Environmental Sustainability

‘พลาสติกชีวภาพ’ กำลังเปลี่ยนชีวิตผู้คน ในญี่ปุ่น ชี้ข้อได้เปรียบไทยคว้าโอกาส

พลาสติกชีวภาพ เทรนด์แรงประเทศญี่ปุ่น นำมาใช้แทนพลาสติก ที่กำลังกลายเป็นปัญหาทั่วโลก แนะผู้ประกอบการไทยใช้ข้อได้เปรียบด้านวัตถุดิบรุกตลาด

นายสมเด็จ สุสมบูรณ์ อธิบดี กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กล่าวว่า พลาสติกชีวภาพ ถือเป็นช่องทางทางธุรกิจรูปแบบใหม่สำหรับผู้ประกอบการและนักลงทุนทั่วโลก รวมทั้งผู้ประกอบการจากประเทศไทยเอง ที่ควรจะใช้ข้อได้เปรียบ ทางด้านการมีวัตถุดิบ สำหรับพลาสติกชีวภาพ เป็นจำนวนมาก ไม่ว่าจะเป็นอ้อย ข้าวโพด มันสำปะหลัง ซึ่งมีสัดส่วนการส่งออกและกำลังการผลิตระดับผู้นำโลก จึงมีศักยภาพในการผลิตพลาสติกที่ทำจากพืช (Bio-based plastic)

พลาสติกชีวภาพ

ในช่วงที่ผ่านมา ปัญหาเกี่ยวกับพลาสติก ได้ทวีความรุนแรงขึ้น ทั้งจำนวนที่เพิ่มขึ้นของขยะพลาสติก ที่ไม่ย่อยสลายหรือย่อยสลายยาก น้ำมันที่นำมาใช้ผลิตพลาสติก เป็นทรัพยากรธรรมชาติที่มีโอกาสหมดไป ภาวะโรคร้อน ซึ่งก่อให้เกิดภัยพิบัติทางธรรมชาติไปทั่วโลก รวมทั้งขยะพลาสติกปนเปื้อนในทะเล ซึ่งเพิ่มมากขึ้นตามลำดับ

สำหรับญี่ปุ่น เป็นยักษ์ใหญ่แห่งอุตสาหกรรมพลาสติก ของเอเชียและของโลก และเป็นประเทศ ที่มีปริมาณพลาสติกที่ใช้แล้วทิ้ง (disposable plastic) ต่อคนเป็นอันดับสองของโลก รองจากสหรัฐอเมริกา

หลังจากประเทศจีน ประกาศงดการนำเข้าของเสียพลาสติกจากต่างประเทศในปี 2560 ขณะที่ทั่วโลกเริ่มให้ความสำคัญ กับการแก้ไขปัญหาสภาพนิเวศน์ทางท้องทะเล ที่เกิดจากพลาสติกที่ใช้แล้วทิ้งลงทะเล ก่อให้เกิดกระแสเรียกร้อง การควบคุมพลาสติกที่ใช้แล้วทิ้งมากขึ้น หลายประเทศ เริ่มงดการนำเข้าขยะพลาสติกจากญี่ปุ่น ส่งผลให้ประเทศญี่ปุ่น พยายามอย่างจริงจัง ในการหาแนวทางแก้ไขปัญหา มาตรการหนึ่งคือการนำพลาสติกชีวภาพ (Bioplastics) มาใช้ทดแทน

re 01

ข้อมูลจากสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงโตเกียว รายงานว่า ในปี 2562 ญี่ปุ่นได้ออกกลยุทธ์ สำหรับการหมุนเวียนของทรัพยากร สำหรับผลิตพลาสติก หรือที่ Resource Circulation Strategy for Plastics โดยดำเนินการคัดแยก และการรีไซเคิลขยะ ตามหลักคิด 3R (Reduce, Reuse และ Recycle)

นอกจากนี้ ยังตั้งเป้าหมายดำเนินการด้านต่าง ๆ พร้อมกำหนดปีที่จะต้องทำให้สำเร็จ เช่น การลดปริมาณขยะพลาสติกลงร้อยละ 25 ภายในปี 2573 หรือนำขยะพลาสติกมาใช้ใหม่ได้100% ภายในปี 2578 เป็นต้น พร้อมเพิ่มการใช้ทรัพยากรที่ใช้แล้ว สามารถทดแทนได้ (Renewable Resource) ในซูเปอร์มาร์เก็ตหรือร้านค้า ที่ห้ามการให้ถุงพลาสติกฟรีกับลูกค้า และให้เก็บเงิน หากลูกค้าที่ต้องการให้ใส่ถุงพลาสติกด้วย

ปัจจุบัน มีสินค้าพลาสติกชีวภาพ อยู่ในชีวิตประจำวันของผู้คนทั่วไป ประกอบกับภาคเอกชน ที่ดำเนินธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการใช้พลาสติก หรือการผลิตพลาสติก เข้ามามีส่วนร่วม ในการนำเสนอนวัตกรรม เพื่อลดปัญหาขยะพลาสติกด้วย ตั้งแต่วัสดุในภาคเกษตร เช่น ตาข่ายกันดิน คลุมพืช ถุงขยะทิ้งเศษเหลืออาหาร บรรจุภัณฑ์สำหรับอาหารและเครื่องดื่ม สิ่งทอ อุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้า อุปกรณ์เครื่องใช้สำนักงาน ชิ้นส่วน-อุปกรณ์ในรถยนต์

Bioplastics

ยิ่งเมื่อมี โควิด-19 ญี่ปุ่นก็เป็นอีกหนึ่งประเทศ ที่ธุรกิจอาหารและสินค้าเดลิเวอรี่ (Delivery) เติบโตขึ้นเป็นอย่างมาก แน่นอนว่าส่งผลให้ สินค้าในกลุ่มบรรจุภัณฑ์ ก็เติบโตตามไปด้วยเช่นกัน

ขณะเดียวกัน บริษัทใน อุตสาหกรรมอาหารเครื่องดื่ม และอุตสาหกรรมการผลิตที่เกี่ยวข้องของญี่ปุ่น ได้ออกนโยบายบริษัท ในการควบคุมการใช้พลาสติก ให้สอดคล้องกับนโยบายภาครัฐ อาจส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการไทย ที่อยู่ในห่วงโซ่การผลิตพลาสติก รวมถึง ธุรกิจอาหารเครื่องดื่มของไทย ที่ส่งออกไปญี่ปุ่น อาจจะได้รับผลกระทบ ด้านการส่งออกในระยะยาวเช่นกัน หากยังใช้พลาสติก ที่ทำจากปิโตรเลียมอยู่

ดังนั้น นอกจากการส่งเสริมของภาครัฐ ให้ผู้ประกอบหันมาผลิตพลาสติกชีวภาพมากขึ้นแล้ว ผู้ส่งออกในปัจจุบัน อาจต้องพิจารณาปรับตัว และวางแผนกลยุทธ์ปรับเปลี่ยนการดำเนินงานในระยะยาว โดยเฉพาะการให้ความสนใจ ในด้านนวัตกรรมการผลิต ที่ เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ดีไซน์ที่สวยงาม ตอบสนองความต้องการของประเทศผู้ซื้อ และรักษาขีดความสามารถ ในการแข่งขัน รวมทั้งส่วนแบ่งการตลาดในปัจจุบัน ให้ยั่งยืนต่อไป

พลาสติกชีวภาพ

ขณะที่ กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ พร้อมให้การสนับสนุน และส่งเสริมสินค้าไลฟ์สไตล์ชีวภาพ เพื่อการส่งออก ถือเป็นการ สร้างมูลค่าเพิ่มผลิตภัณฑ์ ภายใต้แนวคิด เศรษฐกิจชีวภาพ และเศรษฐกิจหมุนเวียน ด้วยการประยุกต์ใช้เทคโนโลยี นวัตกรรม และความคิดสร้างสรรค์ ในการต่อยอดวงจรชีวิตของผลิตภัณฑ์

ทั้งนี้ เพื่อให้เกิดการใช้ทรัพยากร อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด ปราศจากของเสียและมลพิษ ในกระบวนการผลิต และมีดีไซน์ที่ทันสมัย เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ตรงกับความต้องการของตลาดโลก เพราะขณะนี้สิ่งแวดล้อมไม่ได้เป็นแค่เทรนด์ แต่เป็นความตระหนักในจิตสำนึกของผู้บริโภค ที่จะเปลี่ยนวิถีการเลือกใช้ผลิตภัณฑ์ และสินค้าในชีวิตประจำวันต่อไปในอนาคต

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo