Properties

ส่องต้นทุนก่อสร้างบ้านปรับน้อยแต่ราคาปรับมาก 

1423045304 photo o

ราคาบ้านและคอนโดปรับตัวเพิ่มขึ้นตลอดเวลา ราคาบ้านที่เปิดตัวเมื่อปีที่แล้ว พอมาขายในปีนี้ราคาปรับขึ้นไม่น้อยกว่า 5-10% มาดูกันว่าปัจจัยใดบ้างที่เป็นตัวแปรทำให้ราคาบ้านปรับตัวสูงขึ้น แน่นอนที่สุดความคึกคักของทำเลที่มีทราฟฟิกส์เพิ่มขึ้น ความต้องการของตลาดที่มีต่อเนื่อง และราคาที่ดินซึ่งปรับตัวสูงขึ้น เป็นตัวแปรสำคัญที่ทำให้ราคาสูงขึ้น

ในขณะที่ต้นทุนค่าก่อสร้างที่เพิ่มขึ้นกลับมีเป็นส่วนน้อย หากดูจากค่ามาตรฐานที่เก็บมาจากการก่อสร้างต่างๆ โดยข้อมูลล่าสุดจากศูนย์ข้อมูลอสังหริมทรัพย์ (REIC) ธนาคารอาคารสงเคราะห์ ที่ได้ร่วมกับ สมาคมธุรกิจรับสร้างบ้าน ได้ทำดัชนีราคาค่าก่อสร้างบ้านมาตรฐานในเขตกรุงเทพฯ ซึ่งจัดทำเป็นประจำทุกไตรมาส โดยใช้ราคาเมื่อปี 2553 เป็นปีฐาน

ดัชนีราคาค่าก่อสร้างบ้าน ไตรมาส 2/2561 นี้ ใช้แบบบ้าน “ครอบครัวไทยเป็นสุข 5” ของกรมโยธาธิการและผังเมือง เป็นตัวแบบในการคำนวณราคาค่าก่อสร้าง ซึ่งแบบดังกล่าว เป็นบ้าน 2 ชั้น พื้นที่ใช้สอย 169 ตารางเมตร  ได้ใช้สมมติฐานระยะเวลาการก่อสร้างบ้านประมาณ 180 วัน

โดยราคาค่าก่อสร้างบ้าน จะนับรวมค่าดำเนินการและภาษีมูลค่าเพิ่มแล้ว แต่ไม่นับรวมราคาที่ดินและค่าใช้จ่ายในการพัฒนาที่ดิน เช่น ค่าใช้จ่ายในการถมดินและปรับหน้าดีน

House11

หมวดงานออกแบบก่อสร้างและงานระบบ ที่นำมาใช้คำนวณดัชนี ได้แก่ งานวิศวรรมโครงสร้าง งานสถาปัตยกรรม งานระบบสุขาภิบาล งานระบบไฟฟ้า และระบบสื่อสาร และงานอื่นๆ ส่วนหมวดวัสดุก่อสร้าง จะใช้ช้อมูลราคาขายส่งวัสดุก่อสร้าง ของกระทรวงพาณิชย์ และหมวดแรงงาน จะใช้ข้อมูลค่าแรงขั้นต่ำ ของกระทรวงแรงงานในการจัดทำดัชนี

ดัชนีราคาค่าก่อสร้างบ้านมาตรฐานในเขตกรุงเทพฯ นี้ จัดทำขึ้นเพื่อใช้วัดความเปลี่ยนแปลงของราคาค่าก่อสร้างบ้าน ในเขตกรุงเทพฯ ที่ประชาชนจ้างผู้รับเหมาเป็นผู้ก่อสร้างคราวละ 1 หลัง ไม่สามารถใช้วัดความเปลี่ยนแปลงของราคา ค่าก่อสร้างบานจัดสรรที่สร้างโดยผู้ประกอบการ ซึ่งจ้างผู้รับเหมาก่อสร้างคราวละหลายๆ หลังได้

ดัชนีนี้วัดการก่อสร้างบ้านทีละหลัง แต่บ้านจัดสรรเหมาจ้างทีหลายหลัง น่าจะได้ต้นทุนที่ต่ำกว่า

สำหรับไตรมาส 2 ปี 2561 ดัชนีราคาค่าก่อสร้างบ้านมาตรฐาน มีค่าเท่ากับ 119.5 จุด เพิ่มขึ้น 2.4% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน และเพิ่มขึ้น 1.1% เมื่อเทียบกับค่าดัชนีในไตรมาส 1 ปี 2561 ค่าดัชนีที่เพิ่มขึ้นนี้ เมื่อจำแนกต้นทุนของงานก่อสร้างในแต่ละหมวด พบว่ามีรายละเอียดที่แตกต่างกัน

การปรับราคาของหมวดงานออกแบบก่อสร้างและงานระบบ มีดังนี้

  • งานวิศวกรรมโครงสร้าง ค่าตอบแทนเพิ่มขึ้น 3.5%  เมื่อเทียบกับงปีก่อน และเพิ่มขึ้น 0.9% เมื่อเทียบกับไตรมาส 1/2561 โดยงานส่วนนี้มีสัดส่วน 27.9% ของหมวดงานออกแบบและงานระบบ
  • งานสถาปัตยกรรม ค่าตอบแทนเพิ่มขึ้น 1.9% เมื่อเทียบกับปีก่อนและเพิ่มขึ้น 1.3% เมื่อเทียบกับไตรมาส 1/2561 โดยงานส่วนนี้มีสัดส่วน 65.3% ของหมวดงานออกแบบและงานระบบ
  • งานระบบสุขาภิบาล ค่าตอบแทนลดลง 0.6% เมื่อเทียบกับปีก่อนและลดลง 0.3% เมื่อเทียบกับไตรมาส 1/2561 โดยงานส่วนนี้มีสัดส่วน 3.1% ของหมวดงานออกแบบและงานระบบ
  • งานระบบไฟฟ้าและระบบสื่อสาร ค่าตอบแทนเพิ่มขึ้น 5.5% เมื่อเทียบกับปีก่อน แต่ทรงตัวเมื่อเทียบกับไตรมาส 1/2561 โดยงานส่วนนี้มีสัดส่วน 3.7% ของหมวดงานออกแบบและงานระบบ

ส่วนการปรับราคาขึ้นของหมวดวัสดุก่อสร้างมีรายละเอียดดังนี้

  • ไม้และผลิตภัณฑ์ไม้ราคาเพิ่มขึ้น 8.4% เมื่อเทียบช่วงเดียวกันของปีก่อนแต่ลดลง 0.2% เมื่อเทียบกับไตรมาส 1/2561
  • ผลิตภัณฑ์คอนกรีต ราคาลดลง 1.7%  เมื่อเทียบช่วงเดียวกันของปีก่อน และลดลง 2.5% เมื่อเทียบกับไตรมาส 1/2561
  • เหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็ก ราคาเพิ่มขึ้น 5.6% เมื่อเทียบช่วงเดิมของปีก่อนแต่ลดลง 0.5% เมื่อเทียบกับไตรมาส 1/2561
  • กระเบื้อง ราคาเพิ่มขึ้น 3.2% เมื่อเทียบช่วงเดียวกันของปีก่อน แต่ราคาทรงตัวเมื่อเทียบกับไตรมาส 1/2561
  • สุขภัณฑ์ราคาลดลง 0.3% เมื่อเทียบช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน แต่ราคาทรงตัวเมื่อเทียบกับไตรมาส 1/2561
  • อุปกรณ์ไฟฟ้าและประปา ราคาลดลง 0.6% เมื่อเทียบช่วงเดิมของปีก่อน และลดลง 0.2% เมื่อเทียบกับไตรมาส 1/2561
  • วัสดุก่อสร้างอื่นๆ ราคาลดลง 2.3% เมื่อเทียบช่วงเดียวกันของปีก่อน และลดลง 1.1% เมื่อเทียบกับไตรมาส 1/2561
  • ผลจากการปรับขึ้นอัตราค่าจ้างขั้นต่ำจาก 310 บาทเป็น 325 บาท มีผลตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2561 เป็นต้นมา

 

 

Avatar photo