Business

ดัน อุตสาหกรรม ‘ดิจิทัล คอนเทนต์’ 2.5 หมื่นล้าน สร้างรายได้ ช่วยฟื้นเศรษฐกิจไทย

อุตสาหกรรมดิจิทัล คอนเทนต์ ผนึกภาครัฐ จัดงานใหญ่บนโลกออนไลน์ อวดศักยภาพไทย ดันธุรกิจ 2.5 หมื่นล้าน สร้างรายได้ ร่วมฟื้นเศรษฐกิจ

นายกฤษณ์ ณ ลำเลียง นายก สมาคมดิจิทัลคอนเทนต์ไทย และผู้แทนภาคอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า สมาคมฯ ได้ร่วมกับภาครัฐและความร่วมมือของภาคเอกชน จัดงาน “Bangkok International Digital Content Festival 2020” เพื่อผลักดัน อุตสาหกรรมดิจิทัล คอนเทนต์ ของไทย ให้เติบโตต่อเนื่อง และร่วมขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย

อุตสาหกรรมดิจิทัล คอนเทนต์

สำหรับปีนี้ นับเป็นปีที่ 7 ของการจัดงาน โดยจัดงานภายใต้แนวคิด “VR BIDC” เพื่อให้สอดคล้องกับทิศทางชีวิตวิถีใหม่ (New Normal) ซึ่งเป็นการจัดงานในรูปแบบ ออนไลน์ ครั้งแรก ที่จะทำให้ อุตสาหกรรมดิจิทัล คอนเทนต์ของไทย สามารถเผยแพร่ไปได้ทั่วโลก เพื่อสร้างเครือข่ายให้อุตสาหกรรมดิจิทัล คอนเทนต์ไทย ไปสู่เวทีระดับสากล

การจัดงานครั้งนี้ ได้รับความร่วมมือจาก กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์, สำนักงานส่งเสริมการจัดการประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) หรือ (TCEB), สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัลหรือ (DEPA) และภาคเอกชนทั้ง 5 สมาคมของอุตสาหกรรมดิจิทัล คอนเทนต์ไทย ประกอบด้วย สมาคมดิจิทัลคอนเทนต์ไทย (DCAT) สมาคมผู้ประกอบการแอนิเมชั่นและคอมพิวเตอร์กราฟิกส์ไทย (TACGA) สมาคมอีเลิร์นนิงแห่งประเทศไทย (e-LAT) สมาคมธุรกิจบางกอกเอซีเอ็มซิกกราฟ (BASA) และสมาคมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์เกมไทย (TGA)

ทั้งนี้ เป็นการผนึกความร่วมมือระหว่างภาคอุตสาหกรรมฯและภาครัฐ ที่ได้ร่วมกันผลักดัน ส่งเสริม และบูรณาการ จนโครงการนี้สำเร็จอย่างต่อเนื่อง โดยงานในปีนี้จัดขึ้นระหว่างวันที่ 18 – 23 สิงหาคม 2563 อีกทั้งยังสอดคล้องกับ นโยบายที่รัฐบาล ต้องการผลักดันให้เกิดเศรษฐกิจเชิงสร้างสรรค์ เพื่อกระตุ้นและสร้างเศรษฐกิจประเทศให้แข็งแกร่ง

 

“อุตสาหกรรมดิจิทัล คอนเทนต์ เป็นส่วนหนึ่งและมีความสำคัญ ในการร่วมขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศอย่างมาก ดังที่ประเทศเพื่อนบ้าน อาทิ ญี่ปุ่น เกาหลี จีน ได้ใช้ ธุรกิจดิจิทัล คอนเทนต์ ในการขับเคลื่อนและส่งออก เป็นอุตสาหกรรมที่สร้างมูลค่าให้กับเศรษฐกิจประเทศ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ”นายกฤษณ์ กล่าว

Photo BIDC2020 1

รวมกลุ่มพัฒนาสร้างมูลค่าเพิ่ม

นายกฤษณ์ ยังยกตัวอย่าง คาแรคเตอร์ “คุมามง” ที่สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจ ให้กับจังหวัดคุมาโมโต้ ของประเทศญี่ปุ่น มากกว่า 1.4 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ ส่วนเกม Pokemon ตั้งแต่เริ่มก่อตั้งเมื่อปี 1996 สามารถสร้างรายได้รวมมากกว่า 95,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เป็นต้น

ดังนั้นการรวมตัวของกลุ่มคาแรกเตอร์,เกม, แอนิเมชัน, เวอรชวล แอฟเฟ็ก, อี-เลิร์นนิง และเทคโนโลยีใหม่ (emerging technology) ของไทยนับเป็นการนำความสร้างสรรค์ด้านเอกลักษณ์ไทยและความเป็นสากล ผนวกกับความสามารถของคนไทยในอุตสาหกรรมฯ เพื่อให้เกิดการสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจให้แก่ประเทศ และเสริมแกร่งด้านการแข่งขันกับกลุ่มประเทศเพื่อนบ้านอย่างมีประสิทธิภาพ

สำหรับกิจกรรมสำคัญ ที่เคยจัดขึ้นในรูปแบบออฟไลน์ ได้เปลี่ยนมาจัดในรูปแบบออนไลน์ทั้งหมด ประกอบด้วย

  • การจัดนิทรรศการแบบ Virtual Exhibition ผ่านแพลตฟอร์ม “Mozilla Hub” ที่สามารถสแกน QR code เพื่อร่วมชมผลงานของบริษัท คนไทยทั้งหมดที่มาจัดแสดงได้เสมือนไปชมของจริง
  • การจัด Business Matching ซึ่งเดิมเรา ต้องเชิญแขกจากประเทศต่างๆ มาร่วมจับคู่เจรจา ที่จัดขึ้นในประเทศไทย แต่ในปีนี้รูปแบบการจับคู่เจรจาออนไลน์ (match online) ด้วยแพลตฟอร์ม Deal Room
  • การจัดสัมมนาด้วยระบบ Webinar สนับสนุนโดยสำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) หรือ TCEB โดยได้เชิญวิทยากรระดับโลกในสายงานดิจิทัล คอนเทนต์ มาร่วมแชร์ประสบการณ์ เทคนิค และ การปรับเปลี่ยนต่อสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน

Photo BIDC2020 2

ต่างชาติตอบรับเข้าร่วมงานแล้ว 45 ราย

ด้านนายสมเด็จ สุสมบูรณ์ อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ กล่าวต่อว่า แม้จะปรับเปลี่ยนการจัดงานเป็นรูปแบบออนไลน์ แต่ยังได้รับการตอบรับจากผู้ประกอบการดิจิทัล คอนเทนต์ทั่วโลกเข้าร่วมเจรจาการค้าจำนวน 45 บริษัทจาก 15 ประเทศ อาทิ สหรัฐอเมริกา ฝรั่งเศส โปแลนด์ อาร์เจนตินา ญี่ปุ่น ไต้หวัน อินเดีย และเวียดนาม

นอกจากนี้ ยังมีผู้ประกอบการไทยจำนวน 51 บริษัท ร่วมเจรจาการค้าออนไลน์ครั้งนี้ ประกอบด้วย ผู้ประกอบการแอนิเมชัน 20 ราย คาแรคเตอร์ 12 ราย อี-เลิร์นนิง 7 ราย และเกม 12 ราย

ทั้งนี้ เชื่อมั่นว่า BIDC จะเป็นส่วนสำคัญที่จะประกาศศักยภาพ และความเชื่อมั่นในประเทศไทย ให้กับผู้ประกอบการด้านดิจิทัล คอนเทนต์ทั่วโลก และหวังว่า BIDC จะเป็นอีกหนึ่งเวทีสำคัญระดับนานาชาติ ที่ผู้ประกอบการจากทั่วทุกมุมโลก ให้ความสำคัญ และเข้าร่วมกันทุกปีที่ประเทศไทย

นางหริสุดา บุญยวัฒน์ ผู้อำนวยการฝ่ายพัฒนาการจัดงานเมกะอีเวนท์และเทศกาลนานาชาติ สำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) กล่าวว่า ตั้งแต่เกิดวิกฤติไวรัสระบาด ทีเส็บได้พัฒนาและจัดรูปแบบออกเป็น 3 กิจกรรม ได้แก่ 1. Webinar หรือ การประชุมสัมมนาเสมือนจริงผ่านระบบออนไลน์ 2. O2O (Offline to Online) หรือ การจัดงานแสดงสินค้าผ่านระบบออนไลน์ และ 3. E-Learning Platform หรือศูนย์การเรียนรู้ คอร์สฝึกอบรมออนไลน์สำหรับผู้ประกอบการไมซ์

Photo BIDC2020

ดิจิทัล คอนเทนต์ โตตามพัฒนาการเทคโนโลยีโลก

ขณะที่ นายฉัตรชัย คุณปิติลักษณ์ รองผู้อำนวยการ สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (DEPA) กล่าวว่า อุตสาหกรรมดิจิทัล คอนเทนต์ ประกอบด้วย ธุรกิจด้านเกม แอนิเมชัน คาร์แรคเตอร์ไทย อี-เลิร์นนิง VR&CG และVFX กำลังเติบโตอย่างรวดเร็ว ตามพัฒนาการของเทคโนโลยีโลก และไลฟ์สไตล์ของผู้บริโภค ที่เปลี่ยนแปลงไปอยู่ตลอดเวลา

การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ปัจจุบัน รัฐบาลในหลายประเทศ ต้องการควบคุมการแพร่ระบาดของเชื้อ ส่งผลให้เทคโนโลยี เข้ามามีบทบาทและเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตอย่างที่ปฏิเสธไม่ได้ ประชาชนใช้เทคโนโลยีในชีวิตประจำวันมากยิ่งขึ้น

ในส่วนของอุตสาหกรรมอี-เลิร์นนิงได้รับอานิสงค์ที่ขับเคลื่อนให้กลุ่มนี้มีการขยายตัว เนื่องจากทุกภาคส่วนรวมไปถึงประชาชนมีการปรับตัว และใช้การเรียนการสอน รวมไปถึงการทำงานผ่านรูปแบบ Online Live Streaming มากยิ่งขึ้น จึงถือเป็นโอกาสสำคัญในการพัฒนา และต่อยอดผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ ให้แก่อุตสาหกรรม

“จะเห็นได้ว่าในหลายปีที่ผ่านมาโครงการ Bangkok International Digital Content Festival มีผู้ประกอบการดิจิทัล คอนเทนต์จากต่างประเทศเข้าร่วมมากกว่า 200 บริษัท และผู้เข้าร่วมงานมากกว่า 100,000 คน โดยสร้างมูลค่าการเจรจาธุรกิจให้แก่อุตสาหกรรมดิจิทัล คอนเทนต์ไทยมากกว่า 2,000 ล้านบาท”นายฉัตรชัย กล่าว

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo