Business

พาณิชย์จี้เอกชน ปรับตัวรับ การค้าหลังโควิด – New Normal

การค้าหลังโควิด ยุค New Normal พาณิชย์ เร่งผู้ประกอบการปรับตัวด่วน ชี้ โควิด-19 จะทำให้รัฐบาลทั่วโลก เข้าแทรกแซงระบบเศรษฐกิจมากขึ้น

นายวีรศักดิ์ หวังศุภกิจโกศล รัฐมนตรีช่วยว่าการ กระทรวงพาณิชย์ กล่าวในงานสัมมนา “ทิศทางและแนวโน้มตลาดเมียนมา…จากเหตุการณ์ โควิด-19” ซึ่งจัดโดยสภาธุรกิจไทย-เมียนมา ว่า ภาคเอกชน ผู้ประกอบการ รวมถึงประชาชนจะต้องเร่งปรับตัว รับมือ การค้าหลังโควิด และ NEW NORMAL เพื่อความอยู่รอดในระยะยาว

การค้าหลังโควิด

ทั้งนี้ ทุกภาคส่วนจำเป็นต้องร่วมมือกัน เพื่อปรับตัวเพื่อก้าวผ่านวิกฤติโควิด-19 ในครั้งนี้ ด้วยการทำความเข้าใจ สถานการณ์ที่เปลี่ยนไปนี้ อย่างลึกซึ้ง และร่วมมือปรับตัวไปด้วยกัน กล่าวคือ มีความเป็นไปได้ที่ การเดินทางระหว่างประเทศ ของผู้คนทั่วโลก จะไม่กลับมาเหมือนเดิมอีกต่อไป

ข้อจำกัดดังกล่าว อาจก่อให้เกิด กระแสความนิยมการบริโภคอุปโภคสินค้า และบริการท้องถิ่น ส่งผลให้ผู้ประกอบการ ต้องปรับตัวหาแหล่งวัตถุดิบ หรือฐานการผลิต ให้มีระยะทางที่ใกล้กับผู้บริโภคมากที่สุด เพื่อสร้างความเข้มแข็งทางการค้า

สำหรับปัจจัยสำคัญ ที่ธุรกิจจำเป็นต้องมีคือ “ภูมิคุ้มกันต่อปัจจัยเสี่ยง” หรือความสามารถที่จะยืดหยุ่น เรียนรู้ และปรับตัวต่อความเสี่ยงต่างๆ ที่เกิดขึ้นได้ และที่สำคัญที่สุดคือ จะต้องทำได้ดีกว่า เหนือกว่าคู่แข่ง เพื่อความอยู่รอดในระยะยาว และในอนาคต ธุรกิจจำเป็นที่จะต้องหันมาให้ความสำคัญกับการรักษาสิ่งแวดล้อม สร้างผลกระทบที่ดีต่อสังคม และมีการบริหารจัดการที่โปร่งใสเป็นธรรม

ดังนั้น บริษัทจึงจำเป็นต้อง จัดลำดับความสำคัญ เชิงกลยุทธ์ใหม่ เพราะการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 นับเป็นจุดเปลี่ยนครั้งใหม่ของโลก ในการเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจไร้การสัมผัส โดยเฉพาะอย่างยิ่งใน 3 ด้าน ได้แก่ การค้าออนไลน์ การแพทย์ออนไลน์ และระบบอัตโนมัติต่าง ๆ

วีรศักดิ์ หวังศุภกิจโกศล
วีรศักดิ์ หวังศุภกิจโกศล

ขณะที่แนวโน้มรูปแบบธุรกิจในอนาคต คือ การลดการติดต่อสัมผัสระหว่างผู้คนให้น้อยที่สุด โดยแทนที่ด้วยระบบอัตโนมัติ ความโปร่งใสและตรวจสอบได้ ในเรื่องความสะอาด สุขอนามัยของสินค้าสำคัญมาก ทั้งผู้ประกอบการและผู้บริโภคจะใช้ระบบเทคโนโลยีเป็นหลัก เพื่อลดการติดต่อสัมผัสทางกายภาพ อาทิ การขาย ไลฟ์-สตรีมมิ่ง การชำระเงินแบบไม่ใช้เงินสด ไม่ใช้การรูดบัตร ไม่ต้องมีการสัมผัสสิ่งของร่วมกัน ฯลฯ

นอกจากนี้ การแพร่ระบาดครั้งนี้ ส่งผลให้เกิดการแทรกแซงทางเศรษฐกิจ ในระดับที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน เห็นได้จากการที่ รัฐบาลทั่วโลก ได้เร่งประกาศแผนกระตุ้นเศรษฐกิจกว่า 10 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ ซึ่งแผนดังกล่าว ส่วนใหญ่จะเน้นการดำเนินการใน 3 ด้าน ได้แก่ การช่วยเหลือประชาชน ในความต้องการขั้นพื้นฐาน การจ้างงาน และการช่วยเหลือธุรกิจประเภทต่าง ๆ ให้อยู่รอด

ในส่วนของ ผู้นำธุรกิจ จะต้องปรับตัวสู่วิถีปกติใหม่ ที่มาพร้อมกับการแทรกแซง จากภาครัฐที่มากขึ้น เมื่อสถานการณ์กลับเข้าสู่ภาวะปกติ และภาครัฐตัดสินใจจะเริ่มผ่อนคลายมาตรการต่าง ๆ ลง จึงจำเป็นอย่างยิ่ง ที่ภาคธุรกิจจะต้องติดตามการปรับเปลี่ยนดังกล่าว อย่างใกล้ชิด เพื่อเตรียมความพร้อมต่อสถานการณ์ที่เปลี่ยนไป

อย่างไรก็ตาม เมื่อภาครัฐได้นำภาษีจากประชาชนจำนวนมาก ไปใช้แก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ ความท้าทายที่เกิดขึ้นในยุคนิวนอร์มัล คือ จะทำให้การตรวจสอบรูปแบบต่าง ๆ จะต้องยกระดับความเข้มงวดให้มากขึ้น อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ และภาคธุรกิจจำเป็นจะต้อง ก้าวเข้ามามีบทบาทมากขึ้น เช่นเดียวกับภาครัฐ ในการรับผิดชอบช่วยเหลือสังคม ให้ปรับตัวเข้าสู่นิวนอร์มัลในระยะยาวด้วย

การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 จะก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในหลายด้าน สำหรับในบริบทประเทศไทย นายวีรศักดิ์ เห็นว่าจุดแข็งของเศรษฐกิจไทยเพื่อก้าวต่อไปในยุคนิวนอร์มัล ได้แก่

  • เป็นศูนย์กลางด้านการบริการสุขภาพ และการให้บริการด้านสุขภาพอย่างรอบด้านและครบวงจร
  • ด้านการผลิตสื่อสร้างสรรค์ (Creative Content) และการขายอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ (Creative Industry) ผ่านช่องทางพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์
  • สินค้าอาหาร และเกษตรแปรรูปจากชุมชน มีความปลอดภัย ได้มาตรฐาน
  • อุตสาหกรรมการให้บริการรูปแบบต่างๆ ผ่านช่องทางดิจิทัล การค้าออนไลน์
  • อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวท้องถิ่น เน้นสนุก สะอาด ได้ประสบการณ์วัฒนธรรมชุมชน เป็นต้น

“ในทุกวิกฤติยังมีโอกาสอยู่เสมอ หากผู้ประกอบการเข้าใจสภาพแวดล้อมการทำธุรกิจ ที่เปลี่ยนแปลงไป และสามารถปรับกลยุทธ์ ให้สอดคล้องกัน ก็จะสามารถประคองธุรกิจให้ผ่านพ้น และยังมีโอกาสจะเติบโตได้ ท่ามกลางวิกฤติอย่างชัดเจน”นายวีรศักดิ์ กล่าว

อ่านข่าวเพิ่มเติม

 

Avatar photo