Lifestyle

ลูกติดมือถือ ทำยังไงดี ‘สสส.’ มีคำแนะนำ แค่ใช้ ‘การสื่อสาร’ ให้เหมาะสม

ลูกติดมือถือ สสส. มีวิธีแนะนำ เริ่มจากเปลี่ยนทัศนคติของตัวเองก่อน ปรับวิธีการพูด ดึงลูกไปทำกิจกรรมอื่น และสำคัญที่สุดคือ ใช้เทคนิคการพูดกับลูกอย่างเหมาะสม

“กินข้าวได้แล้วลูก” “การบ้านเสร็จหรือยัง” “เลิกเล่นได้แล้ว” เสียงผู้เป็นแม่เรียกลูกอย่างกระวนกระวายใจ หลังจากที่เริ่มสังเกตได้ว่า ลูกติดมือถือ ในมือมากเกินไป หลังจากสิ้นเสียงแม่ ก็มีประโยคเด็ดที่เชื่อว่าลูกหลายคนต้องตอบแบบนี้ “อีกนิดนะแม่”

ลูกติดมือถือ

ปัญหาลูกติดมือถือ นับเป็นปัญหาสำคัญที่หลายครอบครัวต้องพบเจอ ข้อมูลจากสถาบันจิตแพทย์เด็กและวัยรุ่นราชนครินทร์ พบว่า เด็กและเยาวชนไทยใช้ชีวิตอยู่หน้าจอมากกว่าสถิติโลก คือ 35 ชม./สัปดาห์ ซึ่งปกติไม่ควรเกิน 16 ชม/สัปดาห์ จากการสำรวจเด็กวัย 6 – 18 ปี จำนวนกว่า 15,000 คน พบว่า 61% มีพฤติกรรมที่เสี่ยงต่อการติดเกมออนไลน์ เพราะเล่นเกมมากกว่า 3 ชั่วโมง/วัน และจากเกมออนไลน์จะนำพาเด็กและเยาวชนไปสู่ความเสี่ยงอื่นๆ

สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับทูลมอโร่ เปิดตัวโครงการ คุณเปลี่ยน ลูกเปลี่ยน ออกแบบหลักสูตรฝึกอบรมเรื่องทักษะการสื่อสารภายในครอบครัว ผ่านการเรียนรู้ในรูปแบบออนไลน์ เพิ่มศักยภาพการสื่อสารของครอบครัวผ่าน Platform Online โดยใช้เทคโนโลยีช่วยพัฒนาระบบจนสามารถรองรับผู้เข้าร่วมการอบรมได้ถึง 600 คน

สสส.เป็นหน่วยงานหนึ่งที่ช่วยสนับสนุนงานต่าง ๆ ที่มุ่งเป้าไปให้คนไทยมีสุขภาพดี โดยการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม หรือสนับสนุนให้เกิดการปรับเปลี่ยนเชิงโครงสร้าง และพัฒนากลไกที่จะให้ทุกคนอยู่ในสภาพแวดล้อมที่ปลอดภัย

นางสาวณัฐยา บุญภักดี ผู้อำนวยการ สำนักสนับสนุนสุขภาวะเด็ก เยาวชน และครอบครัว สสส. กล่าวว่า ปัญหาลูกติดมือถือนั้น คนที่เลี้ยงดูเด็กต้องรู้เท่าทันว่า วิธีใช้อย่างเหมาะสมและให้เป็นประโยชน์ต้องทำอย่างไร ถ้าคุณพ่อคุณแม่มีความรู้นี้ตั้งแต่ลูกยังเล็กๆ และให้เขาใช้อย่างถูกวิธี ก็จะเป็นฐานที่ดี ในการที่เขาจะเติบโตเป็นพลเมืองดิจิทัล

ณัฐยา บุญภักดี
ณัฐยา บุญภักดี

“เวลาพ่อแม่เห็นลูกมีปัญหา แล้วอยากเปลี่ยนลูก แต่พอพ่อแม่ได้เข้าสู่โครงการนี้ ทำให้พ่อแม่ได้เปลี่ยนตัวเอง แล้วพบว่าลูกเปลี่ยน จากการที่ตัวเองเปลี่ยน สสส.มองว่าทำอย่างไรจึงจะสร้างกระบวนการ ที่เหมือนเป็นห้องเรียนพ่อแม่ยุคดิจิทัล เราจำเป็นต้องมีความรอบรู้ ความฉลาดรู้ในการใช้อุปกรณ์เหล่านี้ ถ้าไม่รู้อาจทำให้เด็กขาดการเรียนรู้ทักษะดิจิทัลที่เหมาะสม และอาจนำไปสู่ปัญหาต่าง ๆ เราจำเป็นต้องมีความรู้ใหม่ ในการที่จะดูแลเด็ก ๆ ให้เป็นพลเมืองที่อยู่ในยุคดิจิทัลได้อย่างไม่เป็นอันตรายและมีสุขภาวะ” นางสาวณัฐยา กล่าว

รู้ได้อย่างไรว่าลูกติดมือถือ?

รศ.นพ.ศิริไชย หงษ์สงวนศรี อาจารย์สาขาจิตเวชศาสตร์เด็กและวัยรุ่น คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี กล่าวว่า การที่เด็กติดมือถือจนถึงจุดที่เป็นปัญหาแล้ว สังเกตได้จาก

1. เด็กใช้เวลาอยู่กับอินเทอร์เน็ต หรือมือถือมากเกินกว่าที่ควร จะใช้ตามปกติในการดำเนินชีวิตประจำวัน

2. เด็กมีจิตใจที่หมกมุ่นอยู่กับการใช้อินเทอร์เน็ต ในแต่ละวันพร้อมที่จะอยู่กับมือถือ และอินเทอร์เน็ต เกิดผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตประจำวัน เช่น ไม่สามารถที่จะรับผิดชอบเรื่องการเรียน การทำหน้าที่ประจำวันที่พ่อแม่มอบหมาย เข้านอนไม่เป็นเวลา ทานอาหารไม่เป็นเวลา ส่งผลกระทบต่อสุขภาพอื่น ๆ เช่น นอนน้อย มีอาการปวดศีรษะ ปวดท้อง เป็นต้น

3. บางคนรู้ว่ามีผลกระทบแต่ไม่สามารถลดหรือเลิกการใช้อินเทอร์เน็ตได้

ทำอย่างไรเมื่อลูกติดมือถือ

รศ.นพ.ศิริไชย กล่าวต่อว่า หากเกิดพฤติกรรมดังกล่าว ครอบครัวจะมีวงจรที่ทำให้สถานการณ์แย่ลง คือ พอลูกมีปัญหาพฤติกรรม พ่อแม่จะมีความเครียด ทำให้มองสิ่งต่างๆ ในด้านลบ ส่งผลให้เพิ่มปัญหาใหม่เข้าไปอีก ลูกก็จะหงุดหงิดไม่พอใจ ทำให้เกิดความเครียดทั้งคู่ ดังนั้น พ่อแม่ต้องเข้าใจวงจรของจิตใจเราที่มีผลต่อลูก โดย

ลูกติดมือถือ

  • ทำให้บรรยากาศความสัมพันธ์ดีขึ้น
  • ถ้าเรามีความเครียดต้องจัดการความเครียดของเราให้ดีขึ้นก่อน ถ้าเรายังเครียดอยู่ เราจะช่วยลูกไม่ได้
  • คิดว่าลูกเราเปลี่ยนแปลงได้
  • สนใจสิ่งที่ลูกรับผิดชอบได้ดี ให้คำชม เพื่อให้บรรยากาศความสัมพันธ์ดีขึ้น
  • ดึงกิจกรรมอื่นๆ ที่น่าสนใจในมุมของเด็กมาทำร่วมกัน

นายสุรเสกข์ ยุทธิวัฒน์ ผู้ก่อตั้งบริษัท ทูลมอโร จำกัด กล่าวว่า ทูลมอโร่ สนใจเกี่ยวกับนวัตกรรมการสื่อสาร เพื่อโน้มน้าวให้เกิดการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม และอยากให้คนในครอบครัวมีสัมพันธภาพที่ดีขึ้น จะทำยังไงให้ข้อจำกัดต่าง ๆ ลดลง และเกิดการสื่อสารภายในครอบครัวได้ง่ายขึ้น

“การสื่อสารเชิงลบ ใช้ได้ผลแค่เดี๋ยวเดียว ไม่ได้ยั่งยืน และทำให้บ้านเต็มไปด้วยบรรยากาศแห่งความกลัว และเชื่อว่าการที่เรามีความฉลาดในการใช้อารมณ์ คุมสติเป็น จะทำให้ลูกมีพฤติกรรมที่พึงประสงค์ได้เหมือนกัน”นายสุรเสกข์ กล่าว

สุรเสกข์ ยุทธิวัฒน์
สุรเสกข์ ยุทธิวัฒน์

เช่นเดียวกับแพทย์หญิงวิมลรัตน์ วันเพ็ญ รองผู้อำนวยการสถาบันสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นราชนครินทร์ กรมสุขภาพจิต กล่าวว่า สิ่งสำคัญคือ คุณเปลี่ยน ลูกเปลี่ยน เพราะถ้าคุณไม่เปลี่ยนและให้ลูกเลิกทำอะไรบางอย่างจะยากมาก โดย

1. เปลี่ยนทัศนคติของตัวเองก่อนว่าลูกของเราเป็นคนน่ารัก และยังมีบางสิ่งที่ดี พยายามหาอะไรดี ๆ เข้ามาชดเชยสิ่งที่เราคิดไม่ดีให้มากที่สุด เพราะเมื่อเรารู้สึกดีต่อใคร ทุกอย่างที่กระทำออกไปจะเป็นเรื่องที่ดูดีไปหมด แต่ถ้าเราเริ่มคิดแย่ ทุกอย่างก็จะเป็นเชิงลบหมด ยิ่งทำให้สถานการณ์ยิ่งแย่ลง

2. ปรับเรื่องการพูดของตัวเรา เพราะว่าส่วนใหญ่การพูดทำให้รู้สึกดีขึ้น หรืออาจจะบั่นทอน การพูด คือการเลิกบ่น และเปลี่ยนมาชมลูกบ้าง หรือเวลาที่ลูกทำอะไรไม่ดี สื่อให้รู้ว่าเราเป็นห่วงเขากับพฤติกรรมนั้นอย่างไร และอยากให้ลูกแก้อย่างไร และเมื่อลูกทำได้เราก็ชื่นชม

3. ดึงลูกออกไปทำกิจกรรมอย่างอื่น เช่น ชวนออกกำลังกาย มีเกมเสริมทักษะอื่นๆ

4. ทุกอย่างต้องใช้ความอดทนและใช้เวลา

เทคนิคการพูดกับลูก

  • พูดถึงพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม
  • พูดว่าเราเป็นห่วงพฤติกรรมนี้อย่างไร แล้วจะเกิดอะไรขึ้น
  • บอกเลยว่า ปิดมือถือแล้วไปทำ… ก่อน (ต้องบอกถึงพฤติกรรมที่อยากให้ไปทำ)

การสื่อสารเป็นพื้นฐานสำคัญของครอบครัวที่อบอุ่น ห้องเรียนออนไลน์นี้เปิดโอกาสให้พ่อแม่ ได้เรียนรู้ทักษะการสื่อสารที่ใช้ได้จริง เพื่อฝึกทักษะให้สามารถสื่อสารกับลูกได้อย่างมีประสิทธิภาพ เชื่อแน่ว่าเครื่องมือชิ้นนี้ จะเป็นตัวช่วยให้หลายครอบครัวเกิดสัมพันธภาพที่ดีขึ้นอย่างแน่นอน

อ่านข่าวเพิ่มเติมที่

Avatar photo