World News

‘รัสเซีย’ ตอบโต้ต่างชาติไม่มั่นใจ ‘วัคซีนโควิด-19’ เผยจะผลิตล็อตแรกใน 2 สัปดาห์

“รัสเซีย” ตอบโต้ต่างชาติไม่มั่นใจ “วัคซีนโควิด-19” ยันศึกษาละเอียดเพียงพอ พร้อมประกาศจะผลิตล็อตแรกในอีก 2 สัปดาห์ ด้านรัฐใน “บราซิล” ร่วมลงนามขอผลิตด้วย

วานนี้ (12 ส.ค. 63) มิคาอิล มูราชโก รัฐมนตรีกระทรวงสาธารณสุขของรัสเซียเผยว่า รัสเซียจะเริ่มผลิตวัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ (โควิด-19) ภายใน 2 สัปดาห์ข้างหน้า

มูราชโกแถลงข่าวว่า “อันดับแรกรัสเซียจะมุ่งผลิตวัคซีนเพื่อรองรับความต้องการของพลเมืองในประเทศก่อน” พร้อมเสริมว่าจะส่งให้ต่างประเทศเมื่อมีปริมาณมากพอ นอกจากนี้ได้ออกมาตอบโต้กรณีที่หลายประเทศแสดงความมั่นใจในวัคซีนดังกล่าว

กรณีที่หลายประเทศไม่มั่นใจในประสิทธิภาพวัคซีนของรัสเซียนั้น ไม่มีมูลความจริงแต่อย่างใด เนื่องจากแพลตฟอร์มที่วัคซีนข้างต้นถูกสร้างขึ้นมานั้น ผ่านการศึกษาอย่างละเอียด และผู้เชี่ยวชาญก็ได้เก็บข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ในปริมาณที่เพียงพอ เพื่อรับประกันความปลอดภัยของวัคซีน

วัคซีนโควิด-19 รัสเซีย

เมื่อวันที่ 11 สิงหาคม 2563 ที่ผ่านมา วลาดิเมียร์ ปูติน ประธานาธิบดีรัสเซีย กล่าวระหว่างการประชุมออนไลน์ร่วมกับเจ้าหน้าที่รัฐบาลว่า รัสเซียได้ขึ้นทะเบียนวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ตัวแรกของโลก ขณะที่ทัตยานา โกลิโควา รองนายกรัฐมนตรีรัสเซีย กล่าวว่าเจ้าหน้าที่สาธารณสุขจะเป็นบุคคลกลุ่มแรกที่ได้รับวัคซีน

ทั้งนี้ วัคซีนโควิด-19 ดังกล่าวมีชื่อว่า สปุตนิก วี (Sputnik V) ได้รับการพัฒนาร่วมโดยสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์ด้านระบาดวิทยาและจุลชีววิทยากามาเลยาและกองทุนเพื่อการลงทุนโดยตรงแห่งรัสเซีย (RDIF)

อย่างไรก็ดี การอ้างชัยชนะในการพัฒนาวัคซีนต้านไวรัสโควิด-19 ที่มีประสิทธิภาพ ในครั้งนี้ของปูติน เกิดขึ้นท่ามกลางข้อสงสัยว่า รัสเซียอาจจะลดขั้นตอนสำคัญในการพัฒนาวัคซีน

บรรดานักวิจารณ์ชี้ว่า การผลักดันให้เกิดการพัฒนา วัคซีนโควิด-19 ของ รัสเซีย นั้น ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากแรงกดดันของทำเนียบเครมลินที่ต้องการกำหนดภาพลักษณ์ของรัสเซียในฐานะแรงขับเคลื่อนด้านวิทยาศาสตร์ของโลก

วัคซีน รัสเซีย

รัฐใน “บราซิล” ลงนามขอร่วมผลิด วัคซีนโควิด-19 ของ รัสเซีย

จนถึงขณะนี้ รัสเซียไม่เคยเปิดเผยข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ใดๆ เกี่ยวกับการทดลองวัคซีนออกมาเลย ซึ่งสำนักข่าวซีเอ็นเอ็นของสหรัฐ ย้ำด้วยว่า ทางซีเอ็นเอ็น ไม่สามารถยืนยันในคำกล่าวอ้างถึงความปลอดภัย หรือประสิทธิภาพ ของวัคซีนตัวนี้ได้

กระนั้นก็ตาม เจ้าหน้าที่รัสเซียเปิดเผยต่อซีเอ็นเอ็นว่า มีประเทศต่างๆ อย่างน้อย 120 ชาติ รวมถึงบริษัทสหรัฐจำนวนหนึ่งที่แสดงความสนใจในวัคซีนต้านโควิดของรัสเซีย

ท่ามกลางข้อสงสัยต่างๆ ล่าสุดสถาบันเทคโนโลยีแห่งรัฐปารานา (Tecpar) ประเทศบราซิล ได้ด้ลงนามข้อตกลงความร่วมมือกับกองทุนเพื่อการลงทุนโดยตรงแห่งรัสเซีย เพื่อทำการผลิตและแจกจ่ายวัคซีนสปุตนิก-วี ในบราซิล รวมถึงประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคละตินอเมริกา

โดย Tecpar ประกาศว่า จะเริ่มผลิต วัคซีนโควิด-19 ที่พัฒนาโดยรัสเซียในครึ่งหลังของปี 2564 และอาจจะมีการนำเข้าวัคซีนจากรัสเซียเร็วกว่าที่กำหนด หากได้รับการอนุมัติจากหน่วยงานของบราซิล รวมถึงอาจจะมีส่วนร่วมกับรัสเซียในการพัฒนาวัคซีนระยะ 3 ที่ทดลองกับคนจำนวนมากด้วย

หลากความเคลื่อนไหวเกี่ยวกับวัคซีน

นอกจากการพัฒนาวัคซีนโควิด-19 ในประเทศรัสเซียแล้ว เมื่อต้นเดือนสิงหาคม 2563 ที่ผ่านมา ไมเคิล ไรอัน กรรมการบริหารประจำโครงการภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุขของ องค์การอนามัยโลก (WHO) แถลงข่าวว่า วัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 จำนวน 6 รายการ ซึ่งรวมถึง 3 รายการจากจีน ได้เข้าสู่การทดลองระยะที่ 3 แล้ว

วัคซีนโควิด-19 ของจีนทั้ง 3 รายการมาจาก บริษัท ซิโนวัค ไบโอเทค จำกัด, สถาบันยาชีววัตถุอู่ฮั่น และ สถาบันยาชีววัตถุปักกิ่ง สังกัดบริษัท ไชน่า เนชันนัล ฟาร์มาซูติคอล กรุ๊ป (ซิโนฟาร์ม)

ส่วนวัคซีนอีก 3 รายการมาจาก ความร่วมมือระหว่างมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด/แอสตราเซเนกา (AstraZeneca), โมเดอร์นา (Moderna)/สถาบันโรคภูมิแพ้และโรคติดต่อแห่งชาติของสหรัฐ (NIAID) รวมถึงไบโอเอ็นเทค (BioNTech)/ฟู่ซิงฟาร์มา (Fosun Pharma)/ไฟเซอร์ (Pfizer)

ด้านฮัลเดลบลัตต์ (Handelsblatt) หนังสือพิมพ์เยอรมนี รายงานเมื่อวันที่ 10 สิงหาคม 2563 อ้างสเตลลา ไคเรียคิเดส คณะกรรมาธิการยุโรปด้านความปลอดภัยทางอาหารและยา รายงานว่า วัคซีนโควิด-19 ตัวแรกอาจพร้อมใช้ช่วงปลายปีนี้หรือต้นปีหน้า

“แม้การคาดหมายในขั้นนี้จะยังมีความเสี่ยง แต่ข้อบ่งชี้ต่างๆ ก็อยู่ในทิศทางที่ดี” ไคเรียคิเดสระบุกับหนังสือพิมพ์ฯ พร้อมเสริมว่าวัคซีนอาจไม่สามารถแก้ปัญหาทั้งหมดได้ในทันที แต่จะ “เอื้อให้กลับสู่ภาวะปกติอย่างค่อยเป็นค่อยไป” เมื่อ “ประชาชนจำนวนมาก โดยเฉพาะในกลุ่มเสี่ยง” ได้รับวัคซีนแล้ว

อ่านข่าวเพิ่มเติมคลิก

Avatar photo