Politics

‘หมอธีระ’ ห่วง ‘หยุดโควิด แต่ไม่หยุดเศรษฐกิจ’ แนะยุตินโยบายฟองสบู่ท่องเที่ยว 6 เดือน

“หมอธีระ” แจงสถานการณ์การติดเชื้อไวรัสโควิดทั่วโลก เตือนรัฐระวัง “หยุดโควิด แต่ไม่หยุดเศรษฐกิจ” เสนอยุตินโยบายฟองสบู่ ท่องเที่ยวไปอีก 6 เดือน ห่วงระบาดซ้ำมันรุนแรง 

รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้โพสต์ข้อความลงบนเฟซบุ๊กส่วนตัว Thira Woratanara ระบุข้อความว่า สถานการณ์ทั่วโลกล่าสุด 23 สิงหาคม 2563
ติดเพิ่มไปอีกถึง 263,395 คน ตายเพิ่ม 5,611 คน ยอดรวมตอนนี้ 23,334,618 คน
อเมริกา ติดเพิ่ม 45,148 คน รวม 5,837,173 คน
บราซิล ติดเพิ่ม 50,032 คน รวม 3,582,362 คน
อินเดีย สถานการณ์รุนแรง ติดเพิ่มถึง 70,068 คน รวม 3,043,436 คน อีกไม่ถึง 4 สัปดาห์จะแซงบราซิลขึ้นอันดับที่ 2
รัสเซีย ติดเพิ่ม 4,921 คน รวม 951,897 คน
แอฟริกาใต้ เปรู เม็กซิโก ติดกันเพิ่ม 3,700 9,000 และ 5,900 ตามลำดับ คาดว่าหากเปรูไม่สามารถควบคุมโรคได้ จะแซงแอฟริกาใต้ในไม่ช้า
สหราชอาณาจักร อิตาลี ฝรั่งเศส อิหร่าน อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ และญี่ปุ่น ยังติดกันหลักพันเช่นเดิม
หลายประเทศในยุโรป รวมถึงแคนาดา ปากีสถาน เกาหลีใต้ และออสเตรเลีย ติดกันเพิ่มหลายร้อย
จีน ฮ่องกง สิงคโปร์ ติดกันหลักสิบ ส่วนนิวซีแลนด์ มาเลเซีย และเวียดนาม ต่ำกว่าสิบ

 

…เริ่มชัดเจนขึ้นเรื่อยๆ หลังจากมหาอำนาจหลายประเทศสร้างวาทกรรม ที่การเมืองไทยก็พยายามนำมาใช้คือ “เราจะหยุดโควิด แต่ไม่หยุดเศรษฐกิจ”…
ที่ชัดเจนคือ หลายต่อหลายประเทศ…หน้ามืดตามัวขยับเศรษฐกิจกันเต็มที่ เปิดน่านฟ้า เดินทางระหว่างประเทศ ปรากฏว่าหมุนได้ไม่มากนัก และโรคก็ระบาดซ้ำอย่างรุนแรงจนยังไม่สามารถคุมได้ ได้เรียนรู้ว่า ระบาดซ้ำมันรุนแรง ยากในการควบคุม ใช้เวลานาน และเกิดผลกระทบเยอะ

หมอธีระ23

ล่าสุด The New York Times ลงบทความของ ศาสตราจารย์ John M Barry ของมหาวิทยาลัย Tulane และ Forbes ก็นำสาระจากบทความนั้นมาลงเช่นกัน
เนื้อความสำคัญคือ ไม่มีทางที่จะทำตามวาทกรรม…หยุดโควิดแต่ไม่หยุดเศรษฐกิจ…ได้
สำหรับสถานการณ์ระบาดรุนแรงทั่วโลกเช่นนี้ จำเป็นอย่างยิ่งที่จะให้ความสำคัญที่สุดกับการควบคุมโรคระบาดให้ได้ ขืนไปเร่งเปิดเศรษฐกิจโดยไม่สามารถคุมโรคได้ ก็จะเจ๊งกันระนาวดังที่เห็น

…สำหรับเมืองไทย สถานการณ์ของเราต่างจากต่างประเทศ เพราะเราจัดการกับโรคระบาดได้ดี แต่ต้องไม่ประมาท ดังที่เห็นจากเวียดนาม นิวซีแลนด์ จีน ฮ่องกง เกาหลีใต้ และญี่ปุ่น ที่เคยควบคุมโรคได้ดีแล้ว พอเปิดเศรษฐกิจ ผ่อนคลายกิจกรรมต่างๆ ก็กลับมาระบาดรุนแรงอีกครั้ง จนตอนนี้ยังกลับมาสู่สภาพเดิมไม่ได้

ไทยเรา…ก้าวมาดีแล้วในการผ่อนคลายเป็นขั้นเป็นตอน แต่ต้องยอมรับว่าความเสี่ยงเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการแง้มประตูประเทศ เพื่อรับคนเดินทางจากต่างประเทศเข้ามา นี่เป็นจุดตาย ที่เราเห็นจากประเทศอื่นๆ…ไม่มีประเทศใดรอดจากการระบาดซ้ำ หากเปิดให้นักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาในประเทศ

ดังนั้นการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของไทย ควรทำอย่างชาญฉลาด และน้อมรับปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ของในหลวงร.9 มาใช้อย่างเต็มที่ ยืนบนขาตนเอง ลดการพึ่งพา เน้นกินใช้ทรัพยากรที่ผลิตได้ในประเทศ นำเข้าเท่าที่จำเป็นจริงๆ เพื่อลดค่าใช้จ่าย ประคับประคองให้อยู่ได้ไปตลอดรอดฝั่ง ไม่ให้เกิดการระบาดซ้ำ
และที่สำคัญคือ “Looking forward to the best, but prepare for the worst”

หน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรสำแดงข้อมูลต่างๆ ที่ทันต่อเวลา ชัดเจน ตรงไปตรงมา ให้แก่ประชาชน ไม่สรุปตีความเข้าข้างตนเอง หรือสร้างภาพฝันให้เห็นว่า แข็งแกร่งดั่ง เฮอร์คิวลิส หากสถานการณ์เสี่ยงก็ต้องยอมรับว่า เสี่ยง และตีแผ่ความเป็นไปได้ที่เป็นสาเหตุให้ครบถ้วน เตรียมระบบการตรวจคัดกรองโรคที่เข้าถึงได้ง่าย ครอบคลุมทุกพื้นที่ และรณรงค์ให้เกิดการตรวจมากขึ้นตั้งแต่บัดนี้

ยุตินโยบายฟองสบู่ ท่องเที่ยวไปอย่างน้อย 6 เดือน การนำเข้ากลุ่มเป้าหมายต่างๆ จากต่างประเทศเข้ามานั้น ควรทำเฉพาะที่จำเป็นอย่างยิ่งยวดเท่านั้น

ประเทศไทยต้องทำได้
ด้วยรักต่อทุกคน
สวัสดีวันอาทิตย์ครับ…
รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์
คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

อ้างอิง
1. John M Barry. A Warning for the United States From the Author of ‘The Great Influenza’. The New York Times. 18 August 2020.
2. Enrique Dans. COVID-19: There Is Only One Priority. Forbes. 22 August 2020

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo
ทีมบรรณาธิการข่าว The Bangkok Insight