Politics

‘ไพลิน’ ส.ส.สมุทรปราการ เสนอตั้งกมธ. แก้ปัญหา ‘ประมงพื้นบ้าน’

‘ไพลิน’ ส.ส.เขต 7 สมุทรปราการ เสนอตั้งกรรมาธิการศึกษาปัญหา และหาทางแก้ปัญหาประมงพื้นบ้าน ในกลุ่มจังหวัดที่มีสภาพท้องทะเลน้ำตื้น 

นางสาวไพลิน เทียนสุวรรณ ส.ส.สมุทรปราการ เขต 7 พรรคพลังประชารัฐ ยื่นญัตติ ขอให้สภาผู้แทนราษฎร ตั้งกรรมาธิการวิสามัญ พิจารณาศึกษาปัญหา ผลกระทบ และแนวทางการแก้ปัญหา ของประมงพื้นบ้าน ในกลุ่มจังหวัดที่มี พื้นที่สภาพท้องทะเลน้ำตื้น  เนื่องจากประมงพื้นบ้าน กำลังประสบปัญหาอย่างหนัก จากการแก้ไข พ.ร.ก.ประมง ปี 2558 ในมาตรา 34 และมาตรา 67 กระทบโดยตรง

S 6905976

การแก้ไขมาตรา 34  ที่ห้ามมิให้ผู้ได้รับใบอนุญาตทำการประมงพื้นบ้าน ทำการประมงในเขตทะเลนอกชายฝั่ง พื้นที่ห่างชายฝั่งออกไป 3 ไมล์ทะเล ทำให้เกิดข้อจำกัดในการประกอบอาชีพ แก่กลุ่มชาวประมงพื้นบ้าน ที่อาศัยพื้นที่ชายฝั่งน้ำตื้น ในการทำมาหากิน เพราะว่าท้องทะเลมีความหลากหลายของสัตว์น้ำ และสัตว์น้ำแต่ละประเภทก็อาศัยระบบนิเวศน์ไม่เหมือนกัน บางชนิดอยู่ในพื้นที่ไม่เกิน 3 ไมล์ทะเล บางชนิดห่างไกลออกไป

การระบุไว้ว่า ผู้ได้รับอนุญาตทำการประมงพื้นบ้าน จะต้องประกอบกิจการอยู่ในเขต เป็นการจำกัดสิทธิ์เกินไป ทั้งยังจะทำให้สูญเสียสัตว์น้ำขนาดเล็ก ซึ่งจะทำให้ระบบนิเวศน์สูญเสียเป็นอย่างยิ่ง

หากยังปล่อยให้เกิดปัญหาแบบนี้ต่อไป ประเทศก็อาจจะสูญเสียทรัพยากรชายฝั่งที่อุดมสมบูรณ์ไปตลอด จนถึงอาชีพประมงหน้าบ้านก็คงหายไป ถ้าหากเกิดเรื่องแบบนี้ ก็คงต้องซื้ออาหารทะเลที่แพงขึ้น และอาหารทะเล ที่จะนำเม็ดเงินมาสู่ประเทศในภาคธุรกิจ ก็จะลดน้อยลงด้วย จึงอยากขอให้สภาผู้แทนราษฎรตั้งกรรมาธิการเพื่อรับฟัง และหาแนวทางการแก้ปัญหา

นางสาวไพลิน ยังยกตัวอย่างอาชีพประมงพื้นบ้านใน จังหวัดสมุทรปราการ ซึ่งประกอบไปด้วย อำเภอพระสมุทรเจดีย์ อำเภอบางบ่อ  ตำบลคลองด่าน และตำบลบางปู ซึ่งเป็นพื้นที่ทำประมงพื้นบ้าน ที่ใช้เครื่องมือ ที่เรียกว่าโพงพาง ซึ่งมีลักษณะอวน คล้ายถุง ปากอวนกว้างยึดกับที่ โดยใช้กระแสน้ำพัด ให้สัตว์น้ำเข้ามาในถุงอวน

ไพลิน เทียนสุวรรณ 1408 01

ตามประกาศการใช้ พ.ร.ก.ประมงปี 2558 ในมาตรา 67 มีข้อบังคับ ไม่ให้ใช้เครื่องมือโพงพาง และเครื่องมือลอบพับ หรือไอ้โง่จับสัตว์น้ำ และอวนลาก ที่มีตาอวนก้นถุงเล็กกว่าที่อธิบดีประกาศกำหนด  เว้นแต่อวนรุนเคย โดยมีบทลงโทษในมาตรา 146 ปรับตั้งแต่ 1-5 แสนบาท และมาตรา 169 ให้ริบเครื่องมือทำกินประมง และสัตว์น้ำทั้งหมด จากการประกาศ พ.ร.ก.ประมงปี 2558

เรื่องนี้ ส่งผลกระทบกับประชาชน ที่ประกอบอาชีพประมงพื้นบ้าน รวมไปถึง ประมงหน้าบ้าน ซึ่งหมายถึงประชาชน ที่มีภูมิลำเนาที่ติดริมคลอง ริมฝั่ง ริมชายทะเล ที่ประกอบอาชีพหน้ามาหลายรุ่น นับเวลาเป็นร้อย ๆ ปี

ในเขต อำเภอพระสมุทรเจดีย์ ผู้ประกอบอาชีพประมงหน้าบ้านจำนวน 201 ราย  มีรายได้เฉลี่ยต่อวัน 500-1,000 บาท แต่วันนี้ กลุ่มคนเหล่านั้น ไม่มีอาชีพทำกิน เพราะตาม พ.ร.ก.ที่ได้ออกกำหนดมา  หน่วยงานภาครัฐก็ไม่ได้ชดเชยเยียวยาให้กับคนกลุ่มนี้  ชาวประมงพื้นบ้านต้องหยุดการประกอบอาชีพ ไม่มีรายได้ส่งเสียครอบครัว ส่งผลกระทบให้กับบุตรหลาน ไม่ได้เรียนหนังสือ

นักวิชาการบางกลุ่มมีข้อเสนอแนะว่า ให้หยุดประกอบอาชีพประมงโดยเด็ดขาด และไปประกอบอาชีพอื่น ซึ่งตามความเป็นจริงแล้ว ทำไม่ได้ เพราะนั่นคือถิ่นกำเนิด ไม่สามารถย้ายถิ่นฐานไปประกอบอาชีพอย่างอื่นได้เลย เพราะพื้นที่ตรงนั้น ไม่สามารถปลูกผัก ปลูกข้าว ปลูกปาล์ม สามารถทำได้อย่างเดียวคือ ประมงหน้าบ้าน

S 6905973

นางสาวไพลิน บอกด้วยว่า จากการศึกษา และสอบถาม พบว่า ในมาตรา 67 ในคำว่าโพงพาง และอวนลากจะเขียนไว้ว่า ความในวรรค 1 และวรรค 3 มิให้บังคับใช้แก่การศึกษาวิจัย ซึ่งกระทำโดยทางราชการ เพื่อประโยชน์ในการหาขนาดช่องตาอวนที่เหมาะสม ที่ประชาชนพึงได้รับ โดยได้รับอนุญาตเป็นหนังสือจากอธิบดี หรือผู้ซึ่งอธิบดีมอบหมาย

ความในวรรค 1 มิให้ใช้บังคับแก่ผู้ทำการประมงพื้นบ้าน หรือประมงน้ำจืด ที่ได้รับอนุญาตผ่อนปรน ให้ใช้เครื่องมือทำการประมงตามรูปแบบ เครื่องมือ ขนาดเรือ วิธีการทำประมงพื้นบ้าน ที่ทำประมง และเงื่อนไขที่อธิบดีประกาศกำหนด

ในเมื่อมีการเปิดช่องให้ทำการศึกษาวิจัยแล้ว จึงเห็นว่า ควรมีผู้ริเริ่ม ดำเนินการ ซึ่ง ส.ส. ในฐานะตัวแทนของประชาชน ที่ได้รับเลือกเข้ามาแก้ปัญหา จึงขอเสนอตั้งกรรมการวิสามัญพิจารณาศึกษาเรื่องนี้ รวมถึงหาเจ้าภาพ หรือหน่วยงานหลักในการศึกษา เชื่อว่า จะสามารถช่วยเหลือชาวบ้าน ที่ได้รับผลกระทบได้เป็นอย่างดี

“อาจจะช้าไปนิด แต่ไม่สายเกินไป ที่เราจะช่วยกันผลักดันในการศึกษา ค้นคว้า วิจัย และผลักดันให้ประชาชน สามารถกลับมาประกอบอาชีพได้ นอกจากจะช่วยให้พวกเขามีรายได้ ยังเป็นการช่วยอนุรักษ์อาชีพพื้นบ้าน ที่มีการทำกินมาช้านาน รวมถึงการรักษาวิถีอัตลักษณ์ดั้งเดิมให้คงอยู่ตลอดไป” นางสาวไพลิน ระบุ

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo