Business

สภาอุตฯ ชงรัฐขยายมาตรการช่วย SMEs ยาวยันสิ้นปี เร่งรัฐลงทุน

ชงรัฐขยายมาตรการช่วย SMEs เร่งเบิกจ่ายงบลงทุนภาครัฐ ฟื้นเศรษฐกิจไทย ส.อ.ท. ชี้ ดัชนีอุตฯ กระเตื้องขึ้นต่อเนื่องเดือนที่ 3 หลังคลายล็อกดาวน์

นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธาน สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า ส.อ.ท. ได้จัดทำข้อเสนอแนะต่อภาครัฐ 2 เรื่อง ได้แก่ 1. ชงรัฐขยายระยะมาตรการช่วย SMEs ออกไปจนถึงสิ้นปี 2563 เช่น การพักหนี้ ลดเงินนำส่งประกันสังคม เพื่อช่วยเสริมสภาพคล่องให้กับผู้ประกอบการ และ 2. เร่งเบิกจ่ายงบประมาณภาครัฐ โดยเฉพาะโครงการลงทุนของภาครัฐ เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจในประเทศ

Stocks ๒๐๐๘๒๐

ทั้งนี้ จากผลการสำรวจ ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรม ในเดือนกรกฎาคม 2563 อยู่ที่ระดับ 82.5 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากระดับ 80.0 ในเดือนมิถุนายน 2563 โดยเป็นการปรับตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง เป็นเดือนที่ 3

การฟื้นตัวของภาคการผลิต มีทิศทางที่ดีขึ้น โดยมีปัจจัยบวก จากการที่รัฐบาล ผ่อนปรนมาตรการล็อกดาวน์ ทำให้กิจการต่างๆ กลับมาดำเนินการได้มากขึ้น ส่งผลให้ความต้องการใช้ สินค้าอุตสาหกรรม เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้า เช่น เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ เครื่องนุ่งห่ม สินค้าวัสดุก่อสร้าง

ขณะที่ผู้ประกอบการเอง ก็จัดกิจกรรมส่งเสริมการขาย เพื่อกระตุ้นการใช้จ่ายในประเทศ เช่น งาน Motor Show และโปรโมชั่น Mid Year Sale เป็นต้น ซึ่งทำให้เป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจและกำลังซื้อ ได้อีกทางหนึ่ง

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าดัชนีความเชื่อมั่นฯ จะเพิ่มขึ้น แต่ยังต่ำกว่าระดับ 100 และยังต่ำกว่าก่อน การระบาดของไวรัสโควิด-19 โดยผู้ประกอบการยังมีความกังวลต่อสภาพคล่อง และการเข้าถึงสินเชื่อ รวมทั้งการฟื้นตัวของภาคการส่งออก และหวั่นการกลับมาระบาดรอบสองของไวรัสโควิด-19 ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อการดำเนินกิจการภาคอุตสาหกรรมล

สุพันธุ์ มงคลสุธี
สุพันธุ์ มงคลสุธี

ในส่วนของดัชนีความเชื่อมั่นฯ คาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้า อยู่ที่ระดับ 93.0 โดยเพิ่มขึ้นจาก 90.1 ในเดือนมิถุนายน 2563 โดยความเชื่อมั่นปรับตัวดีขึ้น ทุกองค์ประกอบ ซึ่งผู้ประกอบการมองว่า ภาคการผลิต เริ่มมีสัญญาณการปรับตัวดีขึ้น หากไม่มีการระบาดของไวรัสโควิด-19 รอบสอง จะทำให้ผู้ประกอบการดำเนินกิจการต่อไปได้

“การที่ค่าดัชนีฯ ยังต่ำกว่าระดับ 100 สะท้อนว่าความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการในอนาคตยังต่ำกว่าระดับปกติ เนื่องจากยังมีปัจจัยกังวลเกี่ยวกับเศรษฐกิจในประเทศและต่างประเทศรวมทั้งปัญหาความตึงเครียดระหว่างสหรัฐฯ และจีน”นายสุพันธุ์ กล่าว

ขณะเดียวกัน จากการสำรวจผู้ประกอบการ 1,211 ราย ครอบคลุม 45 กลุ่มอุตสาหกรรมทั่วประเทศในเดือนกรกฎาคม 2563 พบว่า ปัจจัยที่ส่งผลให้ผู้ประกอบการมีความกังวลเพิ่มขึ้น ได้แก่ สถานการณ์ทางการเมืองในประเทศ ร้อยละ 51.8, ราคาน้ำมัน ร้อยละ 38.0 และอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ ร้อยละ 22.0 ตามลำดับ

ส่วนปัจจัยที่ส่งผลให้ผู้ประกอบการมีความกังวลลดลง คือ สภาวะเศรษฐกิจโลก ร้อยละ 67.9 และอัตราแลกเปลี่ยน (มุมมองผู้ส่งออก) โดยอัตราแลกเปลี่ยนอ้างอิงค่าเงินบาทเทียบกับดอลลาร์สหรัฐฯ ร้อยละ 44.3

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo