Lifestyle

รวมไว้ที่นี่! บริการช่วยเหลือผู้สูงอายุ กทม. พร้อมแนะ 9 เคล็ดลับสร้างสุข

บริการช่วยเหลือผู้สูงอายุ “พงศกร ขวัญเมือง” แนะนำให้ผู้สูงวัย กทม.เรียกใช้บริการ พร้อมชวนสร้างสุขด้วย 10 วิธีการปรับตัว รับวัยที่เปลี่ยนแปลงไป

ร้อยตำรวจเอก พงศกร ขวัญเมือง โฆษกกรุงเทพมหานคร โพสต์เพจเฟซบุ๊ก “เอิร์ธ พงศกร ขวัญเมือง – Earth Pongsakorn Kwanmuang” ชวนผู้สูงวัยในกรุงเทพมหานครใช้ บริการช่วยเหลือผู้สูงอายุ พร้อม 9 เคล็ดลับสร้างสุข โดยระบุว่า

บริการช่วยเหลือผู้สูงอายุ

“วัยเก๋าอย่างเราปรับตัวอย่างไรให้มีความสุข

9 วิธีง่ายๆ เพื่อปรับตัวให้ #มีความสุข และ #บริการดีดีที่มีสำหรับผู้สูงอายุ มีอะไรบ้างไปชมครับ
.
แก่แล้วแก่เลย แก่แล้วไร้ค่า…จริงหรือ??? ผมก็เหมือนทุกคนที่มีพ่อแม่ ปูย่า ตายาย ซึ่งท่านแก่เฒ่าขึ้นทุกวันครับ

“แก่” พูดเบาๆ ก็เจ็บ ทุกคนหนีไม่พ้นแน่นอนครับ ร่างกายที่เคยแข็งแรง ก็ร่วงโรยไปตามกาลเวลา อะไรที่เคยตึง ก็หย่อนหยานไปตามแรงโน้มถ่วงของโลก ตึงอย่างเดียวและตึงขึ้นเรื่อย ๆ ก็หูนี้แหละครับ คุยกันทีไรเหมือนทะเลาะกันทุกที ตาที่เคยเห็นชัดก็เริ่มฝ้าฟาง กำลังแรงที่เคยมีมากก็เริ่มถดถอย เดินเหินก็ไม่สะดวกเหมือนก่อน เดินไปต้องพักไป ไกลมากต้องใช้ไม้เท้าช่วยพยุง

สิ่งเหล่านี้ทุกคนหลีกเลี่ยงไม่ได้ แต่อย่างไรก็ตาม แม้ร่างกายของคนที่เรารัก จะห้ามให้ไม่แก่ไม่ได้ แต่เราเลือกที่จะดูแลท่านให้ดีที่สุดได้ เพราะท่านคือ คนที่รักเรามากที่สุด และเราก็รักท่านมากที่สุด

พงศกร ขวัญเมือง
พงศกร ขวัญเมือง

9 วิธีง่าย ๆ เพื่อปรับตัวให้มีความสุข สำหรับผู้สูงอายุครับ

1. เตรียมพร้อมทุกด้านล่วงหน้าแต่เนิ่นๆ

2. ควรคิดเรื่องต่างๆ ด้วยความยืดหยุ่นเพื่อลดความขัดแย้ง พยายามเข้าใจลูกหลานเด็กสมัยใหม่

3. ทำใจได้ว่าการเกิด แก่ เจ็บ ตาย เป็นเรื่องธรรมดา

4. มองชีวิตตนเองในทางที่ดี ภาคภูมิใจที่สามารถเป็นที่พึ่งพิงแก่ผู้อ่อนวัย

5. เมื่อมีความกังวลต่างๆ ควรศึกษาพูดคุยกับคุณใกล้ชิด ก็ได้ระบายความรู้สึก

6. พยายามหากิจกรรมฝึกงานอดิเรกที่ทำแล้วรู้สึกเพลิดเพลิน และมีคุณค่าทางจิตใจ

7. เข้าสังคมพบปะสังสรรค์กับผู้อื่น เพื่อพูดคุยกันปรับทุกข์

8. ยึดศาสนาเป็นที่พึ่งทางใจ

9. หมั่นทำจิตใจให้เบิกบานอยู่เสมอ ไม่เครียด ไม่จู้จี้ หรือหงุดหงิดง่าย

คนแก่เที่ยว ๒๐๐๘๒๙

กทม. มีผู้สูงอายุ 1,063,871 คน คิดเป็นร้อยละ 19.46 ของคน กทม. ที่มีชื่อตามทะเบียน ทั้งหมดนี่ยังไม่นับรวมผู้สูงอายุ ที่เป็นประชากรแฝง ซึ่งคาดว่าจะมีมากกว่าหลายเท่าครับ

ทุกคนให้ความสำคัญกับพ่อแม่และคนที่คุณรัก ก็เหมือนกับ กทม. ที่ให้ความสำคัญกับคนทุกช่วงวัย โดยเฉพาะผู้สูงอายุ

กทม. มีหลายบริการดีๆ ที่ช่วยเหลือผู้สูงอายุ หากใครไม่รู้ไปดูกันเลยครับ

  • ศูนย์เอราวัณ กทม.

ให้บริการการแพทย์ฉุกเฉินผู้สูงอายุป่วยหรือได้รับอุบัติเหตุฉุกเฉินสามารถ โทร 1669 ตลอด 24 ชั่วโมง เราพร้อมให้บริการปฐมพยาบาลเบื้องต้นและนำส่งโรงพยาบาล #ฟรี

  • โรงเรียนฝึกอาชีพ / #ศูนย์ฝึกอาชีพ กทม.

ผู้สูงอายุที่เกษียณฯ หรือผู้ว่างงาน ร่วมถึงผู้สนใจสามารถเข้าเรียนฝึกอาชีพเพื่อสร้างรายได้หรือหากิจกรรมทำยามว่างได้ที่โรงเรียนฝึกอาชีพ ทั้ง 26 แห่ง กระจายทั่ว กทม. มีอาชีพให้เลือกเรียนได้หลากหลายตามความต้องการ

  • ศูนย์สร้างสุขทุกวัย กทม.

ผู้สูงอายุที่หากิจกรรมนันทนาการทำเพื่อแก้เหงาหรืออยากจะพบปะเพื่อนในวัยเดียวกันร่วมทำกิจกรรม เช่น รำวง ร้องคาราโอเกะ เต้นลีลาส ออกกำลังกายเบาๆ หรือจะพูดคุยกันในมุมลายครามที่มีศูนย์ฯ กระจายทั่ว กทม. ก็เชิญได้เลยครับ

  • โทร. นัด BFC พบแพทย์ใน 60 นาที

ผู้สูงอายุและคนทั่วไปสามารถโทรนัดเข้ารับการรักษาได้เพื่อลดเวลารอคอยหมอ และสามารถขอใช้บริการส่งยาทางไปรษณีย์และรับยาได้ที่ร้านยาใกล้บ้านได้ด้วยนะครับ เพื่อลดการมาโรงพยาบาล สามารถติดต่อสอบถามขอใช้บริการได้ที่โรงพยาลในสังกัด กทม.

  • บริการเจาะเลือดที่ถึงบ้าน

เป็นโครงการล่าสุด ซึ่งอยู่ระหว่างเฟสแรก ซึ่งให้บริการผู้สูงอายุ/ผู้ป่วยติดเตียงที่มีความประสงค์ให้ไปเจาะเลือดที่บ้านเพื่อลดการเดินทางมาโรงพยาบาล และลดเวลารอคอย ช่วงนี้ให้บริการที่โรงพยาบาลราชพิพัฒน์ และจะขยายให้ครอบคลุมทุกโรงพยาบาลในสังกัด กทม.

บริการช่วยเหลือผู้สูงอายุ

  • เงินสนับสนุนสำหรับผู้สูงอายุ

1. เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ ที่สนับสนุนให้ผู้สูงอายุทุกคน 60 ปีขึ้นไป 600 บาท 70 ปีขึ้นไป 700 บาท 80 ปีขึ้นไป 800 บาท และตั้งแต่ 90 ปีขึ้นไป 1,000 บาท

2. ค่าใช้จ่าย ที่เกี่ยวเนื่องใน #การรักษาพยาบาล เช่น ค่ารถ ค่าอาหาร ครั้งละไม่เกิน 1,000 บาท ไม่เกิน 3 ครั้งต่อปีงบประมาณ อันนี้ไม่ใช่ผู้สูงอายุก็เบิกได้นะครับ พิจารณาตามความเป็นจริงและต้องเดือดร้อน ยากจนและหรือไร้ที่พึ่ง

3. ทุนประกอบอาชีพ เบิกจ่ายตามจริงไม่เกินครอบครัวละ 5,000 บาท/ปี อันนี้ไม่ใช่ผู้สูงอายุก็เบิกได้ตามจริงและต้องเป็นครอบครัวที่ประสบปัญหาความเดือดร้อนยากจนเพราะเหตุหัวหน้าครอบครัวหรือผู้หาเลี้ยงครอบครัวตาย ป่วย พิการ จำคุก

4. ค่าสงเคราะห์ในการจัดการศพ ตามประเพณี 3,000 บาท ของผู้สูงอายุซึ่งต้องมีคุณสมบัติตามเกณฑ์บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ

รายละเอียดการเบิกเงินสนับสนุนต่างๆ สามารถติดต่อสอบถามได้ทั้ง 50 สำนักงานเขตครับ

สุดท้ายครับ การรักษาสุขภาพกายและจิตใจของผู้สูงอายุ เป็นสิ่งสำคัญ

กทม. มีหลายๆ บริการที่ส่งเสริม และสนับสนุน เรื่องของสุขภาพร่างกายและจิตใจ ของผู้สูงอายุควบคู่กัน

แต่ผมเชื่อว่า สิ่งที่สำคัญที่สุดที่ ทำให้ท่านมีสุขภาพกายและจิตใจที่แข็งแรง อยู่กับเราไปนานๆ ก็คือ ครอบครัว

ไม่มียาใด หรือหมอไหนที่ดีเท่ากับลูกๆ หลานๆ ที่รักและเอาใจใส่ท่านนะครับ

#ส่งเสริมสถาบันครอบครัว #รักและเอาใจใส่ผู้สูงอายุ

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo