Politics

โรงเรียนราชินี: ยังไม่ทันถึงมือผู้ปกครอง นักเรียนฉีก ‘หนังสือเห็นต่างเชิญลาออก’

“หนังสือเห็นต่างเชิญลาออก” จาก โรงเรียนราชินี ยังไม่ทันถึงมือผู้ปกครอง นักเรียนฉีกทิ้งตั้งแต่ยังไม่พ้นรั้วโรงเรียน ด้าน “มาแตร์ฯ” สยบข่าวห้ามแสดงออกทางการเมือง

จากกรณีที่โรงเรียนราชินี เขตพระนคร กรุงเทพฯ ออกหนังสือถึงผู้ปกครอง ขอให้ลงชื่อในหนังสือเรื่อง “การเรียกร้องทางการเมืองโดยอ้างประชาธิปไตย” เพื่อให้ผู้ปกครองดูแลนักเรียนไม่ให้ก้าวล่าวงสถาบันและกระทำการใดๆ ที่ขัดต่อระเบียบโรงเรียนขณะเคารพธงชาติหรือการข่มขู่นักเรียนอื่น

ถ้าหากนักเรียนฝ่าฝืน จะถูกลงโทษตามกฎระเบียบและหากเป็นเรื่องทางกฎหมาย โรงเรียนอาจไม่ปกป้องนักเรียนจากการถูกดำเนินคดีนั้น

โรงเรียนราชินี

ล่าสุดบนโลกทวิตเตอร์ ได้มีการแชร์คลิปนักเรียนโรงเรียนราชินีบางคน ที่ได้ฉีกหนังสือดังกล่าวทิ้งตั้งแต่อยู่ในโรงเรียน

หนังสือเห็นต่างเชิญลาออก “โรงเรียนราชินี” ฉบับเต็ม

สำหรับหนังสือเรื่อง “การเรียกร้องทางการเมืองโดยอ้างประชาธิปไตย” ของโรงเรียนราชินี มีเนื้อหาทั้งหมดดังนี้

ตามที่ผู้ปกครองทราบกันดีว่า ในขณะนี้มีการเรียกร้องทางการเมืองโดยอ้างประชาธิปไตย โดยนักเรียน นิสิต นักศึกษา และมีนักเรียนบางคนของโรงเรียนเข้าร่วมด้วย ทางโรงเรียนจึงขอชี้แจงดังนี้ สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ ได้พระราชทานกำเนิดโรงเรียนราชินี เมื่อพุทธศักราช 2447 เพื่อให้กุลสตรีไทยได้มีโอกาสศึกษาเล่าเรียน และเจ้านายหลายพระองค์ในราชวงศ์จักรีได้ทรงอุปถัมภ์โรงเรียนตลอดมา นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณและพระกรุณาธิคุณอย่างหาที่สุดมิได้

ในปัจจุบัน โรงเรียนราชีนีจัดการเรียนการสอนโดยยืดมั่นในสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ ตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ พื้นที่โรงเรียนไม่เคยใช้ในทางการเมือง และไม่อนุญาตให้กลุ่มบุคคลหรือคณะบุคคลใดมาใช้พื้นที่ โดยผ่านนักเรียนหรือนักเรียนเก่า ไม่ว่าจะอ้างว่าเป็นขบวนการประชาธิปไตย หรือขบวนการอื่นใดในทางการเมือง เพราะโรงเรียนต้องวางตัวเป็นกลาง

ปรากฏว่า ในช่วงเวลานี้ มีนักเรียนหลายคน พยายามที่จะใช้พื้นที่โรงเรียนเพื่อประเด็นในทางการเมือง โดยมีความฝักใฝ่ขบวนการทางการเมืองนอกโรงเรียน เพื่อให้มีการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง ในลักษณะที่เสี่ยงต่อความผิดทางกฎหมาย และสร้างความไม่สงบภายในโรงเรียน

ซึ่งโรงเรียน ได้เปิดโอกาสให้นักเรียน มีสิทธิและเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นตามสมควร ภายในกรอบของกฎหมาย และต้องอยู่ในกฎระเบียบของโรงเรียน ซึ่งต้องไม่กระทบการเรียนการสอน และสร้างความเดือดร้อนรำคาญหรือก่อความแตกแยก ความเกรงกลัวในหมู่นักเรียนด้วยกัน และผู้อำนวยการยังเปิดโอกาสให้นักเรียนมัธยมศึกษาทุกชั้นพูดคุยด้วย และแสดงความคิดเห็น ซึ่งน่าจะเป็นเรื่องที่เข้าใจกันทุกคน

ราชินี ประกาศ218

แต่ปรากฏว่า นักเรียนกลุ่มดังกล่าว กลับกระทำการที่ไม่เป็นหลักของประชาธิปไตย ใช้วิธีข่มขู่นักเรียนอื่นที่เห็นต่าง (Bully) จึงเกิดความหวาดกลัวในหมู่นักเรียน และความเป็นห่วงของผู้ปครองนักเรียนเหล่านั้น และที่สำคัญก้าวล่วงสถาบันหลักของประเทศ นำชื่อของโรงเรียนไปใช้ให้เกิดความเสียหาย ทำให้สังคมทั่วไปเข้าใจว่า โรงเรียนราชินีสนับสนุนการไม่มีสถาบันพระมหากษัตริย์อันขัดต่อจุดยืนของโรงเรียน

ดังนั้น เพื่อธำรงไว้ซึ่งเกียรติภูมิของโรงเรียนราชินี ทางโรงเรียนจึงขอใช้ “สิทธิ์ของโรงเรียน” ไม่อนุญาตให้นักเรียนก้าวล่วงสถาบันพระมหากษัตริย์ และกระทำการใดๆ ที่ขัดต่อระเบียบของโรงเรียน ไม่ว่าจะเป็นระเบียบการเคารพธงชาติ และการข่มขู่นักเรียนอื่น ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป

หากนักเรียนฝ่าฝืน โรงเรียนจะต้องลงโทษตามกฎระเบียบ และหากเป็นเรื่องผิดกฎหมาย โรงเรียนไม่อาจปกป้องนักเรียนจากการถูกดำเนินคดี หรือถูกเจ้าหน้าที่เข้ามาจัดการตามกฎหมายได้

จึงเรียนมาเพื่อทราบ ขอให้ผู้ปกครองดูแลนักเรียนอย่างใกล้ชิด และโรงเรียนพร้อมจะให้ความร่วมมือกับผู้ปกครองในการดูแลอบรมนักเรียนดังที่เคยปฏิบัติเสมอมา หากผู้ปกครองคนใดไม่พอใจเรื่องที่โรงเรียนแจ้งนี้ โรงเรียนยอมรับ “สิทธิ์ของผู้ปกครอง” ที่จะนำนักเรียนลาออกไปเรียนที่โรงเรียนอื่น

โรงเรียนราชินี

“มาแตร์ฯ” สยบข่าวห้ามนักเรียนแสดงออก

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นอกจาก โรงเรียนราชินี แล้ว ยังมีกระแสข่าวว่า โรงเรียนมาแตร์เดอีวิทยาลัย ซึ่งเป็นโรงเรียนเอกชนหญิงล้วนชื่อดังใจกลางกรุงเทพฯ ได้สั่งห้ามนักเรียนแสดงออกทางการเมืองด้วย

อย่างไรก็ตาม ล่าสุดโรงเรียนมาแตร์เดอีวิทยาลัยได้ออกมาปฏิเสธเรื่องดังกล่าว

“ตามที่มีข้อความต่างๆ ปรากฎอยู่ในสื่อออนไลน์ เช่น “โรงเรียนจะไม่อนุญาตให้เด็กชู 3 นิ้วและถ้าไม่พอใจให้พาผู้ปกครองมาลาออกได้” และอื่นๆ ก่อนหน้านั้น ขอเรียนว่าทุกข้อความมิได้เป็นของโรงเรียน ประกาศ ณ วันที่ 21 สิงหาคม 2563”

มาแตเดอีย์

“กระทรวงศึกษาฯ” เพิ่งร่อนหนังสือเปิดพื้นที่แสดงออก

ทั้งนี้ ในวันที่ 20 สิงหาคม 2563 ที่ผ่านมา กระทรวงศึกษาธิการโดย น.ส.ดุริยา อมตวิวัฒน์ รองปลัดกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ในฐานะรักษาราชการแทนปลัดกระทรวงศึกษาธิการ เพิ่งลงนามในหนังสือด่วนที่สุด ลงวันที่ 20 สิงหาคม 2563 เรื่อง การเปิดรับฟังความเห็นของนักเรียน นักศึกษา เพื่อส่งเสริมสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น ตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560

หนังสือดังกล่าวขอให้ทุกส่วนราชการ แจ้งหน่วยงานและสถานศึกษาในสังกัดและในกำกับ ดำเนินการตามแนวทางการเปิดรับฟังความเห็นของนักเรียน นักศึกษา ในประเด็นที่เกี่ยวกับ “การพัฒนาระบบการศึกษาและการเมือง”

528841

เนื่องจากสถานการณ์ในปัจจุบัน กิจกรรมการแสดงความคิดเห็นในประเด็นที่เกี่ยวกับการพัฒนาระบบการศึกษา อาทิ หลักสูตรการเรียนการสอน เครื่องแบบนักเรียน และทรงผมนักเรียนและการแสดงออกทางการเมืองของนักเรียน นักศึกษา มีการรวมกลุ่มในหลายระดับและขยายตัวในวงกว้างมากขึ้น

ทั้งนี้ การแสดงความคิดเห็นของนักเรียน นักศึกษา ถือว่าสามารถทำได้ โดยเป็นไปตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 กระทรวงศึกษาธิการจึงเห็นควรให้สถานศึกษาในสังกัดและในกำกับ กระทรวงศึกษาธิการ เปิดรับฟังความเห็นของนักเรียน นักศึกษา ในประเด็นที่เกี่ยวกับการพัฒนา ระบบการศึกษาและการเมือง

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo