Economics

สถานีชาร์จไฟฟ้าผุดเป็นดอกเห็ดรับรถ EV มาแรง!!

160244

รถยนต์ไฟฟ้าทั้งประเภทปลั๊กอินไฮบริด  (Plug-in Hybrid Electric Vehicle : PHEV) และประเภทแบตเตอรี่ (Battery Electric Vehicle : BEV) ที่รัฐตั้งเป้าหมายว่าจะมีรถวิ่งทั่วประเทศ 1.2 ล้านคัน ภายในปี 2579

สถานีชาร์จไฟฟ้าผุด 1,400 แห่งสิ้นปี

ไม่ไกลเกินฝัน แม้วันนี้จะมีสถานีอัดประจุไฟฟ้า (Charging Station) หรือสถานีชาร์จไฟฟ้า เพียง 17 แห่ง กระจุกตัวย่านสยามและเพลินจิต และกระจายในบางจุดของกทม.อาทิ บางรัก ห้วยขวาง พระราม 9 พระโขนง และจังหวัดอื่นๆ อาทิ ย่านบางกราย นนบุทรี  และจังหวัดเพชรบุรี  “แต่ปลายปีรวมๆแล้วจะกระโดดเป็น 1,400 จุด”

160259

นายวีรวัจน์ บัวทอง ผู้ช่วยผู้ว่าการ การไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) บอกว่า เริ่มต้นกฟน.นำร่องไปก่อน 10 จุดใน 18 เขตพื้นที่ดูแลของกฟน.เพื่อนำร่อง เพราะเราไม่มีนโยบายจะทำแข่งกับเอกชน แต่ตอนนี้มีผู้ประกอบการหลากหลายสนใจลงทุนสถานีชาร์จไฟฟ้าจำนวนมาก ผู้ลงทุนหลัก คือ บริษัทพลังงาน มหานคร จำกัด

นอกจากนี้ยังมีค่ายรถยนต์ต่างๆที่ต้องการติดหัวจ่ายไฟฟ้าไว้ในศูนย์บริการรองรับลูกค้าของตนเอง รวมถึงห้างสรรพสินค้า และหมู่บ้านจัดสรร หรือคอนโดมิเนียม เพื่อไว้บริการลูกบ้าน

“การตั้งสถานีชาร์จไฟฟ้าทำได้ง่าย ไม่เหมือนตั้งปั๊มน้ำมัน ถ้ามีขนาด 1-2 หัวจ่ายไม่ต้องติดตั้งมิเตอร์ใหม่ เหมือนเราชาร์จเครื่องใช้ไฟฟ้าทั่วไป ขณะเดียวกันหัวจ่ายไฟฟ้าก็ไม่ต้องลงทุนสูง ราว 50,000-100,000 บาทต่อหัวจ่าย เพียงแต่จะกินเวลาชาร์จราว 3 ชม. แต่หากเป็นแบบราคาแพง 2 ล้านบาทต่อหัวจะใช้เวลาชาร์จแค่ 20 นาที”

เมื่อมีผู้สนใจติดตั้งจำนวนมาก นายวีรวัจน์ ระบุว่า กฟน.เลยต้องประสานงานกับผู้ประกอบการที่มีแผนจะติดตั้งเพื่อขอข้อมูลใน 2 เรื่องใหญ่ คือ ตั้งที่ไหน และขนาดของสถานีฯ เพื่อให้มีข้อมูลสำหรับศึกษาว่าหากมีการชาร์จไฟฟ้าพร้อมๆกันในบางพื้นที่จะมีผลกระทบอย่างไรหรือไม่ต่อโหลดไฟฟ้า  เพราะบางจุดอาจมีสถานีกระจุกตัว

ขณะเดียวกันก็ต้องการรวบรวมจุดที่ตั้งของสถานีฯ เพื่อใส่เข้ามาใน App ของกฟน.ที่เราพัฒนาขึ้น อำนวยความสะดวกให้ผู้ใช้ค้นหา ซึ่งเราทำให้เป็นแบบเรียลไทม์ สามารถรู้ได้ว่าสถานีนี้มีรถยนต์กำลังชาร์จอยู่หรือไม่ เพื่อให้ผู้บริโภคเลือกไปใช้หัวจ่ายที่ยังว่างอยู่

160256

ค่ายรถยนต์ทำราคา EV เหลือ 6 แสนบาท

ทำไมสถานีชาร์จไฟฟ้ากำลังผุดขึ้นเป็นดอกเห็ด เขา เฉลยว่า ปีหน้าจะมีรถยนต์ไฟฟ้า (EV)  วิ่งบนท้องถนนจำนวนมากขึ้น เพราะค่ายรถยนต์อย่างน้อย 2 ค่ายจะปักหลักผลิตรถยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทย โดยทำราคาราว 6 แสนบาท ซึ่งเชื่อว่าจูงใจผู้บริโภคแน่นอน ประกอบกับราคาน้ำมันที่แพงขึ้น เพราะรถยนต์ไฟฟ้าชาร์จเพียง 1 ครั้ง 100 – 200 บาทสามารถวิ่งได้ระยะทางประมาณ 100 กิโลเมตรโดยไม่ต้องชาร์จระหว่างทาง ขณะที่เติมน้ำมันหลักพันบาทต่อการเติมเต็มถัง

“ปัจจัยขับเคลื่อนสำคัญในบ้านเรา คือ ราคารถยนต์ไฟฟ้า หากมีราคาถูกลง ผู้บริโภคจะหันมาใช้กันมากขึ้นอย่างก้าวกระโดดแน่นอน”

สำหรับการทดลองนำรถยนต์ไฟฟ้ามาขับนำร่องของกฟน.จำนวน 16 คัน นายวีรวัจน์ บอกว่า ตอนนั้นกฟน.ซื้อ 2 ล้านบาททต่อคัน ผ่านมา 5 ปี พบว่าสมรรถนะของเครื่องยนต์ลดลงไม่มากประมาณ 10% หมายถึงต้องใช้เวลาในการชาร์จนานขึ้นเท่านั้นเอง แต่จากการทดสอบของเรา มีสิ่งที่ผู้บริโภคต้องระมัดระวังในการขับขี่ คือความแรงของเครื่องยนต์ขณะออกตัวจะเร็วกว่ารถใช้น้ำมัน

การซื้อรถเพื่อมาทดสอบของกฟน.นอกจากเพื่อศึกษาสมรรถนะของเครื่องยนต์ที่ขับเคลื่อนด้วยไฟฟ้าแล้ว ยังติดตามและวิเคราะห์พฤติกรรมของผู้บริโภคยุคใหม่ไปพร้อมกันด้วย ซึ่งพบว่ามักจะชาร์จมาจากบ้าน เพราะไฟฟ้าตามบ้านขนาดมิเตอร์ 15 (45) แอมป์ ที่มีเครื่องใช้ไฟฟ้าต่างๆ รวมถึงเครื่องปรับอากาศขนาด 2 เครื่องสามารถรองรับการชาร์จรถยนต์ไฟฟ้าได้โดยไม่ต้องเปลี่ยนมิเตอร์ใหม่ แต่หากมีเครื่องปรับอากาศมากกว่านั้น และชาร์จไฟฟ้าในรถยนต์ด้วยต้องเปลี่ยนขนาดมิเตอร์

แต่หากวิ่งจากกรุงเทพไปต่างจังหวัดใกล้ๆ เช่น พัทยา ตอนนี้ผู้บริโภคจะเลือกไปโรงแรมที่พักที่มีที่ชาร์จไฟฟ้า ซึ่งปัจจุบันมีหลายโรงแรมเริ่มติดตั้งสถานีฯที่บริเวณลานจอดรถ หรือแม้แต่ลานจอดรถตามห้างสรรพสินค้าตามหัวเมืองใหญ่ก็เริ่มมีจุดชาร์จไฟฟ้ากันแล้ว  และด้วยกระแสที่มาแรงทั้งรถยนต์และสถานีฯ กฟน.เลยทำธุรกิจต่อเนื่องในการรับติดตั้งสถานีฯรองรับความต้องการด้วย

160247

ปั๊มน้ำมัน-ผู้ค้าถูก disrupt แน่

นายวีรวัจน์ ศึกษาสถานการณ์ในต่างประเทศที่มีการใช้รถยนต์ไฟฟ้ามากขึ้น เขาบอกว่า รถยนต์ไฟฟ้าจะมา disrupt รถยนต์ที่ใช้น้ำมันเป็นเชื้อเพลิงแน่นอน แต่อาจต้องใช้เวลา ในระยะเริ่มต้นบางค่ายรถยนต์จะผลิตรถแบบไฮบริดผสมน้ำมันและไฟฟ้ามาทำตลาดก่อน ดังนั้นผู้ประกอบการที่จะถูก disrupt คือ ผู้ขายน้ำมัน รวมไปถึงผู้ประกอบการที่ขายของในสถานีบริการน้ำมัน เพราะรถจะวิ่งมาเติมน้ำมันน้อยลง ทำให้การขายสินค้าต่างๆในนั้นพลอยลดลงไปด้วย ซึ่งในต่างประเทศเจอกันมาแล้ว

“ผู้ประกอบการที่เกี่ยวข้องคงต้องปรับตัวไปตามยุคสมัยที่เปลี่ยนไป ปั๊มน้ำมันอาจต้องทำที่ชาร์จไฟฟ้าด้วย แต่โดยหลักแล้วหัวจ่ายน้ำมันและไฟฟ้าต้องห่างกันอย่างน้อย 15 เมตร เพื่อความปลอดภัย ส่วนผู้ค้าในปั๊มก็ต้องเตรียมพร้อมเช่นเดียวกัน”

ปัจจุบันไม่เฉพาะกฟน.เท่านั้น อีก 2 การไฟฟ้าก็อยู่ระหว่างการเตรียมโครงสร้างพื้นฐานรองรับรถยนต์ไฟฟ้า รวมถึงการวางมาตรฐานสถานีชาร์จไฟฟ้า เพื่อความปลอดภัย และคุ้มครองผู้บริโภคป้องกันการติดตั้งหัวจ่ายที่ไม่ได้มาตรฐาน

เมื่อถึงยุคไฮเทคโนโลยี หลายสิ่งหลายอย่างกำลังเปลี่ยนแปลงไป และที่สำคัญเปลี่ยนอย่างรวดเร็วเสียด้วย ใครที่ยังนิ่งเฉย มีอันคงต้องถูก disrupt มาลุ้นว่า ‘สถานีบริการน้ำมัน’ แบบเดิมๆจะอำลาจากตลาดไปเมื่อใด

Avatar photo