Digital Economy

เปิดกลยุทธ์โนเกีย โต 700% ด้วย ‘เพียวแอนดรอยด์’

43036d2b9da4824912292d09276b21d4
ภาพจากเอเอฟพี

สำหรับหลายคนที่มีอายุเกิน 30 ปีขึ้นไป เชื่อว่าต้องเคยคุ้นกับแบรนด์ “โนเกีย” กันมาบ้างไม่มากก็น้อย โดยแบรนด์โนเกียในใจของใครหลายคนนั้น เคยประสบปัญหาถึงขั้นต้องขายธุรกิจโทรศัพท์มือถือไปอยู่ในมือบริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่อย่างไมโครซอฟท์ และเปลี่ยนสถานะจากโทรศัพท์มือถือซิมเบียนไปสู่ “วินโดวส์โฟน” กันอยู่พักหนึ่ง แต่ตอนนี้ อาจเรียกได้ว่า แบรนด์โนเกียได้กลับมาอยู่ในมือของอดีตลูกหม้ออีกครั้ง ในชื่อบริษัท “เอชเอ็มดี โกลบอล” (HMD Global) ซึ่งเป็นการรวมตัวกันของทีมวิศวกร – ผู้บริหารเดิมสมัยยังอยู่ภายใต้ชื่อโนเกีย เพื่อต้องการจะบอกว่าพวกเขากำลังพลิกฟื้นแบรนด์โนเกียขึ้นมาใหม่ในฐานะ “สมาร์ทโฟนเพียวแอนดรอยด์”

ผู้ที่จะมาบอกเล่าเรื่องราวของโนเกียหลังจากนี้ให้เราฟังคือ “ธนเดช ช่วงแก้ววิเศษ” ผู้อำนวยการฝ่ายการตลาด บริษัท เอชเอ็มดี โกลบอล (HMD Global) ประเทศไทย โดยธนเดชบอกว่า ฐานะของเอชเอ็มดี โกลบอล คือสตาร์ทอัพน้องใหม่ ที่เปิดตัวมาเพียงปีกว่า ๆ เท่านั้น แต่ก็เป็นสตาร์ทอัพที่เปิดตัวโปรดักซ์ไปแล้วกว่า 80 ประเทศ 100 ตลาดทั่วโลก และในปีที่ผ่านมา สามารถทำรายได้มากถึง 2.3 พันล้านดอลลาร์ (ได้เงินจากการระดมทุนอีก 1 ร้อยล้านดอลลาร์) ซึ่งธนเดชบอกว่า เอชเอ็มดี โกลบอลในตอนนี้ถือว่าได้สถานะยูนิคอร์นไปแล้วนั่นเอง

“เราโต 700% ในปีที่แล้ว ถือว่าฟีดแบ็กดีทั้งในระดับโลกและระดับภูมิภาค โดยในตอนนี้ ภูมิภาคที่เราโฟกัสคือ อินเดีย จีน อเมริกา และ APAC และตลาดไทยก็เป็นอีกหนึ่งตลาดที่เอชเอ็มดี โกลบอลให้ความสำคัญ”

01ธนเดช ช่วงแก้ววิเศษ ผอ.ฝ่ายการตลาด HMD
นายธนเดช ช่วงแก้ววิเศษ

การโตในระดับนี้ ธนเดชเผยว่า มาจากโมเดลธุรกิจของเอชเอ็มดี โกลบอลอย่างการเป็น บิสซิเนส พาร์ทเนอร์ชิป โดยเริ่มแรกพาร์ทเนอร์กับโนเกีย (เดิม) ที่ปัจจุบันถือลิขสิทธิ์โลโก้ เพื่อนำโลโก้มาใช้ จากนั้นก็ไปพาร์ทเนอร์กับกูเกิล เพื่อใช้ระบบปฏบัติการแอนดรอยด์วัน และพาร์ทเนอร์กับฟ็อกซ์คอนน์ บริษัทผู้ผลิตสมาร์ทโฟนยักษ์ใหญ่

กลุ่มเป้าหมายในไทยของโนเกีย

กลุ่มเป้าหมายของโนเกียตามการเปิดเผยของธนเดชไม่ต่างจากแบรนด์อื่น ๆ โดยธนเดชเผยว่า พฤติกรรมผู้บริโภคกลุ่มเป้าหมายในไทยยังเป็นกลุ่ม Tech Savy อยู่ มีการใช้เทคโนโลยีต่าง ๆ สูง รวมถึงการเล่นโซเชียลมีเดีย การถ่ายภาพเซลฟี่ แต่กลุ่มที่เอชเอ็มดี โกลบอลต้องการเจาะก็คือกลุ่มมิลเลนเนียล ซึ่งหากมองในตลาดแล้ว พบว่ามีช่องว่างข้อหนึ่ง นั่นคือการขาดสมาร์ทโฟน “เพียวแอนดรอยด์” และโนเกียก็เข้ามาเติมเต็มในจุดนี้

“เส้นทางของโนเกีย จากที่เราเคยเป็นฟีเจอรโฟน ต่อมาเป็นซิมเบียน แล้วก็กลายเป็นวินโดวส์โฟน จนถึงตอนนี้เป็นแอนดรอยด์ แต่เราเป็นมากกว่านั้นด้วยการพาร์ทเนอร์กับกูเกิลเข้าโครงการแอนดรอยด์วัน ซึ่งแอนดรอยด์วันก็คือ การเป็นผู้ผลิตที่ได้รับการรับรองจากูเกิลว่าเป็นเครื่องที่ดีที่สุดที่จะรันระบบปฏิบัติการแอนดรอยด์ เราจะไม่มีการทำ UI, UX เพิ่มลงไป จนเครื่องหน่วงเหมือนบางแบรนด์ และการเป็นแอนดรอยด์วันจะมีการอัปเดตซีเคียวริตี้ทุกเดือน ในขณะที่บางแบรนด์ไม่มีอัปเดตในจุดนี้ให้”

เมื่อตัวเครื่อง – เทคโนโลยี และแบรนด์นิ่ง สิ่งที่โนเกียทำตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2560 จึงเป็นการลุยเปิดตัวสมาร์ทโฟนอย่างต่อเนื่อง นับจนถึงตอนนี้ก็มีทั้งสิ้น 10 โมเดลแล้ว ที่เปิดตัวในประเทศไทย

“กล้องกับมือถือยังเป็นอะไรที่ตอบโจทย์ เราเลยใช้เลนส์ ไซส์ (Zeiss) และยังมีการพัฒนาโบตี้ ซึ่งเป็นเทคนิคการถ่ายภาพหน้าหลังได้พร้อมกันโดยแยกเป็นสองจอ ซึ่งโนเกียทำได้เจ้าเดียวในตลาดเวลานี้”

20180829 151907
นายธนเดช ช่วงแก้ววิเศษ ขณะสาธิตการใช้งานของสมาร์ทโฟนรุ่นกล้วยของโนเกีย

“เราพยายามจะทำโปรดักซ์เข้าไปตอบโจทย์ทุกเซกเมนต์ ตั้งแต่รุ่น Entry ราคา 2 -3,000 กว่าบาทไปนถึงระดับหลายหมื่นบาท อย่างเมืองไทย เราลอนช์มา 10 โมเดล มีตั้งแต่รุ่นโนเกีย 1 (สมาร์ทโฟนระดับ Entry) Nokia 2.0 ที่อยู่ได้สองวันไม่ต้องชาร์จ แล้วก็ยังมีโนเกีย 3, 5, 6, 7 และ 8 รวมถึงรุ่นที่ตามหลังด้วยคำว่า Plus นอกจากนั้นก็มีอีกเซกเมนต์หนึ่งคือฟีเจอร์โฟน เช่นรุ่นกล้วย หรือ 3310 และเราได้ทำวิจัยพบว่า แบรนด์โนเกียยังคงติด 1 ใน 5 ที่ผู้บริโภครับและจดจำได้ในฟากของสมาร์ทโฟนแอนดรอยด์ ซึ่งถือเป็นข่าวดี”

ที่สำคัญคือการอัปเดตระบบปฏิบัติการเวอร์ชันใหม่ที่จะเกิดขึ้นทุก ๆ ปีของทางฟากกูเกิล (กำลังจะเปิดตัวแอนดรอยด์พายในเร็ว ๆ นี้) การเป็นสมาร์ทโฟนในโครงการแอนดรอยด์วันจึงเป็นการยืนยันว่า สมาร์ทโฟนเครื่องนั้นจะตามไปใช้ระบบปฏิบัติการใหม่ด้วย ไม่ต้องรอนานนับเดือน โดยธนเดชบอกว่า สมาร์ทโฟนของโนเกียที่เปิดตัวมา 10 รุ่นนั้น ทุกรุ่นจะได้รับอัปเดตไปใช้แอนดรอยด์พายทั้งหมด

โนเกีย 3310 3G (ภาพจากเอเอฟพี)

 

ความพยายามของโนเกียในวันนี้คือการเป็นน้ำซึมบ่อทราย ที่จะเริ่มเข้าไปชิงส่วนแบ่งตลาดในแต่ละเซกเมนต์ ซึ่งธนเดชเผยว่า ช่องว่างที่สามารถเข้าไปเล่นได้นั้น อยู่ในช่วงราคา 6,000 – 10,000 บาทต้น ๆ รวมถึงการโตในฝั่งออนไลน์เพิ่มเติม โดยในตอนนี้ มีการเปิดช้อปบนแพลตฟอร์มเช่น ช้อปปี้ แล้ว ส่วน JD.com และลาซาด้านั้นก็กำลังศึกษา โดยเป็นในลักษณะของการทำไปเรื่อย ๆ เพื่อมอนิเตอร์ทราฟฟิกของแต่ละช่องทาง

“ตอนนี้ยอดขายยังมาจากออฟไลน์ 98% คือลูกค้าตอนนี้ยังต้องการสัมผัสสินค้าก่อนจะตัดสินใจซื้อ ส่วนทางออนไลน์เราเพิ่งเริ่ม และต้องติดตามดูว่าตลาดมันจะชิฟท์ไปทางไหน ซึ่งเราจะพยายามชิงส่วนแบ่งตลาดไปเรื่อย ๆ ขอให้รอดูและเป็นกำลังใจให้ในการกลับมาครั้งนี้”

Avatar photo