World News

จีนจดสิทธิบัตร ‘วัคซีนโควิด-19’ ฉบับแรก ฟุ้ง! สามารถผลิตได้ปริมาณมาก

จีน จดสิทธิบัตร “วัคซีนโควิด-19″ ฉบับแรก พัฒนาโดยทีมวิจัยทหารและบริษัทชีวเภสัชภัณฑ์ ฟุ้ง! สามารถผลิตได้ปริมาณมากในอนาคต

หน่วยงานทรัพย์สินทางปัญญาแห่งชาติจีนได้อนุมัติการจดสิทธิบัตรฉบับแรกของจีน สำหรับวัคซีนโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ (โควิด-19) แล้ว

หนังสือพิมพ์พีเพิลส์เดลี รายงานว่า สิทธิบัตรฉบับนี้เป็นของ “ทีมวิจัยสถาบันวิทยาการทหารและบริษัทแคนซิโน ไบโอโลจิกส์ อิงก์” ซึ่งเป็นบริษัทชีวเภสัชภัณฑ์เทคโนโลยีขั้นสูงของจีน

ทีมวิจัยที่นำโดยเฉินเหว่ย นักวิจัยจากสถาบันการแพทย์ทหาร สังกัดสถาบันวิทยาการทหาร ได้พัฒนาวัคซีนป้องกันโควิด-19 ที่ได้จากการตัดต่อสารพันธุกรรม โดยใช้อะดีโนไวรัสไม่สมบูรณ์ที่ผ่านการดัดแปลงมาเป็นตัวนำพา

ในเดือนมีนาคม 2563 วัคซีนโควิด-19 ดังกล่าวกลายเป็นวัคซีนตัวแรกในประเทศจีนที่ได้รับการอนุมัติให้เข้าสู่การทดลองทางคลินิก

จีน วัคซีนโควิด-19

บทคัดย่อของสิทธิบัตรระบุว่า วัคซีนตัวนี้แสดงให้เห็นถึงการสร้างภูมิคุ้มกันที่ดีทั้งในหนูและหนูตะเภาทดลอง ทั้งยังสามารถกระตุ้นการตอบสนองของระบบภูมิคุ้มกันของเซลล์ กระแสเลือด และกระแสน้ำทั่วร่างกายได้ดีในช่วงเวลาสั้นๆ

ท้ายที่สุดคือมันสามารถถูกผลิตในปริมาณมากได้อย่างรวดเร็วเพื่อรับมือกับการระบาดของโรคโควิด-19

รายงานระบุว่าวัคซีนโควิด-19 ตัวนี้เสร็จสิ้นการทดลองทางคลินิกระยะที่ 1 และระยะที่ 2 แล้ว ซึ่งได้ผ่านการตรวจสอบด้านความปลอดภัยและความสามารถในการสร้างภูมิคุ้มกัน

GettyImages 1222282178

วัคซีนอีกตัว พัฒนาโดย “อู่ฮั่น” ส่งสัญญาณสำเร็จผล

เมื่อเร็วๆ นี้ บทความที่ตีพิมพ์ในวารสารสมาคมการแพทย์แห่งอเมริกาได้เผยข้อมูลจากการทดลองทางคลินิกระบุว่า ผู้เข้ารับการฉีด วัคซีนโควิด-19 ชนิดเชื้อตายที่พัฒนาโดย จีน แสดงให้เห็นถึงความปลอดภัยและเกิดการตอบสนองทางภูมิคุ้มกัน

บทความรายงานผลการวิเคราะห์ขั้นแรกก่อนการวิจัยสิ้นสุดลง ในการทดลองทางคลินิกระยะที่ 1 และระยะที่ 2 ของวัคซีนโรคโควิด -19 ชนิดเชื้อตาย ซึ่งพัฒนาโดย “สถาบันผลิตภัณฑ์ชีวภาพอู่ฮั่น ภายใต้บริษัทกลุ่มเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติจีน (CNBG) ในเครือซิโนฟาร์ม (Sinopharm) และสถาบันไวรัสวิทยาอู่ฮั่น สังกัดสถาบันบัณฑิตวิทยาศาสตร์จีน

การวิจัยดังกล่าวรวบรวมข้อมูลของอาสาสมัครสุขภาพดี 320 คน ที่มีอายุระหว่าง 18-59 ปี โดยมี 96 คนที่เข้าร่วมการทดลองทางคลินิกระยะที่ 1 และ 224 คนเข้าร่วมการทดลองระยะที่ 2

งานวิจัยรายงานระดับภูมิคุ้มกันของแอนติบอดีชนิดลบล้างฤทธิ์ในกลุ่มอาสาสมัคร ซึ่งแยกออกเป็นกลุ่มที่รับวัคซีนในระดับน้อย ปานกลาง และมาก

ผลการวิจัยพบว่า วัคซีนกระตุ้นให้เกิดแอนติบอดีชนิดลบล้างฤทธิ์ในบรรดาอาสาสมัครได้อย่างมีประสิทธิภาพและแสดงให้เห็นถึงการสร้างภูมิคุ้มกันที่ดี อันเกิดจากความสามารถของสารดังกล่าวในการกระตุ้นการตอบสนองของระบบภูมิคุ้มกัน

เอกสารวิจัยยังประเมินความปลอดภัยของวัคซีน โดยรายงานว่า ไม่พบอาการไม่พึงประสงค์จากการรับวัคซีนที่รุนแรง โดยอาการไม่พึงประสงค์ที่พบบ่อยที่สุด คือ ความเจ็บปวดที่เกิดขึ้นบริเวณที่ฉีด รองลงมาคือ อาการไข้ ซึ่งทั้งสองอย่างนี้ไม่รุนแรงและสามารถหายได้เอง

GettyImages 1199162438

อินโดฯ ทุ่มหมื่นล้านผลิต วัคซีนโควิด-19ร่วมกับ จีน

ด้านแอร์ลังกา ฮาร์ตาร์โต รัฐมนตรีประสานงานด้านกิจการเศรษฐกิจของอินโดนีเซีย เผยว่า รัฐบาลอินโดนีเซียได้เตรียมเงินจำนวน 5 ล้านล้านรูเปีย หรือราว 1 หมื่นล้านบาท สำหรับการผลิตวัคซีนป้องกันโควิด-19 ในปี 2563 นี้ ซึ่งขณะนี้ยังอยู่ระหว่างการทดลองทางคลินิก

“รัฐบาลได้ตั้งงบประมาณ 5 ล้านล้านรูเปียไว้สำหรับการผลิต วัคซีนโควิด-19 จำนวน 30-40 ล้านโดส ณ บริษัทพีที ไบโอ ฟาร์มา (PT Bio Farma) ซึ่งเป็นบริษัทผู้ผลิตยาของรัฐ” ฮาร์ตาร์โต กล่าวระหว่างการประชุมออนไลน์กับสมาคมนายจ้างแห่งอินโดนีเซีย (Indonesian Employers Association) เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว พร้อมเสริมว่าเงินทุนในการผลิตวัคซีนครั้งนี้มีแนวโน้มจะสูงราว 40-50 ล้านล้านรูเปีย หรือราว 8 หมื่นล้าน-1 แสนล้านบาท

ทั้งนี้ บริษัทพีที ไบโอ ฟาร์มา 0tร่วมมือกับบริษัทซิโนวัค ไบโอเทค (Sinovac Biotech) ของจีน ดำเนินการทดลองทางคลินิกของวัคซีนตัวดังกล่าว และคาดว่าจะเริ่มดำเนินการผลิตในเดือนตุลาคม 2563 นี้

สำหรับยอดโควิดวันนี้ (18 ส.ค.) นับถึงเวลา 09.00 น. ทั่วโลกมีผู้ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 อยู่ที่ 22,041,304 คน รักษาตัวหายแล้ว รวม 14,783,670 คน และมียอดสะสมผู้เสียชีวิต อยู่ที่ 777,194 ราย

ที่มาสำนักข่าวซินหัว

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo