Economics

3 กลไกความร่วมมือ จุดกระแสเกษตรยั่งยืนทะลุเป้า

อ.ยักษ์ 1
วิวัฒน์ ศัลยกำธร

ไม่รอคำตอบว่าจะแบนสารเคมีกำจัดศัตรูพืชทั้ง 3 ชนิด พาราควอต ไกลโฟเซต และ คลอร์ไพริฟอสได้จริงๆเมื่อไหร่ สำหรับผมไม่เฉพาะ 3 ชนิดเท่านั้น ต้องเลิกใช้สารเคมีทุกชนิดในการทำเกษตร ตอนนี้หลายพื้นที่ทำไปแล้ว แต่หากแบนได้จริง ก็ช่วยทำให้การขับเคลื่อนเกษตรกรรรมยั่งยืนเร็วขึ้น’”

นายวิวัฒน์ ศัลยกำธร  ‘อาจารย์ยักษ์’ ที่วงการเกษตรกรรมยั่งยืนเรียกขาน ในฐานะแกนนำขับเคลื่อนเรื่องนี้มากกว่า 30 ปี บอกอย่างนั้น และวันนี้การเป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ทำให้การขับเคลื่อนเรื่องเกษตรกรรมยั่งยืน มี “เครื่องมือ” เพิ่มในมือ ที่จะทำให้การเลิกใช้สารเคมีอันตรายเป็นจริง และให้การทำเกษตรปลอดสารเคมีขยายวงกว้างไปทั่วประเทศ

3 กลไกที่กำลังทำงานเรื่องนี้อย่างเป็นทางการ

  1. คณะกรรมการเกษตรอินทรีย์แห่งชาติ ที่มีนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน ที่ได้ตั้งคณะอนุกรรมการภายใต้กระทรวงเกษตรฯมาทำงานเรื่องนี้ ที่เขาเป็นประธานทำงานร่วมกับหลายๆกระทรวง
  2. คณะกรรมการเกษตรยั่งยืน
  3. 3.คณะกรรมการพัฒนาที่ดิน ในกระทรวงเกษตรฯ ที่เขาเป็นประธานทั้งสองคณะ

อาจารย์ยักษ์ อธิบายว่า เกษตรกรรมยั่งยืนที่จะเดินไปนั้น ครอบคลุมทั้ง เกษตรธรรมชาติ เกษตรอินทรีย์ เกษตรทฤษฎีใหม่ เกษตรผสมผสาน วนเกษตร และอื่นๆ อาทิ พุทธเกษตร สวนสมรม เป็นต้น โดยจะให้แต่ละพื้นที่เลือกตามบริบท และตามความเหมาะสม แต่หากจะทำให้เป็นพื้นที่ปลอดสารเคมีทุกชนิดต้องทำตามหลักการ ‘เกษตรธรรมชาติ และเกษตรอินทรีย์’

‘แม้จะมาเป็นรัฐมนตรีก็ยังยึดหลัก Soft Power ไม่ต้องการใช้อำนาจไปสั่งการ เพราะไม่ได้ผล สู้ทำงานผ่านกลไกความร่วมมือจะไปได้ยาวกว่า ’

33401189 1944018468989067 6486470785371209728 n

เน้นจับมือมากกว่าสั่งการ

ที่ผ่านมาเขาจึงมุ่งเน้น “การประสานงานและจับมือกับภาคส่วนต่างๆ”  กับ กระทรวงสาธารณสุข เพื่อให้การประกาศให้โรงพยาบาลสังกัดกระทรวงสาธารณสุขทั่วประเทศมากกว่า 10,000 แห่งต้องมีอาหารปลอดภัยให้บุคลากรในโรงพยาบาลและคนไข้ 100% เกิดผลในทางปฏิบัติ ซึ่งตลาดนี้มีผู้บริโภครองรับกว่า 7 ล้านคน

ร่วมมือกับกระทรวงศึกษาธิการ รองรับการป้อนอาหารปลอดภัยในโรงเรียนทั่วประเทศ 35,000 โรง มีผู้บริโภครองรับกว่า 12.5 ล้านคน กับกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา เพื่อดึงนักท่องเที่ยวเข้ามาในไทย โดยใช้อาหารปลอดภัยเป็นจุดดึงดูด มีตลาดรองรับทั่วโลกกว่า 35 ล้านคน

และกับกระทรวงมหาดไทย เพื่อให้พื้นที่เกษตรกรรมของจังหวัดต่างๆทั่วประเทศเป็นเกษตรยั่งยืน โดยขณะนี้ผู้ว่าราชการจังหวัด 56 จังหวัดกำลังทำประชาคมในพื้นที่เพื่อผลักดัน แต่จะนำร่องใน 3 จังหวัดหลักก่อน ประกอบด้วย ยโสธร อุบลราชธานี อำนาจเจริญ ศรีสะเกษ รวม 1 ล้านไร่ ซึ่งจะมีการประกาศต่อสาธารณะในเร็วๆนี้

อาจารย์ยักษ์ บอกอย่างสบายใจว่า ‘ง่าย’ เพราะทั้ง 4 จังหวัดนี้ทำเรื่องเกษตรกรรมยั่งยืนอยู่แล้วจนได้รับการยอมรับจากผู้บริโภคทั้งในไทยและทั่วโลก มียอดสั่งซื้อสินค้าเกษตรจากนานาประเทศ ซึ่งจะกระตุ้นให้จังหวัดอื่นๆเดินตามแน่นอน

“การขับเคลื่อนเรื่องนี้ต้องไม่สั่งการ แต่ให้จังหวัดเขาไปขับเคลื่อนเอง ซึ่งตอนนี้ผู้ว่าราชการจังหวัดต่างๆมากกว่าครึ่งประเทศเอาด้วยแล้ว เขากำลังประชาคมกับชาวบ้าน เพื่อร่วมกันเลือกให้จังหวัดตัวเองเป็นแบบไหน  เป็นเกษตรอินทรีย์ เกษตรทฤษฎีใหม่ หรือวนเกษตร”

ส่วนมาตรฐานของเกษตรกรรมยั่งยืนนั้น คงไม่ต้องกังวล เขา ย้ำว่าขอให้เอามาตรฐานที่ตลาดต้องการ ในหลายพื้นที่รับรองกันเองโดยชุมชนก็ขายได้ หรือ มาตรฐานที่โรงพยาบาลกำหนดให้เกษตรกรที่ส่งข้าวหรือพืชผักเข้ามาต้องผลิตโดยปลอดสารเคมีอย่างไร  นั่นหมายถึง ไม่ต้องไปมุ่งต้องได้รับการรับรองมาตรฐานขั้นสูง อย่างมาตรฐานของสมาพันธ์เกษตรอินทรีย์นานาชาติ ( IFORM ) เพราะต้องเสียค่าใช้จ่ายสูงมากเกินไป

29103734 1873115432746038 4433571079977692882 n

คาดทะลุเป้า 5 ล้านไร่ปี 2564 

จากการขับเคลื่อนทั้งหมด อาจารย์ยักษ์ มั่นใจว่า พื้นที่เกษตรกรรมยั่งยืนจะเพิ่มเป็น 5 ล้านไร่ภายในปี 2564 ได้แน่นอนตามที่กำหนดในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 (พ.ศ. 2560-2564) เพราะตอนนี้ในหลายหน่วยงาน หรือองค์กรก็กำลังไปสู่การทำเกษตรยั่งยืน แม้แต่ในค่ายทหาร ‘เชื่อว่าจะทะลุเป้าหมายด้วยซ้ำไป’  และจะทำให้ประเทศไทยเป็น ‘แผ่นดินที่สะอาด’ ไม่ใช่แผ่นดินที่เต็มไปด้วยสารเคมี

เขา ไม่กังวลว่า การขับเคลื่อนเรื่องนี้จะติดที่เกษตรกรปรับตัวไม่ได้ เพราะเขามั่นใจว่าเกษตรกรอยากปรับ และพร้อมปรับมาทำเกษตรกรรมยั่งยืน  ส่วนพ่อค้าก็ไม่ติดที่จะเปลี่ยนไปค้าขายสินค้าเกษตรกรรมยั่งยืน เพราะเขาไม่ได้ยึดติดว่าต้องใช้สารเคมีหรือไม่ หลักการของเขาคือ ‘กำไร’ เมื่อเกษตรกรรมยั่งยืนขายได้ ทำกำไรได้ ก็ต้องลงมาเล่นด้วย

หากจะติด อาจารย์ยักษ์ ระบุว่า ก็คงติดที่คนขายสารเคมี และ ส่วนราชการที่ไม่ทำ โดยเฉพาะกรมวิชาการเกษตรและกรมส่งเสริมการเกษตร ซึ่งมีหน้าที่ต้องเข้าไปให้องค์ความรู้กับเกษตรกร ยังคิดแบบเดิมและติดอยู่ในกรอบเดิม ไม่เข้าไปส่งเสริมเกษตรกรเลิกใช้สารเคมีอย่างจริงจัง “หน่วยงานเหล่านี้ชอบบอกว่าทำไม่ได้ แต่ขอให้ไปดูพื้นที่ต่างๆที่ทำเกษตรยั่งยืนแล้ว ซึ่งมีเป็นจำนวนมาก”

เขา ย้ำมาตลอดหลายสิบปี และอีกครั้ง ว่า การทำเกษตรกรรมยั่งยืนในระยะยาวแล้ว ต้นทุนการผลิตจะต่ำลงกว่าเท่าตัว และผลผลิตจะเท่าเดิมหรือสูงกว่า ขณะเดียวกันทำได้ทุกขนาดทุกพื้นที่ ตั้งแต่เล็กไปจนถึงพื้นที่หลายพันไร่ แม้แต่พืชเศรษฐกิจ เช่น อ้อย ที่หลายคนบอกว่า อย่างไรเสียก็ต้องใส่สารเคมี ต้องใช้ยาฆ่าหญ้า ยาฆ่าแมลง แต่บริษัทผู้ผลิตน้ำตาลยักษ์ใหญ่ ก็ปลูกอ้อยอินทรีย์แล้ว เพราะเขาต้องการผลิตน้ำตาลออร์แกนิคราคาสูงที่มีตลาดรองรับทั่วโลก

หากพื้นที่ใดไม่มีองค์ความรู้ก็สามารถเข้าไปหาความรู้ได้ที่ศูนย์เกษตรกรรมยั่งยืนที่มีหลากหลายองค์กรและหน่วยงานดำเนินการในพื้นที่ต่างๆนับร้อยศูนย์ที่พร้อมให้ความรู้

การขับเคลื่อนทั้งหมดจะเชื่อมโยงกับงานพัฒนาดิน ที่รับผิดชอบอีกภารกิจหนึ่ง ซึ่งคงจะได้เห็น การ ‘ประกาศเขตปลอดสารพิษ’ ครั้งแรกตามพ.ร.บ.พัฒนาที่ดิน มาตรา 15 ในไม่ช้า ‘ไม่เคยมีการดำเนินการใดๆ  คราวนี้ทำได้แน่นอน บนความต้องการของท้องถิ่น ไม่ใช่สั่งการ’

23915476 1765443343513248 2717029671741022571 n

ใช้วันดินโลก 5 ธ้นวาคม 2561 จุดพลุ

เขา จะจุดพลุด้วยงาน ‘วันดินโลก’  5 ธันวาคม 2561 ที่องค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) ให้ไทยเป็นเจ้าภาพมอบรางวัล ‘วันดินโลก’ ( World  Soil   Day   Award ) ให้กับผู้ที่มีผลงานโดดเด่นจากทั่วโลกด้านการดูแลดินสร้างอาหารปลอดภัยให้คนทั่งโลก ซึ่งปีนี้ทำเป็นปีแรก เพื่อเทิดพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช  เสริมด้วยการที่ FAO ตั้งศูนย์ความเป็นเลิศด้านการวิจัยดินแห่งภูมิภาคเอเชีย (CESRA)ในไทย

ทั้งหมดจะทำให้ไทยเป็นแผ่นดินที่สะอาด สามารถรักษาความอุดมสมบูรณ์ เป็นพื้นที่ผลิตและสำรองอาหารปลอดภัย 1 ใน 6 ของโลก เพื่อหล่อเลี้ยงประชากรโลกในยามวิกฤต สามารถตอบสนอง ‘มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน’ วิสัยทัศน์ภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี และทำให้แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 ที่จะเพิ่มพื้นที่เกษตรกรรมยั่งยืนทำได้มากกว่าเป้าหมาย 5 ล้านไร่ในปี 2564 รวมถึงทำให้ไทยร่วมกับนานาประเทศบรรลุกรอบเป้าหมายที่ยั่งยืน (SDGs) ข้อ 2 Zero Hunger  เพื่อ ‘ขจัดความหิวโหย ด้วยเกษตรกรรมอย่างยั่งยืน’

ภาพ: เฟซบุ๊ก เพจมูลนิธิกสิกรรมธรรมชาติ

Avatar photo