Politics

‘ณัฏฐพล’ เปิดเวทีนักเรียนแสดงความเห็นถึง 15 ก.ย. ยันไม่ก้าวก่าย-ไม่ตัดคะแนน!

“ณัฏฐพล” เตือนนักเรียน ไม่ใช่มีสิทธิเสรีภาพแล้ว ทำทุกอย่างได้ตามใจชอบ แนะเอารัฐธรรมนูญแต่ละฉบับไปศึกษา แตกต่างอย่างไร ไฟเขียวเปิดเวทีแสดงความเห็นถึง 15 ก.ย.นี้  ยันไม่ก้าวก่าย ไม่ตัดคะแนน ให้อำนาจ “ผอ.-ครู” คุยเด็กนักเรียน

นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวถึงการเคลื่อนไหวของนักเรียนในโรงเรียนที่มีประเด็นหมิ่นเหม่ต่อสถาบันฯว่า การแสดงออกถือเป็นสิทธิของบุคคล อะไรที่สร้างความแตกแยก ที่ไม่เหมาะสมก็อยากให้คำนึงถึงจุดนี้  หากเป็นการก้าวร้าว หรือเป็นการกระทำที่ไม่เหมาะสมก่อให้เกิดความแตกแยก ผู้อำนวยการโรงเรียน สามารถเข้าไปพูดคุยและตักเตือนได้ ไม่ใช่ว่ามีสิทธิเสรีภาพแล้วจะทำทุกอย่างได้ตามใจชอบ  เราก็เปิดสถานที่ให้มีการพูดคุยกันแล้ว มีการรับฟังความคิดเห็น ผ่านทางสภานักเรียน มีกรอบเวลาที่ชัดเจนให้พูดคุยตั้งแต่วันนี้ถึงวันที่ 15 กันยายน 2563

“ช่วงเวลานี้เป็นโอกาสที่ทุกคน จะได้แสดงความคิดเห็น จากนั้นจะรวบรวมเป็นภาพรวมของทั้งประเทศ จะนำประเด็นหลักที่เป็นไฮไลท์ของนักเรียน มาจัดลำดับโดยดูความต้องการของนักเรียนส่วนใหญ่ ให้อยู่ในลำดับต้น แล้วมาพิจารณาดูว่าเรื่องใดสามารถแก้ไขได้ แต่ต้องดูความเหมาะสมประกอบกันด้วย”

3 นิ้ว

นายณัฏฐพล กล่าวว่าเรื่องใดยังไม่ถึงเวลาถ้าทำไปแล้ว เกิดผลกระทบในวงกว้างก็ต้องชี้แจงให้เข้าใจ เพื่อให้เกิดการสื่อสารสองทาง เมื่อรับฟังแล้วนำไปแก้ไขแล้วสื่อสารกลับ ดังนั้นตนจึงเห็นว่าควรพูดคุยกันโดยสันติวิธี ที่ไม่ให้ฝ่ายที่เห็นต่างเกิดความรู้สึกอึดอัด ซึ่งเป็นแนวทางที่น่าจะปฏิบัติกันทั่วโลกและเป็นหนึ่งในวิธีที่เยาวชนน่าจะใช้เวทีนี้ในการแสดงออก

เมื่อถามว่าจะให้อำนาจผู้อำนวยการโรงเรียน เป็นผู้จัดระเบียบโดยที่กระทรวงจะยังไม่เข้าไปสั่งการอะไรใช่หรือไม่ นายณัฏฐพล กล่าวว่า ในประกาศกระทรวงที่ออกไป เปิดโอกาสให้ผู้อำนวยการโรงเรียน บริหารจัดการผ่านคณะกรรมการสถานศึกษา สภานักเรียน ซึ่งน่าจะเพียงพอต่อการแสดงความคิดเห็นภายในช่วงเวลาที่วางไว้

stu

เมื่อถามว่ามีข้อร้องเรียนว่ามีการใช้เรื่องการตัดคะแนน และทุนการศึกษามาเป็นเงื่อนไขต่อการแสดงความคิดเห็นและการพูดคุยของนักเรียน นายณัฏฐพล กล่าวว่าไม่  เท่าที่ได้ฟังมาทุกโรงเรียน ก็เปิดรับฟังความคิดเห็น โดยไม่เกี่ยวข้องกับการตักเตือน และตัดคะแนน การพูดคุยในโรงเรียนครูจะดูความเหมาะสมอยู่แล้ว ตนมั่นใจ จากที่เช็คมาหลายสิบโรงเรียน ผู้อำนวยการโรงเรียนและครูมีแนวทางที่ต่างกันไป บางคนรับฟังแล้วแนะนำให้นักเรียนไปทำกิจการเพิ่มเติมว่า เข้าใจเรื่องที่เรียกร้องจริงหรือไม่ เช่นการเรียกร้องเรื่องรัฐธรรมนูญ ก็ให้นักเรียนไปเปรียบเทียบรัฐธรรมนูญฉบับปี 2540 กับ 2550 และ 2560  แล้วมาพูดคุยกันว่าความเห็นของนักเรียนแตกต่างกันอย่างไร นี่ถือเป็นความคิดที่สร้างสรรค์ เพราะบางครั้งนักเรียน ก็ไม่รับทราบรายละเอียดของรัฐธรรมนูญ ที่แตกต่างกันในแต่ละฉบับ ถือเป็นความร่วมมือของโรงเรียน และนักเรียนหาความรู้ที่แท้จริง

ทั้งนี้ ยืนยันว่าจะไม่มีการคุกคามเรื่องคะแนน หรือความรู้สึกที่ทำให้นักเรียนอึดอัด และไม่คิดว่านักเรียน จะอึดอัดถ้ามีเวทีแสดงออกที่ชัดเจน ผ่านระบบของโรงเรียนที่มีสภานักเรียน มีผู้อำนวยการ หากใครมีข้อมูลว่าสถานศึกษาใด ไปดำเนินการในลักษณะไม่เหมาะสมให้แจ้งมาที่กระทรวงได้

ณัฐพล1

เมื่อถามว่า วันที่ 27 สิงหาคมนี้ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (อว.) ที่จะเปิดเวทีเชิญแกนนำนักศึกษาแสดงความคิดเห็นกระทรวงศึกษาไปร่วมรับฟังด้วยหรือไม่รมว.ศึกษากล่าวว่า ถ้าหากแกนนำนักศึกษาและนักเรียนรวมกันได้ ก็ยินดีที่จะไปร่วมพูดคุย แต่ถ้าเป็นเวทีเฉพาะนักศึกษาอย่างเดียว อว.ก็รับหน้าที่

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo
ทีมบรรณาธิการข่าว The Bangkok Insight