Business

สายการบิน ทวงสัญญา รัฐเยียวยาโควิด กู้ดอกเบี้ยต่ำ-ปลดล็อกขายอาหารบนเครื่อง

สายการบิน ทวงสัญญา รัฐเยียวยาโควิด เข้าพบ รมว.คมนาคม ติดปัญหากู้สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ วอนปลดล็อกขายอาหารบนเครื่อง เพิ่มรายได้อีกทาง

ตัวแทนจาก สายการบิน ทวงสัญญา รัฐเยียวยาโควิด ได้แก่ สายการบินไทยสมายล์, ไทยแอร์เอเชีย, ไทยแอร์เอเชียเอ็กซ์, นกแอร์, บางกอกแอร์เวย์ส, ไทยเวียตเจ็ท, และไทยไลอ้อนแอร์ โดยเข้าพบ นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม เพื่อติดตามความคืบหน้า หลังจากยังติดปัญหาหลายเรื่อง

สายการบิน ทวงสัญญา
Airport inThailand

นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า ตัวแทน 7 สายการบินสัญชาติไทย ดังกล่าว ขอให้กระทรวงคมนาคม ช่วยติดตามความคืบหน้าการขอให้รัฐบาลช่วยเยียวยาผู้ประกอบการสายการบิน หลังจากได้รับผลกระทบ จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 อาทิ การขอกู้สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (Soft loan) ซึ่งเบื้องต้นทราบว่ากระทรวงการคลัง ได้มอบให้ธนาคารออมสิน เป็นผู้ดำเนินการ แต่ติดปัญหาการประเมินเรื่องหลักทรัพย์ค้ำประกัน

ดังนั้น จะนำเรื่องการขอกู้สินเชื่อฯ เข้าหารือกับ นายปรีดี ดาวฉาย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ว่าจะสามารถใช้วิธีเปลี่ยนสินทรัพย์เป็นทุน ด้วยการนำใบอนุญาตประกอบการกิจการค้าขาย ในการเดินอากาศใหม่(AOL) ซึ่งเป็นใบอนุญาตฯ ที่ได้รับจาก สำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) แปลงเป็นทุนได้หรือไม่ เพราะถือเป็นใบสำคัญที่สามารถนำมาหารายได้ และนำไปเช่าซื้อเครื่องบินได้

“อยากให้ทุกฝ่ายเดินไปได้ด้วยกัน ไม่อยากให้ผู้ประกอบการไปไม่รอด เพราะหากพิจารณาโครงสร้างของแต่ละสายการบินแล้ว พบว่ายังแข็งแรง และเริ่มกลับมาทำการบินเส้นทางภายในประเทศ และมีผู้โดยสารมาใช้บริการเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง บางสายการบินมีผู้โดยสารภายในประเทศกลับมาแล้ว 80%”นายศักดิ์สยาม กล่าว

ศักดิ์สยาม ชิดชอบ
ศักดิ์สยาม ชิดชอบ

นอกจากนี้ ทางสายการบิน ยังได้ขอขยายเวลา การปรับลดอัตราภาษีสรรพสามิตน้ำมันเชื้อเพลิงเครื่องบิน จาก 4.726 บาท/ลิตร เหลือ 0.20 บาท/ลิตร ซึ่งจะสิ้นสุดสิ้นเดือน ก.ย.นี้ และขอขยายเวลาการลดค่าบริการ ในการขึ้นลงของอากาศยาน(Landing) และ ค่าบริการที่เก็บอากาศยาน (Parking) ในอัตรา 50% ซึ่งจะสิ้นสุดเดือน ธ.ค.นี้ออกไปอีก

พร้อมกันนี้ ยังขอให้ปลดล็อกให้สามารถจำหน่ายอาหาร และเครื่องดื่มบนเครื่องบิน ได้ตามปกติ ซึ่งตนได้ให้ผู้ประกอบการ ไปจัดทำรายละเอียดมาว่า จะมีวิธีการจำหน่ายอาหาร และเครื่องดื่มบนเครื่องบินอย่างไร รวมถึงมาตรการการป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด-19 เพราะเวลานี้เกือบครบ 100 วันแล้ว ที่ไม่มีการแพร่ระบาดภายในประเทศไทย จึงไม่อยากให้มีปัญหาเกิดขึ้น และต้องกลับไปนับหนึ่งใหม่

ผู้ประกอบการสายการบิน ยังได้เสนอให้นำ PCR TEST ซึ่งเป็นระบบตรวจหาโควิด-19 ที่หน่วยงานด้านสาธารณสุขหลายประเทศ ให้การยอมรับ และมีความแม่นยำสูง มาใช้ที่สนามบินในประเทศไทยด้วย โดยหากนายกรัฐมนตรี และกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) เห็นว่าเป็นประโยชน์จริง อาจนำมาทดสอบต่อไป

GettyImages 953031208
Tray of food. The passenger eats food on Board the plane on the background of the window. Meals on the plane. Different sets of food on the folding table.

วันที่ 19 สิงหาคมนี้ จะนำข้อเสนอ ของผู้ประกอบการสายการบิน เสนอต่อที่ประชุม คณะกรรมการบริหารสถานการณ์เศรษฐกิจจากผลกระทบของการระบาดของโควิด-19 ซึ่งมีพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานพิจารณา

ด้านนายจุฬา สุขมานพ ผู้อำนวยการ กพท. กล่าวว่า การห้าม จำหน่ายอาหารและเครื่องดื่ม บนเครื่องบินที่ทำการบินต่ำกว่า 4 ชั่วโมงเป็นไปตามระเบียบขององค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (ICAO) ซึ่ง กพท. ออกประกาศบังคับสายการบินไปแล้วก่อนหน้านี้

แต่ขณะนี้สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 เริ่มดีขึ้น และมีการผ่อนคลายมาตรการต่างๆ มากขึ้น ร้านอาหารก็ขายอาหารตามปกติ ทางสายการบินจึงขอให้ปลดล็อคเรื่องการห้าม จำหน่ายอาหารและเครื่องดื่ม บนเครื่องบิน เเพื่อช่วยเพิ่มรายได้ให้กับสายการบิน และยังเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจในภาพรวม ให้กับประเทศด้วย

หลังจากนี้จะนำเรื่อง การเปิดให้สายการบินสามารถ จำหน่ายอาหารและเครื่องดื่ม บนเครื่องบิน ไปหารือกับสายการบิน และ กระทรวงสาธารณสุขก่อน หากไม่มีปัญหาอะไร คาดว่าจะยกเลิกประกาศ กพท. ฉบับเก่า และออกประกาศ กพท. ฉบับใหม่ เพื่อให้สายการบินเปิด จำหน่ายอาหารและเครื่องดื่ม ได้ เฉพาะสายการบินที่ทำการบินภายในประเทศเท่านั้น ซึ่งคาดว่าจะให้เริ่มได้ตั้งแต่วันที่ 1 กันยายนนี้

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo