Business

‘บีโอไอ’ หนุนเอกชน ลงทุนระบบอัตโนมัติ 6 เดือน ยื่นขอลงทุนกว่า 1 หมื่นล้าน

ลงทุนระบบอัตโนมัติ เพิ่มประสิทธิภาพการผลิต บีโอไอ หนุนเอกชนลงทุนระบบอัตโนมัติ เผย 6 เดือนยื่นขอส่งเสริม 88 โครงการมูลค่า 11,020 ล้านบาท

นางสาวดวงใจ อัศวจินตจิตร์ เลขาธิการ คณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน หรือ บีโอไอ เปิดเผยว่า การส่งเสริมการลงทุนของบีโอไอ ไม่ได้มุ่งส่งเสริมเฉพาะโครงการลงทุนใหม่เท่านั้น แต่มีมาตรการส่งเสริมผู้ประกอบการที่ลงทุนอยู่แล้วในด้านการเพิ่มหรือปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิต หรือ ลงทุนระบบอัตโนมัติ ด้วย

ลงทุนระบบอัตโนมัติ

ทั้งนี้ ภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโดยรวม การนำระบบอัตโนมัติ และหุ่นยนต์มาใช้ เพื่อช่วยลดต้นทุนการดำเนินงาน เป็นอีกมาตรการของบีโอไอที่จะช่วย เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน ของผู้ประกอบการไทย เมื่อสถานการณ์คลี่คลาย จะสามารถฟื้นตัวได้อย่างรวดเร็ว

ทั้งนี้ ในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2563 (มกราคม-มิถุนายน) มีโครงการยื่นขอรับการส่งเสริมการลงทุน ตามมาตรการปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิต จำนวนรวม 88 โครงการ เงินลงทุนรวม 11,020 ล้านบาท

ในจำนวนนี้ แบ่งเป็น มาตรการปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิต เพื่อการประหยัดพลังงาน จำนวน 67 โครงการ เงินลงทุน 9,260 ล้านบาท มาตรการปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิต เพื่อการปรับเปลี่ยนเครื่องจักร จำนวน 21 โครงการ เงินลงทุน 1,760 ล้านบาท

ดวงใจ อัศวจินตจิตร์ 1
ดวงใจ อัศวจินตจิตร์

สำหรับ มาตรการปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิต เพื่อการปรับเปลี่ยนเครื่องจักร โดยการนำ ระบบอัตโนมัติ และหุ่นยนต์ เข้ามาใช้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต  บีโอไอ จะให้สิทธิประโยชน์ อาทิ ยกเว้นอากรนำเข้าเครื่องจักร ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล 3 ปี ในสัดส่วนร้อยละ 50 ของเงินลงทุน (ไม่รวมค่าที่ดินและเงินทุนหมุนเวียน)

นอกจากนี้ เพื่อเป็นการสนับสนุน อุตสาหกรรมการผลิตระบบอัตโนมัติ และหุ่นยนต์ในประเทศ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้ประกอบการ เอสเอ็มอี ไทย ในกรณีที่โครงการเลือกใช้ระบบอัตโนมัติ และหุ่นยนต์ ที่มีการเชื่อมโยง หรือ สนับสนุนอุตสาหกรรม การผลิตระบบอัตโนมัติในประเทศ ไม่น้อยกว่าร้อยละ 30 ของมูลค่าระบบอัตโนมัติที่มีการปรับเปลี่ยน จะได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล 3 ปี ในสัดส่วนร้อยละ 100 ของเงินลงทุน (ไม่รวมค่าที่ดินและเงินทุนหมุนเวียน)

ลงทุนระบบอัตโนมัติ

ในส่วนของมาตรการ ส่งเสริมการลงทุน เพื่อปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิต นอกจากจะมีการลงทุน เพื่อปรับเปลี่ยนเครื่องจักรแล้ว ยังมีมาตรการลงทุนเพื่อการประหยัดพลังงาน การลงทุน เพื่อการวิจัยพัฒนา และออกแบบทางวิศวกรรม การลงทุนเพื่อยกระดับอุตสาหกรรมเกษตร ไปสู่มาตรฐานสากล และการลงทุนนำระบบดิจิทัล มาใช้ในกระบวนการผลิตด้วย โดยจะได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล 3 ปี ในสัดส่วนร้อยละ 50 ของเงินลงทุน (ไม่รวมค่าที่ดินและเงินทุนหมุนเวียน)

ยกตัวอย่างบริษัท ศรีบริสุทธิ์ ฟอร์จจิ้ง เทคโนโลยี จำกัด ผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ ที่ได้รับอนุมัติการ ส่งเสริมการลงทุน ตามมาตรการปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิต จากบีโอไอ เมื่อเร็วๆ นี้ นายเฉลิมรัฐ สินบริสุทธิ์ ผู้จัดการทั่วไป กล่าวว่า ในช่วงสถานการณ์โควิดที่เกิดขึ้น บริษัทได้รับผลกระทบพอสมควร จากคำสั่งซื้อที่ลดลง

อย่างไรก็ตาม บริษัทมองว่า ช่วงเวลานี้ เป็นจังหวะที่ดี ในการลงทุนปรับเปลี่ยนเครื่องจักร เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต โดยนำหุ่นยนต์มาใช้ ในขั้นตอนการหยิบชิ้นงาน ช่วยเพิ่มความรวดเร็ว ลดต้นทุนในกระบวนการผลิต และเป็นการเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขัน ประกอบกับมีมาตรการส่งเสริมจากบีโอไอ ทำให้บริษัทได้รับการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล จึงช่วยเพิ่มศักยภาพการดำเนินธุรกิจของบริษัทในอนาคต

GettyImages 1156444985
Engineer or Technician man with business industrial tool icons, enguneer using tablet with industrial business concept. Industry 4.0 concept

“ในอุตสาหกรรมการผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ เราจำเป็นต้องหาทางเพิ่มประสิทธิภาพ และลดต้นทุนการผลิตทุกปี เพื่อให้สามารถแข่งขันได้”นายเฉลิมรัฐ กล่าว

ขณะเดียวกัน ก่อนหน้านี้ บริษัทได้ยื่นขอรับการ ส่งเสริมการลงทุน ตามมาตรการนี้ ในด้านการใช้พลังงานทดแทน ซึ่งสามารถประหยัดค่าไฟฟ้าได้จำนวนมาก จึงมองเห็นถึงสิทธิประโยชน์ที่ได้รับตามมาตรการเหล่านี้ และได้ยื่นขอรับการส่งเสริม ด้านการปรับเปลี่ยนเครื่องจักรเพิ่มเติม โดยนำระบบอัตโนมัติเข้ามาใช้

นอกจากนี้ บริษัทยังได้ใช้เครื่องจักร ที่พัฒนาในประเทศ จึงได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล ร้อยละ 100 ช่วยประหยัดต้นทุนการดำเนินงาน ถือว่าเป็นมาตรการที่ช่วยเหลือผู้ประกอบการได้มาก ในสถานการณ์ปัจจุบัน

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo