Politics

นายกฯ ตามหาท่อน้ำเลี้ยง ‘ม็อบนักศึกษา’ เผยข้อเสนอหมิ่นเหม่ ประชาชนรับไม่ได้

นายกฯ เผยกำลังตามหาท่อน้ำเลี้ยงเบื้องหลัง “ม็อบ นักศึกษา” สกัด 105 นักวิชาการหนุนข้อเสนอปฏิเสธสถาบัน ชี้ความเห็นหมิ่นเหม่เกินไป ประชาชารับไม่ได้

วันนี้ (13 ส.ค. 63) พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม แถลงข่าวหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ซึ่งเป็นการประชุม ครม. ประยุทธ์ 2/2 ครั้งแรกว่า เรื่องกรณีกลุ่ม นักศึกษา โพสต์สื่อ มันก็เป็นการโพสต์เท่านั้น ใครก็เขียนได้ รัฐบาลส่งเจ้าหน้าที่ติดตามเพื่อจับกุม แล้วจับหรือยังหล่ะ?

นายกฯ ประยุทธ์ นักศึกษา

แล้วถ้าทำความผิด แล้วละเมิดกฎหมาย จะทำอย่างไร ประชาชนส่วนใหญ่ก็ไม่ค่อยเห็นด้วยที่รัฐบาลจะไม่บังคับใช้กฎหมาย เพราะฉะนั้นมันมี 2 ทางเสมอ รัฐบาลก็พยายามอย่างยิ่ง เพราะฉะนั้นก็อย่าให้ใช้โอกาสนี้ทำให้บ้านเมืองมันไม่สงบก็แล้วกัน เพราะฉะนั้นก็ต้องดูหลายๆ อย่าง นิสิต นักศึกษา ต้องไปดูข้อเท็จจริง มีใครอยู่เบื้องหลังหรือเปล่า การชุมนุมโดยตามสิทธิพื้นฐาน มันชุมนุมได้ แต่มันละเมิดกฎหมายได้ไหม

เพราะฉะนั้นทำอะไรก็ขอให้ใช้ข้อเท็จจริง ไม่ใช่ว่าจับ ทุกคนทราบดีอยู่แล้วหล่ะ เพราะฉะนั้นวันนี้การพูดจาผมก็ไม่อยากจะไปพูดให้มันเกิดปัญหาอีก ก็ต้องหาวิธีการแก้ปัญหาอย่างละมุนละม่อม

 

ข้อเสนอปฏิรูปสถาบัน ประชาชนรับไม่ได้

สำหรับกรณีที่นักวิชาการ 105 คนร่วมลงชื่อสนับสนุนข้อเสนอปฏิรูปสถาบันจากเวที นักศึกษา นั้น พล.อ.ประยุทธ์ นายกฯ กล่าวว่า ก็เป็นเรื่องของท่าน ผมก็หวังว่าเราคงไม่มีนักวิชาการแค่ 105 คนมั้งประเทศไทย เรามีคนเก่งแต่เพียงเท่านี้หรือ เรามีตั้งเป็นหมื่นเป็นพัน เพราะฉะนั้นคนเหล่านั้นมีความเห็นอย่างไรก็ต้องว่ากันมา

แต่ข้อสำคัญต้องไม่ไปก้าวล่วงล่วงละเมิดอะไรต่างๆ มันไม่ใช่ประเทศไทยแบบนั้น ผมว่า เพราะฉะนั้นผมไม่แปลกใจรายชื่อเหล่านี้ที่ได้เห็น เพราะแนวความคิดของเขา การขับเคลื่อนของเขาในช่วงที่ผ่านมา มันก็เป็นแบบนี้

แต่มันหมิ่นเหม่เกินไปในขณะนี้ ประชาชนส่วนใหญ่รับไม่ได้ เพราะฉะนั้นสิ่งที่ทำถูกทำดี ก็คือควรจะขับเคลื่อน ก็คือทำให้ประชาชนร่วมมือกันสร้างอนาคตไปด้วยกัน

ในเรื่องของการจัดกิจกรรมไปดูสิใครอยู่เบื้องหลังหรือไม่ เพราะมันมีค่าใช้จ่ายจำนวนมาก มันมาจากไหน เหล่านี้มันต้องตรวจสอบทั้งหมด อันนี้มันเป็นกลไกการทำงานปกติ ผมไม่ต้องไปสั่งเขาหรอก ผมบังคับเขาไม่ได้อยู่แล้ว การจะคิดจะอะไรต่างๆ แต่เราต้องให้หลักคิดหรือแนวความคิดที่ถูกต้อง เป็นไปได้ ปฏิบัติได้

โดยเฉพาะอย่างยิ่งความเดือดร้อนของประชาชนในวันนี้ ไม่ได้มีเรื่องนั้นเรื่องเดียว มันมีเรื่องของเศรษฐกิจ โควิด สุขภาพ เยอะแยะไปหมด ประเทศไทยมีปัญหามากเรื่องของความเหลื่อมล้ำ การกระจายรายได้ เศรษฐกิจใหม่ วันนี้ก็เจอโควิดเข้าไปอีก เรื่องนี้มันไม่สำคัญกว่าหรือ

มันอาจจะสำคัญใกล้เคียงกันหรือเปล่าผมไม่แน่ใจ แต่อันนี้คือคนส่วนใหญ่ของประเทศ 60 กว่าล้านคนที่เขาเดือดร้อนกัน แล้วเด็กก็กำลังจะเติบโตเป็นผู้ใหญ่ เพราะฉะนั้นขอให้แสดงวิสัยทัศน์ในทางที่ดีบวกจะดีซะกว่า เพราะมันจะนำไปสู่การแก้ไขปัญหาได้ในอนาคต ไม่งั้นก็แก้ไขปัญหาไม่ได้เลย มีความขัดแย้งตลอดเวลา

117214430 116659103475552 2325541643512928182 o

105 นักวิชาหนุนข้อเสนอม็อบ นักศึกษา

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การจัดเวทีชุมนุมใหญ่ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต เมื่อวันที่ 10 สิงหาคม 2563 ได้มีการยื่น 10 ข้อเสนอให้ปฏิรูปสถาบัน ส่งผลให้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์และต่อต้านจำนวนมาก อย่างไรก็ตาม มีนักวิชาการ 105 คนจากสถาบันต่างๆ ได้ออกมาสนับสนุนข้อเรียกร้องดังกล่าว

โดยแถลงการณ์ของ 105 นักวิชาการมีเนื้อหาดังนี้ สืบเนื่องจากการจัดเวทีชุมนุม #ธรรมศาสตร์จะไม่ทน และการปราศรัยในวันที่ 10 สิงหาคม 2563 ณ ลานพญานาค มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต

การปราศรัยครั้งนี้ถือเป็นครั้งแรกในรอบหลายปีที่มีการพูดถึงบทบาทและปัญหาของสถาบันกษัตริย์และสังคมไทยอย่างเปิดเผย โดยเสนอให้แก้ไขกฎหมายและรัฐธรรมนูญเพื่อให้เกิดความเป็นประชาธิปไตยและให้รักษาสถานภาพของพระมหากษัตริย์ในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข การปราศรัยดังกล่าวเป็นการแสดงออกซึ่งความคิดเห็นอย่างสุจริตและเป็นไปตามขอบเขตของกฎหมาย ดังบทบัญญัติใน รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 มาตรา 34 ระบุว่า “บุคคลย่อมมีเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น การพูด การเขียน การพิมพ์ การโฆษณา และการสื่อความหมายโดยวิธีอื่น การจํากัดเสรีภาพดังกล่าวจะกระทำมิได้ เว้นแต่โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายที่ตราขึ้นเฉพาะเพื่อรักษาความมั่นคงของรัฐ เพื่อคุ้มครองสิทธิหรือเสรีภาพของบุคคลอื่น เพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน หรือเพื่อป้องกันสุขภาพของประชาชน” สอดคล้องกับหลักกฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศซึ่งรัฐไทยให้พันธกรณีอย่างกติกาสากลว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (International Covenant on Civil and Political Rights) ก็รับรองเสรีภาพในการแสดงออกภายใต้ข้อ 19

คณาจารย์จากมหาวิทยาลัยต่างๆ ทั่วประเทศ มีความเห็นว่าการแสดงออกครั้งนี้เป็นการแสดงออกตามครรลองของกฎหมาย บนหลักการพื้นฐานของระบอบประชาธิปไตย และข้อเสนอทั้งสิบประการของผู้ชุมนุมมิได้เป็นการละเมิดกฎหมายอาญาในส่วนที่เกี่ยวข้องกับพระมหากษัตริย์ ไม่ปรากฏข้อความใดที่ถือได้ว่าเป็นการหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายต่อองค์พระมหากษัตริย์แต่อย่างใด ในทางตรงกันข้าม ข้อเสนอเหล่านี้คือข้อเสนออย่างตรงไปตรงมาในการธำรงไว้ซึ่งสถาบันกษัตริย์ในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข

มหาวิทยาลัยในฐานะสถาบันทางวิชาการซึ่งมีบทบาทสำคัญในการส่งเสริมการแสวงหาทางออกเพื่อความก้าวหน้าของสังคมไทย ควรที่จะประกาศตนเป็นพื้นที่ที่เปิดโอกาสในการแสดงความคิดเห็น โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเด็นอันเป็นประโยชน์สาธารณะ ซึ่งควรต้องยกขึ้นมาวิเคราะห์ถกเถียงในพื้นที่สาธารณะ เพื่อแก้ไขปัญหาของประเทศ มิใช่หลีกเลี่ยงหรือปิดกั้นเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นนั้น ยิ่งไปกว่านั้นมหาวิทยาลัยควรแสดงให้เห็นและสนับสนุนให้สังคมไทยเผชิญหน้ากับปัญหาอันท้าทายนี้ด้วยความอดทนอดกลั้น อันเป็นลักษณะที่สำคัญอย่างยิ่งของสังคมประชาธิปไตย แม้ว่าอาจจะมีความเห็นมากมายที่เราไม่ได้ถูกใจ แต่ตราบใดที่ความเห็นนั้นไม่ได้ยุยงปลุกปั่นให้เกิดความรุนแรงขึ้นในสังคม การยอมรับความเห็นต่างและการเปิดพื้นที่เพื่อพูดคุยต้องเป็นทางออกที่สังคมอารยะเลือกใช้ การประณามความคิดเห็นแตกต่างว่าเป็นการก้าวล่วงหรือจาบจ้วงนั้นไม่ได้ทำให้สังคมของเราเติบโตทางปัญญา การถกเถียงพูดคุยทั้งหมดจะถูกลดทอนคุณค่าว่าเป็นเพียงความคิดเห็นที่ก้าวร้าว

คณาจารย์จากมหาวิทยาลัยต่างๆ ทั่วประเทศ เชื่อว่าข้อเสนอของผู้ชุมนุมเป็นการใช้เสรีภาพในการแสดงออกตามรัฐธรรมนูญและตามกฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ ข้อเสนอเหล่านี้เรียกร้องความกล้าหาญในการพูดถึงประเด็นที่มีความอ่อนไหวในสังคมไทย แทนที่จะเบียดขับข้อเสนอเหล่านี้ออกไป สังคมไทยควรเรียนรู้ที่จะยกระดับเพดานความอดทนอดกลั้นและพูดคุยกันด้วยเหตุผล เพื่อความยั่งยืนของประชาธิปไตยต่อไปในสังคม

12 สิงหาคม 2563

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo