Technology

สหรัฐ กีดกัน โซเชียลมีเดียต่างชาติ เหตุผลที่มากกว่า ‘Data Security’

สหรัฐ กีดกัน โซเชียลมีเดียต่างชาติ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เปิดเหตุผล ทั้งเพื่อปกป้องข้อมูลผู้บริโภค และเอื้อผู้ประกอบการโซเชียลมีเดียในประเทศ

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เปิดเผยว่า ปัจจุบันเกิดกรณี สหรัฐ กีดกัน โซเชียลมีเดียต่างชาติ ให้ออกจากประเทศ และมีการออกคำสั่งจากประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ ในการห้ามบริษัทอเมริกัน ทำธุรกิจกับ บริษัทโซเชียลมีเดียดังกล่าว จึงเป็นที่น่าจับตาถึงเหตุผลของสหรัฐ ในการกระทำดังกล่าว

สหรัฐ กีดกัน โซเชียลมีเดียต่างชาติ

จากช่วงภาวะวิกฤติโควิด-19 ที่ผ่านมา จำนวนผู้ใช้บริการโซเชียลมีเดีย แอปพลิเคชัน มีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง พร้อมทั้งกลายเป็น ช่องทางสร้างปฏิสัมพันธ์หลัก ระหว่างผู้บริโภค ในช่วงคงมาตรการเว้นระยะห่างทางสังคม (Social distancing) เป็นผลให้ข้อมูลผู้บริโภค จำนวนมหาศาล ไหลบ่าเข้าสู่ช่องทางอินเทอร์เน็ต อย่างรวดเร็ว

แม้ว่าในระยะที่ผ่านมา จะมีกรณีนำเอาข้อมูลผู้บริโภค ไปใช้แสวงหาโอกาสทางธุรกิจ โดยไม่ได้รับอนุญาต หรือ ก่อให้เกิดความรำคาญใจ จนเกิดเป็นกรณีการฟ้องร้องขึ้นมา แต่จากเทคโนโลยี ที่มีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับ การขยายตัวของภาคธุรกิจโซเชียลมีเดีย สู่ต่างประเทศอย่างกว้างขวาง จึงเป็นการเอื้อโอกาสให้ผู้ประกอบการธุรกิจดังกล่าว สามารถรุกล้ำข้อมูลพฤติกรรม และข้อมูลส่วนบุคคล ได้ง่ายดายยิ่งขึ้น

ด้วยเหตุนี้ ประเด็นด้านความปลอดภัย และการคุ้มครองข้อมูลผู้บริโภค (Data Security) และระดับความเชื่อมั่น ต่อกฎหมายคุ้มครองข้อมูลผู้บริโภค ในแต่ละประเทศ จึงกลายเป็นปัจจัยหลัก กระทบการเติบโต ของภาคธุรกิจโซเชียลมีเดีย

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เล็งเห็นว่า สาเหตุหลักของการกีดกัน แอปพลิเคชัน โซเชียลมีเดียต่างชาติ น่าจะมาจากประเด็นความกังวลด้าน Data security อันสืบเนื่องมาจาก กระบวนการเข้าถึงข้อมูลผู้บริโภค ที่แตกต่างกันเป็นหลัก

เนื่องด้วยในกรณีของ สหรัฐ หากภาครัฐ ต้องการเข้าถึงข้อมูลผู้บริโภค จะต้องมีการอ้างถึง ประเด็นด้านความมั่นคงของชาติ (National Security) เข้ามาเกี่ยวข้อง และภาครัฐต้องยื่นเรื่องให้ศาลพิจารณา เพื่อรอฟังคำอนุมัติ จึงทำให้ สหรัฐ คุ้นชินต่อกระบวนการตรวจสอบ ที่มีตัวคานอำนาจภาครัฐ ในการเข้าถึงข้อมูลผู้บริโภคดังกล่าว

ทว่า เมื่อพิจารณาทางฝั่งของ ประเทศผู้ให้บริการโซเชียลมีเดีย ที่ถูกกีดกันตามที่เป็นข่าว สหรัฐ มองว่า บทบาทของภาครัฐ และภาคเอกชนของประเทศนั้น ยังคงไม่กระจ่างชัด เนื่องจาก หากภาครัฐต้องการเข้าถึงข้อมูลผู้บริโภค จากฐานข้อมูลของ ผู้ประกอบการโซเชียลมีเดีย บริษัทดังกล่าว มีแนวโน้มต้องให้ความร่วมมือ โดยปราศจากการตรวจสอบ หรือ การอนุมัติจากภาคการปกครองอื่น

Tik Tok FB 140820

สะท้อนให้เห็นว่า ทางการสหรัฐ คงจะมีความกังวลว่า ภาครัฐบาลประเทศดังกล่าว อาจจะมีอำนาจเบ็ดเสร็จเหนือภาคเอกชน ดังนั้น แม้ว่าประเทศผู้ให้บริการโซเชียลมีเดียต่างชาติ จะมีกฎหมายคุ้มครองข้อมูลผู้บริโภค ที่ได้มาตรฐาน และมีระบบการเก็บรักษาข้อมูลผู้บริโภค ที่ได้รับการยอมรับ แต่ด้วยความคลุมเครือ ระหว่างบทบาทภาครัฐ และภาคเอกชน ส่งผลให้ทางการสหรัฐ เกิดความไม่มั่นใจ ต่อโซเชียลมีเดีย ที่มาจากประเทศดังกล่าว

จากมุมมอง และการยอมรับ ในกระบวนการเข้าถึงข้อมูลผู้บริโภค ที่แตกต่างกัน ทำให้สหรัฐ เกิดความไม่มั่นใจ จนนำไปสู่ การดำเนินมาตรการป้องกัน ผ่านการปิดกั้น การให้บริการโซเชียลมีเดีย พร้อมทั้งเรียกร้อง ให้โซเชียลมีเดียต่างชาติ ตอบรับข้อเสนอ ผู้ประกอบการเทคโนโลยีรายใหญ่สหรัฐ ในการซื้อขาดแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียดังกล่าว เพื่อมาดำเนินการให้บริการเองในสหรัฐ

การดำเนินแนวทางดังกล่าวของสหรัฐ จะส่งผลกระทบ ไม่ว่าผู้ประกอบการโซเชียลมีเดียต่างชาติ จะตอบรับข้อเสนอหรือไม่ก็ตาม เนื่องด้วย หากข้อเสนอข้างต้นได้รับการตอบรับ สหรัฐ จะสามารถตอบโจทย์ ด้านการป้องกัน การรั่วไหลของข้อมูล ผ่านการย้ายฐานข้อมูลผู้บริโภคสหรัฐ ในประเทศดังกล่าว กลับมาที่ประเทศตนเอง อีกทั้งยังเสริมศักยภาพทางธุรกิจ ให้กับผู้ประกอบการสหรัฐ จากการได้รับส่วนแบ่ง ในตลาดโซเชียลมีเดียเพิ่มเติม

ในขณะเดียวกัน หากผู้ประกอบการโซเชียลมีเดียต่างชาติ ปฏิเสธข้อเสนอดังกล่าว สหรัฐ น่าจะมีแนวโน้ม ดำเนินการปิดกั้นการให้บริการ ซึ่งจะเป็นผลให้ลดจำนวนผู้เข้าแข่งขันในตลาด ให้กับผู้ประกอบการ โซเชียลมีเดียรายใหญ่สหรัฐ

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยเล็งเห็นว่า Data Security ในประเด็น ด้านภูมิรัฐศาสตร์ อันสืบเนื่องมาจาก การเข้าถึงข้อมูลผู้บริโภค ที่แตกต่างกันของแต่ละประเทศ อาจกลายเป็นประเด็นหลัก ที่ผู้ประกอบการโซเชียลมีเดีย นานาประเทศ ต้องพิจารณา ประกอบการวางแผนขยายธุรกิจ เข้าสู่ภาคดิจิทัลประเทศอื่น

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo