโปรตีน ประมาณร้อยละ 20-30 ของพลังงานอาหารทั้งหมด ที่ได้รับต่อวัน

อาหารโปรตีน มีได้ทั้งจากพืช และสัตว์ โดย แหล่งโปรตีนสำคัญจากพืช คือ ถั่วต่าง ๆ โดยเฉพาะถั่วเหลือง ส่วนจากสัตว์ได้แก่ เนื้อสัตว์ ปลา อาหารทะเล ตับ ไข่ และ นม

อย่างไรก็ตาม ทางการแพทย์พบว่า ในเนื้อแดง (เนื้อจากสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม) มีสารบางชนิด และมีไขมันชนิด อาจก่อโรคมะเร็ง และ โรคของหลอดเลือด ที่สำคัญ คือ โรคหลอดเลือดหัวใจ และ โรคหลอดเลือดสมอง

ดังนั้น สมาคมโรคมะเร็ง แห่งสหรัฐอเมริกา จึงแนะนำให้ จำกัดอาหารจากเนื้อแดง และเนื้อสัตว์แปรรูป (คุณค่าอาหารลดลง และ มักมีสารก่อมะเร็ง จากกระบวนการผลิต เช่น ไส้กรอก ปลา ร้า และ แหนม) และยังแนะนำให้ผู้ป่วยมะเร็ง บริโภคโปรตีน ทั้ง จากพืช และสัตว์ ร่วมไปด้วยกันเสมอ

อาหารคาร์โบไฮเดรต (อาหารแป้ง และ น้ำตาล) มีความสำคัญต่อผู้ป่วยโรคมะเร็ง เพราะเป็นอาหารหลัก ในการให้พลังงาน ซึ่งร่างกายนำมาใช้ เพื่อเสริมสร้างการทำงาน ของเซลล์ต่าง ๆ

แต่เนื่องจากเป็นแหล่งพลังงาน และมีน้ำตาลสูง จึงเป็นสาเหตุของ โรคอ้วน และ โรคเบาหวาน ได้ง่าย เมื่อบริโภคปริมาณสูง อย่างต่อเนื่อง และ ออกกำลังกายได้น้อย แพทย์จึงแนะนำให้ จำกัดการบริโภคอาหารหวานจัดเสมอ

ทั้งนี้ ปริมาณที่เหมาะสม คือ สามารถได้พลังงาน จากอาหารคาร์โบไฮเดรต ประมาณร้อยละ 45-65 ของพลังงานทั้งหมด ที่ได้รับต่อวัน และยังแนะนำ ให้พยายามบริโภคอาหารแป้ง ที่ได้จากธัญพืช ที่ผ่านการขัดสีน้อย หรือไม่ผ่านการขัดสี กล่าวคือ ชนิดเต็มเมล็ด (whole grain) เพราะมีคุณค่าทางอาหาร ในกลุ่มวิตามิน เกลือแร่ และใยอาหารสูงกว่า

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo