World News

สอบระเบิดเลบานอนพบ ‘ประมาทร้ายแรง’ เก็บแอมโมเนียไนเตรทกับดอกไม้ไฟ

ผลสืบสวนเหตุ ระเบิดเลบานอน เบื้องต้นพบ ประมาทขั้นร้ายแรง” เจ้าหน้าที่เก็บแอมโมเนียไนเตรทร่วมกับ “ดอกไม้ไฟ- น้ำมันก๊าด” ไร้สัญญาณโจมตีจากภายนอก

เมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา (16 ส.ค. 63) สถานีโทรทัศน์แอลบีซีไอ ทีวี ของ เลบานอน รายงานว่า ผลการสืบสวนเบื้องต้นของเหตุ ระเบิดเลบานอน เมื่อไม่นานมานี้ ชี้ให้เห็นถึงความประมาทเลินเล่อขั้นร้ายแรง โดยไม่พบสัญญาณบ่งบอกการโจมตีด้วยขีปนาวุธหรือเครื่องบินรบ

ผลการสืบสวนข้างต้นไม่ได้ระบุว่า เหตุระเบิดเกิดขึ้นโดยเจตนาหรือไม่ แต่พบพฤติกรรมหละหลวมอย่างร้ายแรงในโกดังที่ท่าเรือกรุงเบรุต ซึ่งกักเก็บสารแอมโมเนียไนเตรท 2,700 ตัน ร่วมกับดอกไม้ไฟ น้ำมันก๊าด เมธิลีน และไนโตรเจนรวม 24 ตัน

ระเบิดเลบานอน

แหล่งข่าวเผยกับแอลบีซีไอว่า สารแอมโมเนียไนเตรทเพียงอย่างเดียวไม่สามารถก่อให้เกิดเหตุระเบิดใหญ่ได้ แต่การจัดเก็บแอมโมเนียไนเตรทรวมกับสารเคมีชนิดอื่นๆ อาจเป็นต้นเหตุที่ทำให้เกิดภัยพิบัติครั้งใหญ่นี้

นอกจากนั้นผลการสืบสวนยังพบว่ามีแรงงาน 3 คน เชื่อมโลหะอยู่ที่โกดัง และออกจากพื้นที่หลัง 17.00 น. ตามเวลาท้องถิ่น ซึ่งเป็นราว 1 ชั่วโมงก่อนเกิดเหตุระเบิด

ช่วงต้นเดือนสิงหาคม กัสซัน อัล-ฮูรี อัยการสูงสุดของ เลบานอน ออกคำสั่งจับกุมเจ้าหน้าที่อาวุโสของท่าเรือเบรุต 3 ราย ฐานไม่สามารถจัดการกับสารแอมโมเนียไนเตรท รวมถึงจัดเก็บสารเคมีอื่นๆ ได้อย่างเหมาะสม โดยเจ้าหน้าที่ทั้งสามได้แก่ บาดรี แดแฮร์ ผู้อำนวยการฝ่ายศุลกากร ชาฟิก เมอร์ฮี อดีตผู้อำนวยการฝ่ายศุลกากร และฮัสซัน โคเรย์เทม ผู้อำนวยการท่าเรือเบรุต

เหตุระเบิดใหญ่ 2 ครั้งซ่อน ที่ท่าเรือเบรุตเมื่อวันที่ 4 สิงหาคม 2563 ได้สร้างแรงสั่นสะเทือนที่เขย่าอาคารทั่วกรุงเบรุต เมืองหลวงของประเทศ ทำให้มีผู้เสียชีวิต 177 ราย และผู้บาดเจ็บ 6,000 ราย โดยผู้ว่าการกรุงเบรุตประเมินว่าเกิดความสูญเสียที่คิดเป็นเงินมากกว่า 1 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 3.11 แสนล้านบาท

ระเบิดเลบานอน

“เลบานอน” วุ่นวาย หลังเหตุระเบิด

หลังเกิดเหตุระเบิดใหญ่ ชาวกรุงเบรุต เมืองหลวงของ เลบานอน ช่วยกันเก็บกวาดซากปรักหักพังของสิ่งปลูกสร้างต่างๆ ที่ได้รับความเสียหาย เป็นบริเวณกว้างแทบจะทั้งเมือง

การออกมาเก็บกวาดทำความสะอาดจากเหตุระเบิดเบรุต เกิดขึ้นท่ามกลางความไม่พอใจต่อทางการเลบานอน ที่คนเหล่านี้มองว่า ไม่เหลียวแลความยากลำบากของพวกเขา สถานการณ์ที่บานปลาย จนทำให้เกิดการรวมตัวกัน เพื่อชุมนุมประท้วงขับไล่รัฐบาลและเกิดการเผชิญหน้ากับกองกำลังรักษาความมั่นคง

บรรดาผู้ประท้วงพากันจุดไฟเผาร้านค้า ทุกทำลายข้าวของ และขว้างปาก้อนหินเข้าใส่เจ้าหน้าที่ ซึ่งตอบโต้ด้วยการยิงแก๊สน้ำตาเข้าใส่ ในความพยายามที่จะสลายฝูงชน ที่แม้ว่าจะมีจำนวนไม่มากนัก แต่แสดงออกอย่างชัดเจนถึงความโกรธแค้นที่มีอยู่ โดยเหตุปะทะกันครั้งนี้ มีผู้ได้รับบาดเจ็บจำนวนหนึ่ง โดยต่อมารัฐบาล เลบานอน ประกาศลาออกทั้งคณะ เพื่อรับผิดชอบเหตุต่อระเบิดที่เกิดขึ้น

ชาวเลบานอนจำนวนมากยังมองว่า เหตุระเบิดที่เกิดขึ้น มีสาเหตุมาจากความไม่ใส่ใจของรัฐบาล ที่ทำให้มีสารแอมโมเนียม ไนเตรท มากถึง 2,750 ตัน ถูกเก็บไว้กลางเมืองขนาดนี้

ระเบิด เบรุต
โลงศพผู้เสียชีวิตจากเหตุ ระเบิดเลบานอน

รู้จักแอมโมเนียม ไนเตรท 

แอมโมเนียม ไนเตรท  จัดเป็นวัตถุอันตราย ทำให้หลายประเทศมีมาตรการควบคุมอย่างเข้มงวด อาทิ ในกลุ่มสหภาพยุโรป (EU) กำหนดให้เติมแคลเซียมคาร์บอเนต (Calcium Carbonate) เพื่อให้กลายเป็น แคลเซียมแอมโมเนียมไนเตรท (Calcium Ammonium Nitrate) ซึ่งปลอดภัยกว่า ขณะที่สหรัฐฯ กำหนดให้โรงงานที่เก็บสารแอมโนเนียมไนเตรท ตั้งแต่ 2,000 ปอนด์ หรือ 900 กิโลกรัมขึ้นไป อาจถูกทางการเข้าตรวจสอบ เป็นต้น

ทั้งนี้ ในบทความชื่อ “เมื่อปุ๋ยเคมีถูกใช้เป็นระเบิด” ที่เขียนโดย บุญรักษ์ กาญจนวรวณิชย์ เผยแพร่บนเว็บไซต์ของ ศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (MTEC) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ระบุว่า การนำปุ๋ยแอมโมเนียมไนเตรทมาใช้เป็นวัตถุดิบในการทำระเบิดมีมานานแล้ว โดยนำไปผสมกับเชื้อเพลิง เนื่องจากระเบิดที่ได้ใช้งานง่ายและมีราคาถูก จึงนิยมใช้มากในเหมืองถ่านหิน เหมืองหิน เหมืองแร่โลหะ และอื่นๆ

GettyImages 1146649173

สำหรับประเทศไทย มีกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับสารแอมโมเนียม ไนเตรทหลายฉบับ อาทิ “ประกาศกระทรวงกลาโหม เรื่อง กำหนดยุทธภัณฑ์ที่ต้องขออนุญาตตามพระราชบัญญัติควบคุมยุทธภัณฑ์ พ.ศ. 2530” ในหมวด 2.3 สารเคมีและสารเคมีที่ใช้เป็นส่วนผสมของวัตถุระเบิด ลำดับที่ 4 เลขที่ 6484-52-2 (ยกเว้นปุ๋ยที่กรมวิชาการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ รับขึ้นทะเบียนเป็นปุ๋ยเคมี หรือผลิตภัณฑ์อื่นที่ไม่ใช่วัตถุระเบิด แต่มีแอมโมเนียมไนเตรทเป็นส่วนผสม)

ตาม พ.ร.บ.ควบคุมยุทธภัณฑ์ พ.ศ. 2530 มาตรา 15 บัญญัติไว้ว่า  ห้ามมิให้ผู้ใดสั่งเข้ามา นำเข้ามา ผลิต หรือมีซึ่งยุทธภัณฑ์ เว้นแต่จะได้รับใบอนุญาตจากปลัดกระทรวงกลาโหม

การอนุญาตตามวรรคหนึ่ง จะกำหนดเงื่อนไขไว้ในใบอนุญาตก็ได้ การขออนุญาตและการอนุญาต ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่กำหนดในกฎกระทรวง และมาตรา 42 ระบุว่า ผู้ฝ่าฝืนมาตราดังกล่าวต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกินห้าหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

อ่านข่าวเพิ่มเติมคลิก

Avatar photo