Business

บสย. สวมบทบาท ‘นายธนาคารข้างถนน’ ลุยค้ำประกันสินเชื่อ สนองมติ ครม.

บสย. สวมบทบาท “นายธนาคารข้างถนน” รับมติ ครม. ปลดล็อก ค้ำประกันสินเชื่อ หนุนวงเงินค้ำ 57,000 ล้าน เผย 7 เดือน ค้ำประกันแล้ว 115,149 ล้าน

ดร.รักษ์ วรกิจโภคาทร กรรมการและผู้จัดการทั่วไป บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) เปิดเผยว่า บสย. พร้อม สวมบทบาท “นายธนาคารข้างถนน” เพื่อเป็นเพื่อนแท้ SMEs และคนตัวเล็กที่เข้าถึงง่าย ไร้ข้อจำกัด พร้อมยืนเคียงข้างกลุ่มอาชีพอิสระ ผู้ประกอบการทุกขนาด ให้ผ่านวิกฤติไปด้วยกัน

บสย. สวมบทบาท 'นายธนาคารข้างถนน'

ทั้งนี้ ในสถานการณ์เศรษฐกิจ และปัจจัยลบรอบด้าน จากสถานการณ์ โควิด-19 ส่งผลให้ตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ไตรมาส 2 ปี 2563 ระหว่างเดือน เมษายน-มีนาคม 2563 ติดลบ 12.2% และการคาดการณ์ว่า GDP ประเทศไทยทั้งปี 2563 จะติดลบในระดับ 7.5%

สำหรับการประชุมคณะรัฐมนตรี วานนี้ (18 ส.ค.) มีมติเห็นชอบ การทบทวนมติคณะรัฐมนตรี และเสนอมาตรการช่วยเหลือ SMEs เพิ่มเติม ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ เพื่อแก้ไขปัญหาข้อติดขัด ในการดำเนินโครงการ เพื่อให้ผู้ประกอบการ SMEs มีสภาพคล่อง สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ทั่วถึง และเพียงพอ 3 โครงการ ได้แก่

1. โครงการค้ำประกันสินเชื่อ PGS Soft Loan พลัส วงเงิน 57,000 ล้านบาท สำหรับผู้ประกอบการ SMEs ที่มีคุณสมบัติตาม พ.ร.ก. Soft Loan แต่ยังไม่ได้รับสินเชื่อตาม พ.ร.ก. Soft loan เริ่มค้ำประกันและเก็บค่าธรรมเนียมในต้นปีที่ 3 นับจากวันที่ผู้ประกอบการ SMEs ได้รับสินเชื่อ ค้ำประกันสูงสุดต่อราย 100 ล้านบาท

2. โครงการค้ำประกันสินเชื่อ PGS ระยะที่ 8 หรือ “บสย. SMEs ชีวิตใหม่” วงเงิน 10,000 ล้านบาท สำหรับผู้ประกอบการ SMEs ทั่วไป วงเงินไม่เกิน 20 ล้านต่อรายรวมทุกสถาบันการเงิน ในอัตราค่าธรรมเนียมร้อยละ 1.75 ต่อปี ระยะเวลาค้ำประกัน 10 ปี

3. โครงการค้ำประกันสินเชื่อ Micro Entrepreneur ระยะที่ 3 วงเงิน 15,000 ล้านบาท ซึ่งมติ ครม.อนุมัติขยายเวลา จากเดิมสิ้นสุด วันที่ 23 กรกฎาคม 2563 เป็น สิ้นสุดวันที่ 30 ธันวาคม 2563 ปัจจุบันมีวงเงินคงเหลือ 2,500 ล้านบาท คิดอัตราค่าธรรมเนียมร้อยละ 1 – 2 ต่อปี ระยะเวลาค้ำประกัน 10 ปี

ดร.รักษ์ วรกิจโภคาทร
ดร.รักษ์ วรกิจโภคาทร

โครงการค้ำประกันสินเชื่อจาก บสย. 4 โครงการ

  • โครงการค้ำประกันสินเชื่อ บสย. SMEs พลิกฟื้นท่องเที่ยว วงเงิน 3,700 ล้านบาท ปัจจุบันมีวงเงินคงเหลือ 1,300 ล้านบาท คาดว่าจะช่วยผู้ประกอบการ SMEs 1,400 ราย
  • โครงการค้ำประกันสินเชื่อ Start-up & Innobiz วงเงิน 8,000 ล้านบาท ปัจจุบันมีวงเงินคงเหลือ 3,500 ล้านบาท คาดว่าจะช่วยผู้ประกอบการ SMEs 2,400 ราย
  • โครงการค้ำประกันสินเชื่อ บสย. SMEs ไทยชนะ โครงการที่ บสย. ดำเนินการเอง วงเงิน 20,000 ล้านบาท เพื่อช่วยผู้ประกอบการ SMEs ที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤติโควิด-19 คาดว่าจะช่วยผู้ประกอบการ SMEs ได้ 12,000 ราย
  • โครงการค้ำประกันสินเชื่อ บสย. เพิ่มพูน (Direct Guarantee : DG) วงเงิน 1,200 ล้านบาท ช่วยผู้ประกอบการ SMEs ที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤติโควิด -19 ช่วยผู้ประกอบการ SMEs 240 ราย

ด้านผลการดำเนินงานค้ำประกันสินเชื่อ บสย. ในรอบ 7 เดือน ปี 2563 ระหว่างเดือน มกราคม – กรกฎาคม 2563 ช่วยให้ผู้ประกอบการ SMEs เข้าถึงสินเชื่อได้สูงกว่าเป้าที่ตั้งไว้ โดยมียอดวงเงินอนุมัติค้ำประกันสินเชื่อ 115,149 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 167% เทียบกับระยะเวลาเดียวกันปีก่อน

นอกจากนี้ ยังอนุมัติหนังสือค้ำประกันสินเชื่อ (LG) จำนวน 132,434 ฉบับ เพิ่มขึ้น 223% และช่วยลูกค้าใหม่ได้รับสินเชื่อ จำนวน 98,221 ราย เพิ่มขึ้น 222% ผ่านโครงการค้ำประกันสินเชื่อ PGS8 ตามโครงการย่อยได้แก่ โครงการค้ำประกันสินเชื่อ บสย. SMEs สร้างไทย โครงการค้ำประกันสินเชื่อ บสย. SMEs ดีแน่นอน และ โครงการค้ำประกันสินเชื่อ บสย. SMEs บัญชีเดียว

เดือนมีนาคม-สิงหาคม ค้ำประกัน 117,508 ราย

ขณะที่ในช่วงระหว่าง เดือน มีนาคม – 17 สิงหาคม 2563 ซึ่งเป็นช่วงที่ผู้ประกอบการ SMEs ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 บสย. ยังช่วยผู้ประกอบการ SMEs ค้ำประกันสินเชื่อ ได้จำนวน 117,508 ราย โดยจำแนกลูกค้าตามโครงการต่างๆ ได้แก่

  • โครงการ บสย. SMEs สร้างไทย วงเงิน 49,869 ล้านบาท จำนวน 21,004 ราย
  • โครงการค้ำประกันสินเชื่อ PGS 8 จำนวน 35,694 ล้านบาท จำนวน 13,143 ราย
  • โครงการค้ำประกันสินเชื่อ บสย. SMEs ไทยชนะ ซึ่งเป็นโครงการที่ บสย. ดำเนินการเอง จำนวน 2,601 ล้านบาท จำนวน 406 ราย
  • โครงการค้ำประกันสินเชื่อกลุ่มอาชีพอิสระ ผ่านโครงการค้ำประกันสินเชื่อไมโคร 3 วงเงิน 6,547 ล้านบาท จำนวน 82,955 ราย

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo