Finance

เปิดหุ้นต่ำ 10 น่าหยิบเข้าพอร์ต!

ถ้าเอ่ยถึงหุ้นที่มีราคาต่ำกว่า 10 บาท เข้าใจกันดีว่าเป็นหุ้นราคาถูก บริษัทขนาดเล็ก มาร์เก็ตแคปไม่มาก

ด้วยเหตุนี้จึงเป็นสนามการลงทุนของนักลงทุนรายย่อย รวมถึงนักลงทุนที่มีเงินลงทุนไม่สูง เนื่องจากการซื้อขายแต่ละครั้งจะใช้เงินจำนวนไม่มาก และสังเกตได้ว่ามักมีการซื้อขายในระยะสั้นๆ หรือลักษณะเก็งกำไร

ดังนั้น หุ้นประเภทนี้จึงมีความคึกคักในการซื้อขาย เพราะนักลงทุนพร้อมขายทำกำไรแล้วไปหาหุ้นที่มีราคาต่ำตัวอื่นๆ ลงทุนต่อ ขณะเดียวกัน หุ้นบางตัวมักจะได้รับความสนใจแค่บางช่วงเวลา โดยเฉพาะช่วงที่มีกระแสข่าวทำให้การซื้อขายคึกคักและสร้างสีสันได้ในช่วงเวลานั้นๆ ด้วยเหตุผลดังกล่าว การซื้อขายส่วนใหญ่ในแต่ละครั้งจึงใช้ปัจจัยทางเทคนิคในการวิเคราะห์เพื่อตัดสินใจลงทุน

โดยเป้าหมายของนักลงทุนในหุ้นที่มีราคาต่ำ คือ การทำกำไรจากส่วนต่างของราคา (Capital gain) ด้วยการซื้อราคาถูกและรอจังหวะขายเมื่อราคาปรับขึ้น เมื่อคิดเป็นอัตราการเพิ่มของราคาจะสูงมาก

cover หุ้นราคาต่ำกว่า 10 บาท

ยกตัวอย่าง

ซื้อหุ้น BAC ราคา 2 บาท สัปดาห์ถัดมาราคาหุ้นปรับขึ้นไป 3 บาท หากขายทำกำไรก็จะได้ผลตอบแทน 1 บาท หรือคิดเป็นอัตรากำไรถึง 50%

อย่างไรก็ตาม ยังมีหุ้นที่มีราคาต่ำกว่า 10 บาท หลายตัวมีปัจจัยพื้นฐานแข็งแกร่ง มีแนวโน้มการเติบโตด้านการดำเนินธุรกิจที่สดใส และมีความสามารถในการสร้างผลกำไรที่ดีอย่างต่อเนื่อง นั่นหมายความว่า สามารถลงทุนในระยะยาวได้

และปฏิเสธไม่ได้ว่าราคาหุ้นที่จะปรับขึ้นไปได้นั้น ต้องมีปัจจัยพื้นฐานแข็งแกร่ง และปัจจัยสำคัญที่สะท้อนได้ชัดเจนที่สุด ก็คือ กำไรสุทธิ ควรเติบโตอย่างต่อเนื่อง และเมื่อกำไรเติบโต อัตรากำไรสุทธิ ควรเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องด้วยเช่นกัน โดยเป็นการวัดอัตราส่วนทางการเงินของผลกำไรสุทธิกับยอดขาย ซึ่งบอกถึงความสามารถในการทำกำไรสุทธิ ประสิทธิภาพการดำเนินงานและความสามารถของทีมผู้บริหาร

ถ้าอัตรากำไรสุทธิอยู่ในระดับสูง แสดงว่าความสามารถของการดำเนินงานและสินค้าของบริษัทมีคุณภาพสูง ขายแล้วได้กำไรดี แต่ถ้าอยู่ในระดับต่ำ บริษัทนั้นอาจมีปัญหาด้านการดำเนินงาน เช่น ไม่สามารถควบคุมต้นทุนการผลิตได้ หรือมีการแข่งขันสูงจึงไม่สามารถเพิ่มราคาขายในตลาดได้

ยกตัวอย่าง

ปี 2562 บริษัท XYZ มียอดขาย 250,000 บาท กำไรสุทธิ 50,000 บาท จะมีอัตรากำไรสุทธิ 20% หมายความว่า ทุกการลงทุน 100 บาท บริษัท XYZ จะทำกำไรได้ 20 บาท

ถัดจากนั้นก็นำอัตราส่วนนี้ไปเปรียบเทียบกับคู่แข่งที่อยู่ในธุรกิจเดียวกัน เพื่อดูว่าบริษัทใดมีประสิทธิภาพในการทำธุรกิจมากกว่า

นอกจากนี้ การเลือกหุ้นที่น่าลงทุน ควรเลือกหุ้นที่มีความสามารถในการทำกำไรมากกว่าบริษัทคู่แข่งในธุรกิจเดียวกัน ด้วยการใช้อัตราผลตอบแทนผู้ถือหุ้น (ROE) มาช่วยในการพิจารณา

ROE คือ อัตราการทำกำไรในสินทรัพย์ ช่วยบอกนักลงทุนให้ทราบว่าบริษัทใด คือ เครื่องจักรทำเงิน ประโยชน์ของ ROE จะอธิบายว่าเงิน 1 บาทของผู้ถือหุ้น บริษัทนำไปทำธุรกิจแล้วทำให้เป็นกำไรได้กี่บาท ยิ่งสร้างกำไรได้มากก็ยิ่งดี แสดงว่าผู้บริหารมีความสามารถในการจัดสรรเงินลงทุนเพื่อสร้างผลตอบแทนสูงสุดให้ผู้ถือหุ้นได้

ROE = (กำไรสุทธิ / ส่วนของผู้ถือหุ้น) × 100

ยกตัวอย่าง

ปี 2562 บริษัท BAC มีกำไรสุทธิ 150,000 บาท มีสินทรัพย์รวม 300,000 บาท มีหนี้สินรวม 20,000 บาท

ส่วนของผู้ถือหุ้น = (สินทรัพย์รวม – มีหนี้สินรวม)
จะได้ 300,000 – 20,000 = 280,000 บาท
ROE = (150,000/280,000) × 100 = 54%
หมายความว่า บริษัท BAC สามารถใช้ส่วนของผู้ถือหุ้น 100 บาท ในการทำกำไรได้ 54 บาท

ถ้า ROE เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง หมายความบริษัทมีความสามารถในการบริหารจัดการและทำกำไรจากส่วนของผู้ถือหุ้นได้ดี แต่ถ้า ROE ปรับลดลงอาจสะท้อนถึงประสิทธิภาพการบริหารเงินลงทุนที่ลดลง

อีกทั้ง นักลงทุนควรดูความสม่ำเสมอของอัตราเงินปันผลตอบแทน (Dividend Yield) และสามารถเลือกได้ด้วยตนเองว่าต้องการลงทุนในบริษัทที่ให้อัตราเงินปันผลตอบแทนอยู่ที่ระดับใดต่อปี เช่น 5%, 8%, 10% เป็นต้น

หากลองคัดเลือกหุ้นประเภทเล็กพริกขี้หนูที่มีราคาซื้อขายไม่เกิน 10 บาท (ข้อมูล ณ วันที่ 7 สิงหาคม 2563) โดยตั้งเงื่อนไขว่าอัตราเงินปันผลตอบแทน ไม่ต่ำกว่า 5% ในรอบ 5 ปีล่าสุด (2558 – 2562) กำไรสุทธิ ต้องเป็นบวกตลอด (ห้ามขาดทุนสุทธิ) ในรอบ 5 ปีล่าสุด (2558 – 2562) และอัตราผลตอบแทนผู้ถือหุ้น ตลอด 5 ปีล่าสุด (2558 – 2562) ต้องทำได้ไม่ต่ำกว่า 15% จะได้รายชื่อหุ้นผู้เข้ารอบจำนวน 4 หุ้นด้วยกัน ดังนี้

16AUG หุ้นราคาต่ำกว่า10 บาท

เงื่อนไข

อัตราเงินปันผลตอบแทน ไม่ต่ำกว่า 5% ในรอบ 5 ปีล่าสุด (2558 – 2562)
กำไรสุทธิ ต้องเป็นบวกตลอด (ห้ามขาดทุนสุทธิ) ในรอบ 5 ปีล่าสุด (2558 – 2562)
อัตราผลตอบแทนผู้ถือหุ้น ต้องทำได้ไม่ต่ำกว่า 15% ในรอบ 5 ปีล่าสุด (2558 – 2562)

หมายเหตุ : บทความนี้เพื่อใช้สำหรับศึกษาเบื้องต้นเท่านั้น มิได้มีเจตนาในการชี้นำการลงทุนแต่อย่างใด ผู้ลงทุนควรศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมก่อนตัดสินใจลงทุน

ฐิติเมธ โภคชัย
ผู้บริหารงาน ฝ่ายพัฒนาความรู้ผู้ลงทุน
ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย

อ่านข่าวเพิ่มเติม

 

Avatar photo