General

ประมงพื้นบ้าน เตรียมยกพลเข้ากรุง จี้รัฐแก้ปัญหา สร้างประมงยั่งยืน

ประมงพื้นบ้าน เล็งเข้ากรุงเทพ ติดตามข้อเสนอ 14 เรื่อง จี้รัฐแก้ปัญหา สร้างความยั่งยืน ยันไม่เลิกทำการประมงที่รับผิดชอบสังคม สิ่งแวดล้อม และประเทศ

รายงานข่าวจาก สมาคมสมาพันธ์ชาวประมงพื้นบ้านแห่งประเทศไทย เผยว่า สมาคมฯ เตรียมเดินทางเข้ากรุงเทพ เพื่อยื่นหนังสือติดตามข้อเสนอ เพื่อการประมงยั่งยืน 14 ข้อ โดยระบุว่า ชาวประมงพื้นบ้าน จะไม่เลิกประกอบอาชีพทำการประมง ที่รับผิดชอบต่อสังคม สิ่งแวดล้อม และประเทศ

ประมง ๒๐๐๘๒๙

ทั้งนี้ เชื่อว่าหากชาวประมงทุกฝ่าย ทำการประมงอย่างรับผิดชอบ จะยิ่งทำให้ชาวประมง และคนไทยได้รับประโยชน์ จากทรัพยากรอาหารทะเลไทย ได้อย่างยั่งยืนเป็นธรรมได้ แต่รัฐบาลต้องเร่งแก้ไขปัญหาชาวประมงพื้นบ้าน และการประมงลักษณะไม่ยั่งยืน

ข้อเสนอ 14 ข้อ ของประมงพื้นบ้าน

1. รัฐบาลต้องหยุดยั้งการประมงที่ทำลายสัตว์น้ำวัยอ่อน โดยการกำหนด ชนิด ขนาด และสัดส่วน พันธุ์สัตว์น้ำเศรษฐกิจที่ห้ามทำการประมงช่วงวัยอ่อน เช่น ปลาทู ปลาลัง ปลากุเลา ปลาอินทรี ปลาจาละเม็ด ปลาสาก ปลาหลังเขียว และปูม้า เป็นต้น

2. ขอให้รัฐบาลออกระเบียบควบคุมการใช้เครื่องมืออวนล้อมจับ, ลดจำนวนของเรือปั่นไฟจับสัตว์น้ำที่ใช้อวนตาถี่ และกำหนดให้เรืออวนลากคู่ ทำการประมงในระยะห่าง จากชายฝั่งทะเล 15 ไมล์

3. ขอให้เปลี่ยนการกำหนดโควต้าการจับสัตว์น้ำ จากจำนวนวัน (240 วัน) เป็น ปริมาณน้ำหนักที่แท้จริง เพราะการให้โควต้าเป็นจำนวนวันดังกล่าว เป็นการใช้ทรัพยากรที่ไม่ยั่งยืน ไม่เป็นธรรม กับชาวประมงพื้นบ้าน โดยเฉพาะในจำนวน 240 วัน เรือประมงขนาดใหญ่ ใช้เครื่องมือที่มีประสิทธิภาพสูง สามารถจับสัตว์น้ำได้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้ (ความไม่เป็นธรรม คือล่าสุด ปี 2562 กลุ่มประมงพาณิชย์จับสัตว์น้ำไปถึง 1.4 ล้านตัน แต่ชาวประมงพื้นบ้านจับได้แค่ 1.6 แสนตัน)

4. ขอให้สั่งการกรมประมง เปิดเผยข้อมูลสถิติการประมงไทยในรายละเอียด ปริมาณการจับสัตว์น้ำทะเลไทย จากข้อมูล Log Book เป็นต้น เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้เกี่ยวข้อง ได้ร่วมเสนอแนะ ต่อแผนการบริหารจัดการทรัพยากรสัตว์น้ำทะเลไทยอย่างเป็นระบบ และโปร่งใส

5. ขอให้ออกนโยบายห้ามส่งออกผลผลิตปลาป่น จากการประมงไปนอกประเทศ เนื่องจากปลาป่นสำหรับใช้เป็นอาหารสัตว์ ที่ผลิตในประเทศไทยนั้น มีปริมาณร้อยละ 18 ของปลาป่นทั้งหมด มีธุรกิจในประเทศ ยังส่งออกปลาป่นจากการประมง ซึ่งหมายถึง ปล่อยให้เกิดการนำลูกปลาเศรษฐกิจวัยอ่อน ในทะเลเป็นสินค้า ที่ทำลายประโยชน์ของประชาชน

6. ขอให้แก้ไขปรับปรุงกฎหมาย พระราชกำหนดการประมง พ.ศ.2558 และ แก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ.2560 บางส่วน โดยเพิ่ม หมวดว่าด้วย “การประมงพื้นบ้าน” นำข้อกำหนดเกี่ยวกับการประมงพื้นบ้านอยู่ในหมวดนี้ เพื่อเป็นหลักประกันการจัดการ ที่แตกต่างกับการประมงพาณิชย์ และให้ปรับปรุงแก้ไขกฎหมายประมง ส่วนที่กระทบกับวิถีชีวิตการประมงขนาดเล็ก ดังนี้

ประมง ๒๐๐๘๒๙ 0

a. นิยามการประมงพื้นบ้านในมาตรา ๕ ให้สอดคล้องกับข้อเท็จจริง โดยแก้จากเดิม ที่นิยาม “ประมงพื้นบ้าน” ว่าหมายถึง “การทำการประมงในเขตทะเลชายฝั่ง…” เป็น “…การทำการประมงทะเล…” เนื่องจากการประมงพื้นบ้านทำการประมงนอกเขตชายฝั่งด้วยเป็นปกติ หากกำหนดให้ทำเขตชายฝั่งอย่างเดียวจะเป็นการทำลายทรัพยากรมากขึ้น

b. แก้ไขมาตรา 26 ว่าด้วยองค์ประกอบและอำนาจหน้าที่ของ คณะกรรมการประมงประจำจังหวัด ที่มีความเกี่ยวโยงกับบทบัญญัติ มาตรา 25 มาตรา 26 และมาตรา 27 โดยควรกำหนดกลไกการสรรหาผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการประมงประจำจังหวัดที่ชัดเจน, ตัดองค์ประกอบ กรรมการโดยตำแหน่ง “นายอำเภอ” ออก เนื่องจากมีผู้ว่าราชการจังหวัด อยู่แล้ว

กำหนดให้มีการประชุมอย่างน้อยปีละ 4 ครั้ง, กำหนดเขตอำนาจของคณะกรรมการประมงประจำจังหวัดครอบคลุมอย่างน้อย 12 ไมล์ทะเล และกำหนดแผนงานที่ชัดเจนในการสนับสนุนผลักดันให้คณะกรรมการประมงประจำจังหวัด จัดทำแผนแม่บท การจัดการประมงระดับจังหวัด

c. ยกเลิกบทบัญญัติในมาตรา 34 ที่ห้ามมิให้ผู้ได้รับใบอนุญาตทำการประมงพื้นบ้านทำการประมงในเขตทะเลนอกชายฝั่ง

7. รัฐควรออกใบอนุญาตทำการประมงพื้นบ้าน ให้ชาวประมงขนาดเล็ก เนื่องจากตั้งแต่มีกฎหมายฉบับใหม่ ชาวประมงพื้นบ้านเรือต่ำกว่า 10 ตันกรอส ยังไม่เคยได้รับใบอนุญาตทำการประมงพื้นบ้านเลย และหากออกใบอนุญาต ก็จะต้องห้ามทำการประมงนอกเขตชายฝั่ง รวมทั้งควรแยกระบบ และวิธีการออกใบอนุญาตแตกต่างจากการประมงพาณิชย์

8. เร่งจดทะเบียนเรือประมงพื้นบ้าน โดยใช้ระบบการจดทะเบียนเรือประมงสำหรับชาวประมงพื้นบ้านขนาดเล็กเป็นการเฉพาะ แยกออกจากระบบที่ดำเนินการกับเรือประมงพาณิชย์ โดยจัดให้มีระเบียบข้อกำหนดการจดทะเบียนเรือ และขออนุญาตสำหรับเรือประมงพื้นบ้าน เนื่องจากวัตถุประสงค์การใช้เรือ ลักษณะของเรือ การใช้งานเครื่องยนต์ และเครื่องมือประมงที่แตกต่างจากเรือประมงพาณิชย์

(ความไม่เป็นธรรม คือ ผู้ประกอบการประมงพาณิชย์สามารถจดทะเบียนได้ไม่จำกัดจำนวน แต่ ผู้ประกอบการรายย่อย ถูกจำกัดให้จดทะเบียนเรือประมงขนาดเล็กได้ครอบครัวละ 1 ลำ)

9. ให้จัดตั้งกองทุนประมงพื้นบ้าน และ/หรือ สนับสนุนงบประมาณ การพัฒนาการประมงพื้นบ้านแบบครบวงจร โดยสนับสนุนกองทุนประมงพื้นบ้านลงถึงแต่ละจังหวัด โดยเน้นส่งเสริมตามระดับกิจกรรม ทั้งในด้านต้นทุนการประมง การอนุรักษ์ทรัพยากร, ช่วยเหลือยามเกิดภัยพิบัติและกรณีเครื่องมือเสียหาย หรือเครื่องมือหายโดยไม่ทราบสาเหตุ

ส่งเสริมนวัตกรรมด้านการตลาด หรือโปรโมทมาตรฐานสัตว์น้ำคุณภาพ เพื่อให้ผู้บริโภคเกิดความมั่นใจในการเลือกซื้อสินค้า (ความไม่เป็นธรรม คือ รัฐบาลเตรียมใช้งบประมาณแผ่นดินรับซื้อเรือประมงพาณิชย์ หมื่นล้านบาท แต่ มีงบอุดหนุนชุมชนประมงพื้นบ้านทั่วประเทศ ปีละ 16 ล้าน)

10. ขอให้รัฐบาลอนุญาตให้ทำการประมงพื้นบ้าน ในพื้นที่อุทยานแห่งชาติทางทะเลได้ เนื่องจาก ปัจจุบันทุกพื้นที่ทะเลที่ถูกกำหนดเป็นเขตอุทยานแห่งชาติ (ฝั่งอันดามันตลอดแนว) เป็นที่ทำการประมงของชาวประมงพื้นบ้านโดยปกติ แต่ข้อกำหนดอุทยานแห่งชาติ ห้ามเก็บหาประโยชน์ทุกชนิด แม้มีกฎหมายอุทยานแห่งชาติฉบับใหม่ กรมอุทยานก็ยังไม่มีการดำเนินการยกเว้นให้

11. ขอให้รัฐบาลทบทวน แหล่งทำการเพาะเลี้ยงในทะเลใหม่ทั้งระบบ โดยการเพาะเลี้ยงชายฝั่งในหลายพื้นที่เป็นแนวทางหนึ่งที่สามารถสร้างรายได้ให้กับชาวประมง แต่มีปัญหาทางด้านกระบวนการ ทำให้ชุมชนเข้าไม่ถึงการอนุญาตตามกฎหมาย พื้นที่เพาะเลี้ยงทางทะเลตกในมือของนายทุน ไม่มีการวางแผนการจัดการพื้นที่ และควรกำหนดพื้นที่เพาะเลี้ยงอย่างมีขอบเขตที่ชัดเจนสำหรับประชาชนในชุมชนอย่างแท้จริง โดยคำนึงถึงสภาพพื้นที่ที่เหมาะสม

12. ขอให้รัฐบาลสนับสนุน ผลผลิตสัตว์น้ำคุณภาพ และระบบรับรองมาตรฐานสัตว์น้ำหลังการจับของชาวประมงพื้นบ้าน โดยควรมีหลักการ 4 ประการ คือ ผู้ผลิตมีความรับผิดชอบทางสังคม เช่น เข้าร่วมหรือสนับสนุนกิจกรรมในการจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งอย่างต่อเนื่อง , ไม่ละเมิดหลักการขั้นพื้นฐานว่าด้วยสิทธิมนุษยชน และแสดงให้เห็นถึงระบบการจัดการที่มีความเป็นธรรมและชัดเจน

การใช้วิธีการและเครื่องมือที่คำนึงถึงความยั่งยืนของระบบนิเวศ และทำให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อยที่สุด ไม่ใช้วิธีการและเครื่องมือทำประมงแบบทำลายล้างไม่ผิดกฎหมายหรือละเมิดกติกาชุมชน และ สัตว์น้ำผลผลิตมีคุณภาพและปลอดภัยต่อผู้บริโภคไม่มีการใช้สารเคมีอันตรายทุกชนิด สัตว์น้ำสามารถตรวจสอบแหล่งที่มาของสัตว์น้ำได้

13. ขอให้รัฐบาลจัดตั้ง “โรงเรียนชาวประมงยั่งยืน” เพื่อตอบสนองการประมงสมัยใหม่ นำความรู้ทางวิทยาศาสตร์ ผสมผสานให้สอดคล้องและสามารถอธิบาย ภูมิปัญญา หลักความเชื่อชุมชน ได้อย่างมีเหตุผล ถ่ายทอดความรู้ภูมิปัญญา อย่างมีหลักวิชาการ มีสถาบันรองรับ สามารถเป็นวิชาชีพหรือหลักสูตรหนึ่งในสังคมไทย

ทัั้งนี้ ให้ผู้นำชาวประมงตัวอย่างเป็นผู้มีส่วนร่วมควบคุมบริหารจัดการ ให้สถานที่ดังกล่าวเป็นที่เผยแพร่ความรู้การทำประมงพื้นบ้าน หรือประมงพาณิชย์ที่รับผิดชอบ หลักสูตร อาจประกอบด้วย หลักการทำประมงรับผิดชอบ ภูมิอากาศ ภูมิประเทศ กระแสน้ำ กระแสลม ทักษะการจับปลา ฤดูกาลในการทำประมง การต่อเรือประมง ความปลอดภัยกฎหมายและนโยบายการประมง เป็นต้น และมีการรับรองเมื่อจบหลักสูตร

14. รัฐบาลต้องยืนยันการบังคับใช้กฎหมายเพื่อการจัดการทรัพยากรประมงอย่างยั่งยืน และรับผิดชอบต่อไป ไม่ควรผ่อนผันเกี่ยวกับการตรวจสอบแหล่งที่มาของผลผลิต เพราะจะเป็นช่องว่างทำให้ปัญหาการประมงแบบทำลายล้างไม่สามารถการควบคุม เกิดเรือประมงสวมทะเบียน, ละเมิดสิทธิแรงงาน และการค้ามนุษย์ กลับมาอีกในประเทศไทย

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo