General

‘อนุทิน’ ผลักดันนโยบาย ‘คนไทยทุกครอบครัว มีหมอประจำตัว 3 คน’

คนไทยทุกครอบครัว มีหมอประจำตัว 3 คน รมว.สาธารณสุข เร่งพัฒนาระบบสุขภาพปฐมภูมิ ระดับครอบครัวต้องมี หมอประจำบ้าน หมอสาธารณสุข หมอครอบครัว

นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการ กระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่า สธ. ได้เร่งผลักดันนโยบาย “คนไทยทุกครอบครัว มีหมอประจำตัว 3 คน” คือ หมอประจำบ้าน หมอสาธารณสุข และหมอครอบครัว เพื่อดูแล ให้ความรู้ สร้างเสริมสุขภาพ ให้ประชาชนเข้าถึงระบบบริการสาธารณสุข ช่วยลดการเดินทาง และลดความแออัด ของโรงพยาบาลขนาดใหญ่

คนไทยทุกครอบครัว มีหมอประจำตัว 3 คน

นายอนุทิน ยังได้เป็นประธาน เปิดการประชุมระดมสมอง เพื่อบูรณาการงานสาธารณสุขมูลฐาน และระบบสุขภาพปฐมภูมิพร้อมระบุว่า กระทรวงสาธารณสุขมีนโยบายสำคัญอันดับต้น คือ การพัฒนาระบบสุขภาพปฐมภูมิ ส่งเสริมให้ประชาชนมีสุขภาพร่างกายที่แข็งแรง

ทั้งนี้ ได้ระดมความคิด บูรณาการงานสาธารณสุขมูลฐาน และระบบสุขภาพปฐมภูมิ ตามระบบสุขภาพชีวิตวิถีใหม่ (New Normal) เพื่อสร้างความเข้มแข็งระบบสุขภาพภาคประชาชน ตาม พ.ร.บ.ระบบสุขภาพปฐมภูมิ และต่อยอดโครงการ 30 บาทรักษาทุกโรค จึงเกิดเป็นนโยบาย “คนไทยทุกครอบครัวมีหมอประจำตัว 3 คน” โดยได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดีจาก สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) และสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.)

สำหรับนโยบาย “คนไทยทุกครอบครัวมีหมอประจำตัว 3 คน” ได้แก

  • หมอประจำบ้าน (อสม.ระดับหมู่บ้าน) ซึ่ง อสม. 1 คนจะรับผิดชอบ 8-15 หลังคาเรือน
  • หมอสาธารณสุข (เจ้าหน้าที่สาธารณสุข/พยาบาลระดับตำบล) โดยบุคลากรสาธารณสุขระบบปฐมภูมิ (รพ.สต., หน่วยงานสาธารณสุข, เทศบาล, กทม.คลินิกอบอุ่น ฯลฯ) 1 คน รับผิดชอบประชาชน 1,250 คน หรือ 1-3 หมู่บ้าน และจะประสานการทำงานร่วมกับอสม.
อนุทิน
อนุทิน ชาญวีรกูล
  • หมอครอบครัว เป็นแพทย์ที่มีองค์ความรู้หรือจบด้านเวชศาสตร์ครอบครัว รับผิดชอบประชากร 1 คนต่อประชาชน 10,000 คน หรือ 1-3 ตำบล โดยหมอประจำตัวทั้ง 3 จะบูรณาการทำงานร่วมกันในการดูแล ให้ความรู้ ส่งเสริมสุขภาพ ให้ประชาชนในพื้นที่สามารถเข้าถึงระบบบริการสาธารณสุข มีสุขภาพร่างกายที่แข็งแรงและสานต่อแนวทาง “สร้าง นำซ่อม”

การบูรณาการงานสาธารณสุขมูลฐาน และระบบสุขภาพปฐมภูมิ จะช่วยลดความแออัดของโรงพยาบาลระดับจังหวัด การแก้ปัญหา หรือ พัฒนาระบบบริการการรักษา (Care) การสาธารณสุข (Public Health) การจัดการสภาพแวดล้อมและสังคม (Social Determinant of Health : SDH) โดยมีจุดมุ่งหมายให้คนไทยทุกครอบครัว มีคุณภาพชีวิติที่ดี ประชาชนและเจ้าหน้าที่มีความสุขร่วมกัน

ด้าน นายแพทย์สุขุม กาญจนพิมาย ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวเพิ่มเติมว่า ปัจจุบันกระทรวงสาธารณสุข ได้ขึ้นทะเบียนหน่วยบริการปฐมภูมิ หรือเครือข่ายหน่วยบริการปฐมภูมิแล้วกว่า 2,090 แห่งทั่วประเทศ ครอบคลุมประชาชนกว่า 20 ล้านคน และตั้งเป้าขึ้นทะเบียนให้ได้ 6,500 แห่งดูแลประชาชน 60 ล้านคน ภายในปี 2573

นายแพทย์สุขุม กาญจนพิมาย
นายแพทย์สุขุม กาญจนพิมาย

นอกจากนี้ ยังอยู่ระหว่างการจัดทำร่างประกาศ 3 ฉบับ ตามพระราชบัญญัติระบบสุขภาพปฐมภูมิ พ.ศ. 2562 ประกอบด้วย

1. ร่างประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง แต่งตั้งพนักงานเจ้าหน้าที่เพื่อปฏิบัติการตามพระราชบัญญัติระบบสุขภาพปฐมภูมิ พ.ศ. 2562 พ.ศ. …. กำหนดบุคลากรของรัฐเพื่อกำกับติดตามหน่วยบริการให้เป็นไปตามที่พ.ร.บ.กำหนด

2. ร่างประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง การปฏิบัติหน้าที่ของพนักงานเจ้าหน้าที่ตาม พ.ร.บ.ระบบสุขภาพปฐมภูมิ พ.ศ. 2562 พ.ศ. ….เพื่อกำหนดวิธีการทำงาน อาทิ การขอข้อมูลจากเอกสารหรือบุคคล การยึดหรืออายัดเอกสารหรือวัตถุพยาน การถอนการยึดหรืออายัด เป็นต้น

3. ร่างประกาศคณะกรรมการระบบสุขภาพปฐมภูมิ เรื่อง การกำหนดผู้มีสิทธิร้องเรียนต่อผู้บริหารหน่วย บริการปฐมภูมิหรือเครือข่ายหน่วยบริการปฐมภูมิ และแบบหนังสือร้องเรียน พ.ศ. …. กำหนดวิธีการให้ประชาชนสามารถร้องเรียนไปที่ผู้บริหารหน่วยบริการปฐมภูมิหรือเครือข่ายหน่วยบริการปฐมภูมิ เพื่อให้ได้รับการแก้ปัญหาหากไม่ได้รับบริการที่เหมาะสมตามกฎหมาย

คนไทยทุกครอบครัว มีหมอประจำตัว 3 คน

ความคืบหน้าดำเนินงานของอนุกรรมการ 6 คณะ

  • การจัดทำ (ร่าง) แผนพัฒนาระบบสุขภาพปฐมภูมิ (พ.ศ. 2564 – 2568) เพื่อใช้เป็นทิศทางและกรอบในการดำเนินงานพัฒนาระบบสุขภาพปฐมภูมิตามพระราชบัญญัตินี้ ระยะ 1 ปี 3 ปี และ 5 ปี
  • ร่างประกาศคณะกรรมการระบบสุขภาพปฐมภูมิ เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข บริการสุขภาพปฐมภูมิที่บุคคลมีสิทธิได้รับ พ.ศ. ….” ที่กำหนดให้มีรายการ หรือกิจกรรมการให้บริการสุขภาพปฐมภูมิ ตามขอบเขตของบริการสุขภาพปฐมภูมิ ที่บุคคลมีสิทธิได้รับ ตามพระราชบัญญัติระบบสุขภาพปฐมภูมิ พ.ศ. 2562
  • แนวทางการบูรณาการประเมินคุณภาพ และมาตรฐานของหน่วยบริการปฐมภูมิ และเครือข่ายหน่วยบริการปฐมภูมิ
  • การจัดทำต้นแบบระบบยืนยันตัวตนดิจิทัล และ Health Information Exchange (HIE) แพลตฟอร์ม โดย บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) ซึ่งใช้ในการลงทะเบียน การพิสูจน์ตัวตน การยืนยันตัวตน เป็นต้น
  • จัดทำโปรแกรม Private chat ภายใต้ชื่อแอปพลิเคชัน “คุยกับหมอ” โดยร่วมกับ บริษัท ทริปเปิลที บรอดแบนด์ จำกัด (มหาชน) เป็นบริการในโครงการ telehealth สามารถปรึกษาสุขภาพแบบส่วนตัวกับแพทย์เวชศาสตร์ครอบครัว หรือเจ้าหน้าที่สาธารณสุขประจำคลินิกหมอครอบครัว มีระบบความปลอดภัยในการเข้าถึงข้อมูล ประชาชนไม่ต้องเดินทางมายังโรงพยาบาลลดความแออัด เว้นระยะห่างทางสังคม
  • การจัดทำแผนพัฒนา การจัดตั้งหน่วยบริการสุขภาพปฐมภูมิ และเครือข่ายหน่วยบริการปฐมภูมิ ระยะ 10 ปี ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร

ทั้งนี้ หน่วยบริการปฐมภูมิ คือ หน่วยที่ให้บริการสาธารณสุขระดับปฐมภูมิ ในการดูแลสุขภาพประชาชน แบบองค์รวม ผสมผสาน และต่อเนื่อง รูปแบบหน่วยการบริการที่พบมากที่สุขคือ Primary care unit (PCU) ประกอบด้วยโรงพยาบาลชุมชน (รพช.)ที่เป็นโรงพยาบาลแม่ข่าย และโรงพยาบาลโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพชุมชน (รพ.สต.)ที่เป็นโรงพยาบาลลูกข่าย

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo