Politics

‘พล.อ.ประยุทธ์’ มอบนโยบายครม. กำชับห้ามยึดประโยชน์ส่วนตัว!

พล.อ.ประยุทธ์ มอบนโยบาย คณะรัฐมนตรี 24 ข้อครอบคลุมรอบด้าน น้อมนำพระบรมราโชบายในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมาเป็นแนวทางในการปฏิบัติงาน ตอบโจทย์แก้ปัญหาประชาชน

น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจําสํานักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ในการประชุม คณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 13 สิงหาคม 2563 ที่ผ่านมา พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ได้มอบนโยบายแก่ ครม. จำนวน 24 ข้อ ดังนี้

1. น้อมนำพระบรมราโชบายในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมาเป็นแนวทางในการปฏิบัติงาน ให้ประชาชนมีความสุข บ้านเมืองมีเสถียรภาพ รักษาระเบียบวินัย เคารพกฎหมาย ภายใต้กระบวนการยุติธรรมที่เป็นธรรม

2. ไม่ยึดผลประโยชน์ส่วนตนและผลประโยชน์ทางการเมือง เหนือผลประโยชน์ของประชาชนและส่วนรวม

พล.อ.ประยุทธ์

3. เร่งรัดการดำเนินการตามยุทธศาสตร์ชาติ แผนปฏิรูปประเทศ แผนแม่บท ให้เกิดผลสำเร็จอย่างเป็นรูปธรรม ทั้งระยะเร่งด่วน ระยะปานกลาง และระยะยาว พร้อมพัฒนาปรับปรุงให้สอดคล้องกับสถานการณ์และสภาวะแวดล้อมของโลกและประเทศที่เปลี่ยนแปลงไป

4. ดำเนินนโยบายด้านการต่างประเทศอย่างสมดุลระหว่างประเทศต่างๆ ทั้งในภูมิภาคและในเวทีโลก ด้วยความเป็นเอกภาพและเสรีภาพ เร่งขับเคลื่อนการเจรจาและการใช้ประโยชน์จากพันธสัญญาต่าง ๆ ทั้งในระดับทวิภาคีและพหุภาคี ให้เกิดผลเป็นรูปธรรมโดยเร็ว

5. ขับเคลื่อนประเทศในยุคปกติใหม่ (New Normal) เน้นการมีส่วนร่วม การรับฟังความคิดเห็นของประชาชน การใช้ข้อมูลขนาดใหญ่ (Big data) เพื่อการวิเคราะห์ปัญหา วางแผน และการพัฒนางาน

6. ปรับปรุงรูปแบบและช่องทางการประชาสัมพันธ์ของภาครัฐ ผ่านสื่อชนิดต่างๆ เช่น โทรทัศน์ วิทยุ สิ่งพิมพ์ สื่อออนไลน์ ให้สอดคล้องกับสถานการณ์และพฤติกรรมการรับรู้ของประชาชนในปัจจุบัน

7. จัดให้มีคณะที่ปรึกษาผู้ว่าราชการจังหวัด จากทุกภาคส่วน ในจังหวัดนั้นๆ เพื่อเป็นกลไกในการรับฟังความคิดเห็น และการส่งผ่านข้อมูลของประชาชน

8. ส่งเสริมกระบวนการสร้างความเข้าใจให้ตรงกัน ลดช่องว่างทางความคิดระหว่างคนรุ่นเก่ากับคนรุ่นใหม่ เสริมสร้างความรักและความสามัคคีในการที่จะช่วยกันขับเคลื่อนและพัฒนาประเทศไปข้างหน้าด้วยความเข้าใจซึ่งกันและกัน

9. สร้างเสถียรภาพและความเชื่อมั่นในรัฐบาลบนพื้นฐานของข้อเท็จจริงและผลงานที่เป็นรูปธรรม

10. เร่งรัดการยกเลิกหรือแก้ไขกฎหมายที่เป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาประเทศ ให้มีความเหมาะสมและสอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน

11. รักษาวินัยการเงินการคลังให้เป็นไปตามกฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับที่เกี่ยวข้อง และพิจารณาหามาตรการทางการเงินรูปแบบใหม่ในการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ

12. ปรับวิธีการใช้จ่ายงบประมาณ จัดทำแผนงาน/โครงการ ขนาดใหญ่ ขนาดกลาง ขนาดเล็ก ให้มีความต่อเนื่องสอดคล้องกับการใช้จ่ายงบประมาณ มีวงเงินที่เหมาะสมและไม่เป็นภาระงบประมาณในแต่ละปีมากเกินไป

พล.อ.ประยุทธ์

13. กวดขัน เข้มงวด การปราบปรามการทุจริตและคอร์รัปชัน โดยสนับสนุนให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการป้องกันและเฝ้าระวังการทุจริตประพฤติมิชอบ

14. ปฏิรูปการศึกษาทั้งระบบ เพื่อให้เหมาะสมและสอดคล้องกับการศึกษาแนวใหม่ในศตวรรษที่ 21 ส่งเสริมการเรียนการสอนที่เน้นให้ผู้เรียนมีความสามารถในการแสวงหาความรู้จากแหล่งความรู้ที่หลากหลาย รวมไปถึงการลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา โดยใช้กลไกกองทุนการศึกษา กยศ.และกองทุนเสมอภาคฯ

15. พัฒนาทรัพยากรมนุษย์ สร้างงานให้คนไทยมีงานทำ สร้างโอกาสในการส่งออก

16.ส่งเสริมการพัฒนาและการนำเทคโนโลยีสมัยใหม่ มาใช้ในภาคการเกษตร และอุตสาหกรรมการผลิตอื่นๆ เพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ลดต้นทุนและเพิ่มประสิทธิภาพ

17. ส่งเสริมเศรษฐกิจฐานรากและวิสาหกิจชุมชนให้มีความเข้มแข็ง สร้างห่วงโซ่เชื่อมโยงกับธุรกิจขนาดกลางและขนาดใหญ่ ต่อยอดความร่วมมือและขยายผลให้กับเกษตรกร ประชาชน และภาคเอกชนที่มีผลสำเร็จ

18. พัฒนาระบบการบริหารจัดการน้ำทั้งระบบ อย่างครบถ้วน และ สมบูรณ์ทั้งระบบ

19. ดูแลรักษาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม การส่งเสริมและสนับสนุนให้เกิดการท่องเที่ยวสร้างรายได้ให้กับชุมชน บนพื้นฐานการอนุรักษ์วิถีชีวิต ศิลปวัฒนธรรม การดูแลและอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

20. ดำเนินนโยบายด้านพลังงาน โดยยึดหลักความโปร่งใส ลดภาระและความเดือดร้อนของประชาชน และส่งเสริมให้เกิดการแข่งขันอย่างเสรี เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อประชาชนผู้บริโภค

21. แก้ไขปัญหาความยากจนในประเทศ โดยนำแนวทางของต่างประเทศที่ประสบผลสำเร็จมาศึกษาและประยุกต์ใช้อย่างเหมาะสม

22. ขจัดความเหลื่อมล้ำ ด้วยมาตรการสร้างโอกาสที่เท่าเทียมและเป็นธรรม ดูแลผู้มีรายได้น้อย และ ผู้ด้อยโอกาส กำหนดให้มีมาตรการดูแลคนทุกช่วงวัย กลุ่มเปราะบาง คนพิการที่เหมาะสม พัฒนาระบบสาธารณสุขพื้นฐาน โดยทยอยดำเนินการเป็นระยะ กำหนดแผนงานโครงการที่ชัดเจน แบ่งการดำเนินการเป็นระยะ กำหนดความเร่งด่วน เพื่อให้ส่งผลโดยเร็วที่สุด

23. ภารกิจในระยะเร่งด่วน คือ การแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 ทั้งการส่งออก ภาคการท่องเที่ยว SMEs และ เศรษฐกิจฐานราก ภาคการเกษตร

24. ตั้งคณะกรรมการฟื้นฟูเศรษฐกิจของรัฐบาล โดยบูรณาการทุกภาคส่วน ให้ร่วมกันติดตามดูแล ประดับประคอง ฟื้นฟูเศรษฐกิจของประเทศ ที่ได้รับผลกระทบ จากการแพร่ระบาดของ COVID-19

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo