Politics

ยอดผู้ติดเชื้อวันนี้ทะลุ 23 ล้านคน! ‘หมอธีระ’ ย้ำโควิดยังระบาดรุนแรง

ยอดผู้ติดเชื้อวันนี้ 22 ส.ค. อยู่ที่ 23,071,223 คน ติดเชื้อเพิ่มขึ้น 279,237 คน ย้ำ!! สถานการณ์ทั่วโลกยังระบาดรุนแรง กำชับฝังกลบ Travel Bubble ที่อาจเป็นเหตุนำสู่หายนะ

รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก Thira Woratanarat รายงาน ยอดผู้ติดเชื้อวันนี้ โดยระบุว่า สถานการณ์ทั่วโลก 22 สิงหาคม 2563 ทะลุ 23 ล้านไปแล้ว ติดเพิ่มอีก 279,237 คน ตายเพิ่มไปถึง 6,092 คน ยอดรวม 23,071,223 คน อัตราเร็ว 1 ล้านคนใน 4 วันเช่นเดิม

หมอธีระ22863

  • อเมริกา จำนวนเสียชีวิตสูงถึง 1,831 คน ติดเพิ่ม 52,027 คน รวม 5,792,025 คน
  • บราซิล ติดเพิ่ม 30,355 คน รวม 3,532,330 คน
  • อินเดีย ติดเพิ่ม 69,039 คน รวม 2,973,368 คน
  • รัสเซีย ติดเพิ่ม 4,870 คน รวม 946,976 คน
  • แอฟริกาใต้ เม็กซิโก เปรู ติดกันเพิ่มราว 3,400 6,700 7,600 ตามลำดับ
  • สเปน สหราชอาณาจักร ฝรั่งเศส เยอรมัน อิหร่าน ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย และญี่ปุ่น ติดกันหลักพันถึงหลายพัน โดยมีอิตาลีตามมาเกือบพัน
  • หลายประเทศในยุโรป รวมถึงแคนาดา ปากีสถาน สิงคโปร์ เกาหลีใต้ และออสเตรเลีย ติดกันหลักร้อยถึงหลายร้อย
  • จีน ฮ่องกง นิวซีแลนด์ ติดกันหลักสิบ ส่วนมาเลเซีย และเวียดนาม ติดกันต่ำกว่าสิบ

…สถานการณ์ทั่วโลกตอนนี้ยังระบาดกันรุนแรงเช่นเดิม…

อย่างที่เคยวิเคราะห์ไปแล้วว่า การระบาดน่าจะซาลงใน 6 – 18 เดิอน หากดูตามข้อมูลการระบาดในอดีตของโรคอื่นๆ

ปัจจัยที่มีอิทธิพลอย่างยิ่งมีเพียง 3 เรื่องคือ

หนึ่ง ไวรัสจะกลายพันธุ์ไปเป็นตัวที่ร้ายกว่านี้ไหม ทั้งในแง่การแพร่เร็วขึ้นและรุนแรงทำให้ตายมากขึ้น? ข้อมูลปัจจุบันคิดว่าไม่น่าจะเป็นเช่นนั้น โอกาสน่าจะมีน้อย ดังนั้นการระบาดจึงน่าจะเป็นไปในลักษณะที่เห็น

สอง ยาและวัคซีน จะวิจัยได้ผลเร็วช้าเพียงใด? หากได้ยามารักษาที่ได้ผลดี หรือวัคซีนที่ป้องกันได้ดี ก็จะคุมได้เร็วขึ้น

สาม คือ ความประพฤติของรัฐ และประชาชนในแต่ละประเทศ ไม่นำความเสี่ยงเพิ่มเข้ามาสู่ประเทศ ทำเฉพาะเท่าที่จำเป็น ประคับประคองตัวให้พอหายใจไปได้ตลอดรอดฝั่ง อดทน อดกลั้น อดออม พอเพียง ยืนบนขาตนเอง ลดการพึ่งพา และป้องกันตัวเองและครอบครัวเสมอ รีบตรวจรักษาหากไม่สบาย

หากพิจารณาดีๆ จะพบว่า ปัจจัยแรกเราคงไปควบคุมไวรัสไม่ได้ ปัจจัยที่สอง ก็เป็นไปตามเวลาที่ควรจะเป็น แต่ส่วนตัวแล้วเชื่อว่าวัคซีนป้องกันที่จะได้นั้นอาจมีประสิทธิภาพเพียงระดับหนึ่ง ไม่มากนัก และจำเป็นต้องอาศัยเรื่องอื่นๆ เช่น ยา และการประพฤติปฏิบัติมาเป็นมาตรการควบคู่แน่นอน

ส่วนปัจจัยสุดท้าย คือ สิ่งที่รัฐและประชาชนจะทำได้ดีที่สุด อยู่ในวิสัยที่จะจัดการได้ หากทำได้อย่างพร้อมเพรียงต่อเนื่อง ก็จะช่วยให้อยู่รอดปลอดภัย และเป็นแรงหนึ่งในโลกที่จะช่วยคุมโรคระบาด COVID-19 นี้ให้ได้เร็วขึ้น

ยืนยันว่า หากไทยจะไปรอด ต้องระวังเรื่องการนำเข้ามาจากต่างประเทศ อนุญาตให้กลุ่มเป้าหมายต่างๆ เข้ามาเท่าที่จำเป็นอย่างยิ่งยวดเท่านั้น เช่น คนที่แต่งงานกับคนไทย แรงงานที่จำเป็นจริงๆเท่านั้น

ส่วนฟองสบู่ท่องเที่ยวนั้น จำเป็นต้องยุติไปก่อนครับ อย่างน้อยอีก 6 เดือนค่อยพิจารณาสถานการณ์อีกครั้ง ผู้ที่ได้รับผลกระทบจากธุรกิจเหล่านั้นควรได้รับการช่วยเหลือเยียวยา และหาทางประกอบอาชีพอื่นๆ เพื่อเป็นรายได้ทดแทน

รศ.นพ.ธีระ ระบุอีกว่า …การระบาดจะไปจนถึงเมื่อไหร่?… เคยแชร์ความเห็นให้ฟังไปแล้วว่า การระบาดของโรค COVID-19 น่าจะซาลงใน 6-18 เดือนนับจากนี้ เหตุผลหลักคือ จากประวัติศาสตร์ของโรคระบาดทั่วโลกในอดีตจะมีธรรมชาติที่คล้ายกันบ้างไม่มากก็น้อย

ปัจจัยหลักที่จะมีอิทธิพลต่อช่วงเวลาที่จะซาลง ว่าจะสั้น (6) หรือจะยาว (18) นั้นคือ

หนึ่ง “การกลายพันธุ์ของไวรัส” ซึ่งปัจจุบัน D614G มาแทนที่สายพันธุ์เดิมไปแทบทั้งหมด พันธุ์นี้แพร่ได้เร็วขึ้นมาก แต่ความรุนแรงไม่เปลี่ยนแปลง บางประเทศดูจะรายงานว่าตายน้อยลงแต่เชื่อลำบากเพราะความรู้ในการดูแลรักษาก้าวหน้าขึ้นและการตระเตรียมระบบที่พร้อมกว่าเดิมอาจเป็นตัวอธิบายเรื่องการตายของเค้าที่ลดลง

ดังนั้นหากไม่มีปรากฏการณ์กลายพันธุ์เป็นไวรัสอสูรตัวใหม่ที่ทั้งเร็วขึ้นแรงขึ้น ลักษณะการระบาดของโรคน่าจะไม่ต่างไปจากนี้

สอง “เทคโนโลยีทางการแพทย์ เช่น ยารักษา และวัคซีนป้องกัน” หากวิจัยค้นพบยาและวัคซีนได้เร็ว ก็มีโอกาสคุมได้เร็วขึ้น

แต่ปัจจัยสุดท้ายที่สำคัญที่สุดคือ “ความประพฤติของรัฐ และประชาชนในแต่ละประเทศ”

หากรู้เท่าทัน มีวินัย รักตัวเองและครอบครัว ช่วยกันป้องกันตัว “ใส่หน้ากาก – ล้างมือบ่อยๆ – อยู่ห่างคนอื่นหนึ่งเมตร – พูดน้อยลง – พบปะกันน้อยลงสั้นลง – เลี่ยงที่แออัดที่ชุมนุมที่อโคจร – คอยสังเกตอาการ ไม่สบายรีบไปตรวจรักษา” ก็จะลดการระบาด และทำให้สงครามสิ้นสุดได้เร็ว

และรัฐต้องไม่ดำเนินนโยบายที่นำโดยกิเลส ควรฝังกลบ “ฟองสบู่ท่องเที่ยว” ที่อาจเป็นเหตุนำสู่หายนะ และควรน้อมรับปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้อย่างเต็มที่ เน้นอดทน อดกลั้น อดออม พอเพียง ยืนบนขาตนเอง ลดการพึ่งพาต่างชาติ…

ที่เล่ามานั้น สอดคล้องกับข่าวเมื่อวานที่ผอ.องค์การอนามัยโลกออกมาคาดว่าการระบาดอาจสิ้นสุดภายในสองปี ผมคาดประมาณที่ 6-18 เดือนจะซาลง หากทุกคนช่วยกันครับ…

ประเทศไทยต้องทำได้
ด้วยรักต่อทุกคน
สวัสดีวันเสาร์
รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์
คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
22 สิงหาคม 2563

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo
Siree Osiri OHO BANGKOK