Politics

‘ฝ่ายมั่นคง’ ปรามชุมนุมเกินขอบเขต วอนดึงสตินักศึกษา อย่าเป็นเครื่องมือการเมือง

“ฝ่ายความมั่นคง” ปราม ชุมนุม เกินขอบเขต แตะประเด็นอ่อนไหว วอนสังคมหนักแน่น ช่วยเตือนสตินักศึกษาอย่าตกเป็นเครื่องมือการเมือง

วันนี้ (12 ส.ค. 63) พล.ท.คงชีพ ตันตระวาณิชย์ โฆษก กระทรวงกลาโหม เปิดเผยว่า ฝ่ายความมั่นคงมีความกังวลกับสถานการณ์การชุมนุมที่มีการปลุกชี้นำไปสู่การเรียกร้องในประเด็นที่ละเอียดอ่อน อันจะนำมาซึ่งความแตกแยกของผู้คนในสังคม โดยเฉพาะข้อเรียกร้องที่เกินขอบเขตต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ ซึ่งเป็นศูนย์รวมจิตใจของคนทั้งชาติ

ชุมนุม คงชีพ ตันตระวาณิชย์

พล.ท.คงชีพ กล่าวว่า การทำงานของฝ่ายความมั่นคง ยังยึดมั่นและเคารพในสิทธิและเสรีภาพของประชาชน ที่ถูกกำหนดควบคู่กับหน้าที่ของปวงชนชาวไทยในรัฐธรรมนูญ ซึ่งการชุมนุมและการแสดงออก ถือเป็นสิทธิและเสรีภาพของเราทุกคนที่สามารถกระทำได้ภายใต้กรอบกฎหมายที่กำหนด

ขณะเดียวกันเราทุกคน ต้องมีหน้าที่รักษาไว้ซึ่งสถาบันหลักของชาติ รวมทั้งปฏิบัติตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด และไม่กระทำการใดที่อาจก่อให้เกิดความแตกแยกเกลียดชังกันในสังคม

การชุมนุม ที่แฝงไปด้วยข้อเรียกร้องที่ล่อแหลมและละเอียดอ่อนดังกล่าว จึงอาจนำมาซึ่งการเผชิญหน้าและเป็นอันตรายต่อความแตกแยกของผู้คนในสังคมวงกว้าง ซึ่งถือเป็นหน้าที่ของทุกคน ทุกฝ่ายต้องร่วมกันเตือนสติและช่วยควบคุมอารมณ์ทางสังคม อย่างไรก็ตาม

ฝ่ายความมั่นคงยังเชื่อมั่นว่า การแสดงออกทางความคิดของนักเรียน นิสิต นักศึกษา ถือเป็นพลังบริสุทธ์ของสังคมที่มีมาอย่างต่อเนื่องและเป็นพัฒนาการทางสังคมที่สานต่อกันมาจากรุ่นสู่รุ่น ยากจะแยกกันได้ และมั่นใจว่าเราคนไทยทุกคน ต่างหนักแน่นและมีดุลยพินิจดีพอที่จะไม่ตกเป็นเครื่องมือทางการเมืองของกลุ่มใดๆ

117214430 116659103475552 2325541643512928182 o

การแสดงความกังวลของฝ่ายต่างๆ เกิดขึ้นอย่างชัดเจนมากขึ้น หลังจาก การชุมนุม ของกลุ่มธรรมศาสตร์และการชุมนุม มีการพูดเรื่องอ่อนไหวบนเวทีและมีการยื่นข้อเรียกร้องให้ปฏิเสธรูปสถาบัน 10 ข้อ ส่งผลให้เกิดการแสวิพากษ์วิจารณ์และแรงกดดันไปยังมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จนกระทั่งมหาวิทยาธรรมศาสตร์ต้องออกแถลงการณ์ชี้แจงและขอโทษสังคมเมื่อวานนี้ (11 ส.ค. 63)

“… ตลอดระยะเวลา 86 ปีที่ผ่านมา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ได้ดำรงตนอยู่ในหน้าประวัติศาสตร์สังคมและการเมืองบนหลักการประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และเปิดกว้างทางความคิดเห็น และส่งเสริมเสรีภาพในการแสดงออกในขอบเขตของรัฐธรรมนูญและกฎหมาย จึงได้อนุญาตให้ใช้สถานที่ในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต จัดกิจกรรมตามวัตถุประสงค์ที่ขอไว้ใน 3 ประเด็นข้างต้นเท่านั้น

อย่างไรก็ตาม ได้เกิดการแสดงออกนอกเหนือขอบเขตที่ได้ขออนุญาต โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องที่ละเอียดอ่อนต่อความรู้สึกของประชาชนในวงกว้าง ซึ่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์มิได้นิ่งนอนใจ และจะดำเนินการตามมาตรการภายใต้บทบาทหน้าที่ของมหาวิทยาลัย ในฐานะสถาบันอุดมศึกษาที่มุ่งผลิตบัณฑิตที่รับผิดชอบต่อสังคม ดังต่อไปนี้

  1. การแสดงออกที่เกินกว่าขอบเขตที่เกิดขึ้นนั้น เป็นเรื่องความรับผิดชอบส่วนบุคคลของผู้ที่แสดงออก ซึ่งได้มีการตกลงระหว่างผู้จัดและเจ้าหน้าที่ตารวจในประเด็นนี้ก่อน การชุมนุม แล้ว เรื่องกระบวนการทางกฎหมายโดยเฉพาะอย่างยิ่งต่อบุคคลที่มิใช่นักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จึงเป็นเรื่องการดำเนินการของเจ้าหน้าที่ที่มีอำนาจหน้าที่ โดยมหาวิทยาลัยจะให้ความร่วมมือและให้ความเป็นธรรมต่อทุกฝ่าย
  2. สำหรับการแสดงออกของผู้ที่เป็นนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ที่ไม่เหมาะสมนั้น มหาวิทยาลัยจะดำเนินการอย่างเป็นธรรมตามข้อเท็จจริงภายใต้ข้อบังคับของมหาวิทยาลัย
  3. มหาวิทยาลัยจะป้องกันมิให้เหตุการณ์เช่นนี้เกิดขึ้นอีก โดยจะเคร่งครัดเรื่องการใช้พื้นที่จัดกิจกรรมในมหาวิทยาลัย และจะไม่อนุญาตให้ใช้พื้นที่มหาวิทยาลัยจัดกิจกรรมที่มีลักษณะเคลื่อนไหวทางการเมืองที่สุ่มเสี่ยงต่อการละเมิดกฎหมาย”

สุดท้ายนี้ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ขอแสดงจุดยืนว่า มหาวิทยาลัยฯ ยึดมั่นในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และมหาวิทยาลัยสนับสนุนการใช้สิทธิเสรีภาพของนักศึกษาภายใต้กรอบแห่งรัฐธรรมนูญและกฎหมายของราชอาณาจักรไทย ตลอดจนศีลธรรมอันดีของสังคม

ชุมนุม

“ประชาชนปลดแอก” เดินหน้านัด ชุมนุม ใหญ่

อย่างไรก็ตาม ล่าสุดคณะประชาชนปลดแอกยังเดินหน้านัด ชุมนุม ใหญ่ในวันที่ 16 สิงหาคม 2563 ตามที่ประกาศไว้

สืบเนื่องจากการชุมนุมของกลุ่มเยาวชนปลดแอก เมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม 2563 กลุ่มเยาวชนปลดแอกและแนวร่วมผู้มีอุดมการณ์ประชาธิปไตยจึงมีความเห็นร่วมกันว่า หากจะบรรลุ 3 ข้อเรียกร้องที่ได้ประกาศนั้น ลำพังเพียงแค่เยาวชนไม่เพียงพอในการต่อสู้อีกต่อไป ในวันที่ 7 สิงหาคม 2563 จึงประกาศจัดตั้งคณะประชาชนปลดแอกเพื่อเพิ่มการมีส่วนร่วมของประชาชนและนำไปสู่การบรรลุข้อเรียกร้องทั้ง 3 ประการ

ดังนั้นคณะประชาชนปลดแอกจึงได้ประกาศนัดหมาย การชุมนุม เพื่อเรียกร้องประชาธิปไตย ในวันอาทิตย์ที่ 16 สิงหาคม 2563 ณ อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ถนนราชดำเนิน เวลา 15.00 – 21.00 น. และเพื่อเป็นแนวทางที่ชัดเจนในการเคลื่อนไหวทางการเมืองของคณะประชาชนปลดแอก รวมถึงสร้างความเข้าใจให้กับสาธารณชน คณะประชาชนปลดแอกจึงแถลงหลักการเคลื่อนไหวผ่าน 3 ข้อเรียกร้อง 2 จุดยืน และ 1 ความฝัน ดังนี้

3 ข้อเรียกร้องของคณะประชาชนปลดแอก ประกอบด้วย

  1. รัฐบาลต้อง “หยุดคุกคามประชาชน” ที่ออกมาใช้สิทธิและเสรีภาพตามหลักการประชาธิปไตย
  2. รัฐบาลต้อง “ร่างรัฐธรรมนูญใหม่” ที่มาจากเจตจำนงของประชาชน เพื่อประโยชน์แก่สาธารณชนอย่างแท้จริง
  3. รัฐบาลต้อง “ยุบสภา” เพื่อเป็นการเปิดทางให้ประชาชนสามารถแสดงเจตจำนงในการเลือกผู้แทนของตนได้อีกครั้ง

บนหลักของ 2 จุดยืน คือ

  1. ต้องไม่มีการทำรัฐประหาร
  2. ต้องไม่มีการจัดตั้งรัฐบาลแห่งชาติ

EdNAl5sUYAAqR1b

และอีก 1 ความฝัน ที่คณะประชาชนปลดแอกหวังให้เกิดขึ้นในประเทศไทยคือ การมี “ระบอบประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ” อย่างแท้จริง ซึ่งความฝันนี้มิใช่ความฝันอันเลื่อนลอย แต่สามารถเกิดขึ้นจริงได้ตามกระบวนการรัฐธรรมนูญในระบอบประชาธิปไตยที่ประชาชนเป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตยอย่างแท้จริง

เมื่อมีการร่างรัฐธรรมนูญใหม่ที่เป็นประชาธิปไตย ความต้องการที่แท้จริงของประชาชนจะถูกพูดถึงอย่างเป็นรูปธรรม และไม่ว่าจะเป็นใครที่อยู่ในประเทศนี้จะต้องอยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญอย่างเสมอหน้ากันโดยไม่มีข้อยกเว้น

คณะประชาชนปลดแอกจะยึดถือในหลักการดังกล่าวนี้จนกว่าจะบรรลุ ด้วยเชื่อว่าจะสามารถนำพาประเทศไปสู่ความสงบสุข เจริญก้าวหน้า และความมั่นคงบริบูรณ์ได้สืบไป

อ่านข่าวเพิ่มเติมคลิก

Avatar photo