Politics

ยอดผู้ติดเชื้อวันนี้ยังเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ‘หมอธีระ’ ย้ำต้องตั้งการ์ดให้ดี!

ยอดผู้ติดเชื้อวันนี้ อยู่ที่ 20,483,469 คน เพิ่มขึ้น 279,135 คน เสียชีวิตเพิ่มอีก 6,771 คน “หมอธีระ” ย้ำต้องตั้งการ์ดให้ดี พร้อมกำชับควรหยุดแง้มประตูประเทศ

รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก Thira Woratanarat รายงาน ยอดผู้ติดเชื้อวันนี้ โดยระบุว่า สถานการณ์ทั่วโลกล่าสุด 12 สิงหาคม 2563 ยอดผู้ติดเชื้อวันนี้ รวม 20,483,469 คน เมื่อวานติดเพิ่มไปถึง 279,135 คน เสียชีวิตเพิ่มอีก 6,771 คน

  • อเมริกา ติดเพิ่ม 61,360 คน รวมแล้ว 5,300,287 คน เสียชีวิตเพิ่มถึง 1,414 คน

ที่ฟลอริด้า จากวันที่ 9 กรกฎาคมถึง 9 สิงหาคม… เพียงหนึ่งเดือน มีเด็กอายุน้อยกว่า 18 ปี ติดเชื้อเพิ่มขึ้นถึง 137% โดยเพิ่มจาก 16,797 คนไปเป็น 39,735 คน

ในขณะที่ภาพรวมของประเทศ จำนวนเด็กติดเชื้อเพิ่มขึ้น 90% ภายในเวลาเดือนเดียว ยอดเด็กติดเชื้อสะสมเพิ่มจาก 179,990 คนไปเป็นกว่า 380,000 คน…ดังนั้นหลังจากที่ประเทศไทยเราเริ่มเปิดเรียนกันเต็มที่ ขอให้ทุกคนช่วยกันป้องกันตัวอยู่เสมอนะครับ ทั้งผู้ปกครอง เด็กๆ และคุณครู

ยอดผู้ติดเชื้อวันนี้

  • บราซิล ติดเพิ่ม 52,160 คน ยอดรวม 3,109,630 คน
  • อินเดีย ติดเพิ่มถึง 61,252 คน รวม 2,328,405 คน
  • รัสเซีย ติดเพิ่ม 4,945 คน รวม 897,599 คน
  • แอฟริกาใต้ เม็กซิโก เปรู สเปน สหราชอาณาจักร เยอรมัน ฝรั่งเศส อิหร่าน ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย ก็ติดกันเพิ่มหลักพันถึงหลายพันต่อวัน
  • อีกหลายประเทศในยุโรป รวมถึง ปากีสถาน ญี่ปุ่น และออสเตรเลีย ติดกันหลายร้อยต่อวัน ญี่ปุ่นนั้นโดนระลอกสองตอนนี้รุนแรงกว่าระลอกแรกอย่างชัดเจน
  • เวียดนาม เกาหลีใต้ จีน ฮ่องกง ติดกันหลักสิบ
  • …ล่าสุดนิวซีแลนด์พบว่ามีคนติดเชื้อในประเทศรวดเดียว 4 คนที่เมืองโอ๊คแลนด์ ทำให้ต้องมีมาตรการล็อคดาวน์เมืองอีกครั้ง

สำหรับไทยเรา ศบค.เพิ่มผ่อนคลายเพิ่มอีกหลายเรื่อง ทั้งขนส่งสาธารณะบนบกและน้ำ โรงเรียนเปิดเต็มที่ และการแข่งกีฬาแบบมีผู้ชม ขอให้ทุกคนตระหนักถึงความเสี่ยงต่อการติดเชื้อ

การไม่มีรายงานเคสในประเทศ ไม่ได้แปลว่าไม่มีคนติดเชื้อ อาจมีอยู่ในชุมชนทั้งในแบบที่ไม่มีอาการ หรือมีอาการน้อยๆ คล้ายไข้หวัดหรือไข้หวัดใหญ่ ผู้ติดเชื้อสามารถแพร่แก่ผู้อื่นได้ตั้งแต่ระยะที่ไม่มีอาการราว 2.3 วัน

นอกจากนี้ การผ่อนคลายจนเกือบใช้ชีวิตกันปกติ จะทำให้คนแออัดมากขึ้น ผนวกกับการนำเข้ากลุ่มเป้าหมายต่างๆ จากต่างประเทศ ทำให้เสี่ยงเพิ่มมากมาย

เราจึงต้องตั้งการ์ดให้ดี ใส่หน้ากาก…ล้างมือบ่อยๆ…อยู่ห่างคนอื่นหนึ่งเมตร…พูดน้อยๆ…พบปะคนน้อยลงสั้นลง…เลี่ยงที่แออัดที่ชุมนุมที่อโคจร

หมั่นสังเกตอาการตนเองและครอบครัว หากไม่สบายให้หยุดงานหยุดเรียนและรีบไปตรวจรักษาตั้งแต่เนิ่นๆ

รศ.นพ.ธีระ โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กวานนี้ (11 ส.ค.) เล่าถึงเรื่องการเดินทางไปร่วมประชุมว่า “เรื่องหดหู่” เรื่องแจ้งเพื่อทราบคือ สถานการณ์ปัจจุบันน่าเป็นห่วงมาก รัฐกำลังผ่อนคลายจนใช้ชีวิตกันปกติ ขนส่งสาธารณะจะกลับมาแน่นเหมือนเดิม โรงเรียนก็เปิดเต็มที่ แถมกำลังมีการทยอยเข้ามาขอกลุ่มเป้าหมายต่างๆ ที่รัฐอนุญาตให้นำเข้าจากต่างประเทศ ทั้งแรงงานต่างด้าว นักเรียนนักศึกษาต่างชาติ และกลุ่มอื่นๆ อีกหลายกลุ่มอย่างที่เห็นกัน…

หลายต่อหลายฝ่ายประเมินดูแล้ว สรุปได้หนึ่งประโยคคือ…”ในไม่ช้า คงจะมี new case”…

ท่านประธานเป็นอาจารย์ผู้ใหญ่ที่น่านับถือยิ่ง แสดงความเป็นห่วงเป็นใย และแจ้งให้ทุกคนได้ช่วยกันกระตุ้นเตือนให้ประชาชนทุกคนในสังคม “ป้องกันตนเองอยู่เสมอ…ใส่หน้ากาก ล้างมือ อยู่กันห่างๆ…” อาจารย์บอกว่า self protection สำคัญมาก

“เรื่องเด็ก” เราคุยกันถึงเรื่องเด็กๆ ที่เปิดเรียนเต็มที่ แม้ว่าหลักฐานทางการแพทย์จะพบว่า เด็กดูจะติดเชื้อได้ยากกว่าผู้ใหญ่ และมักมีอาการรุนแรงน้อยกว่า แต่ก็ประมาทไม่ได้เลย เพราะอย่างในอเมริกา หากใครตามข่าว ก็ย่อมทราบดีว่า มีเสียชีวิตได้ และมีอาการรุนแรงได้เหมือนกัน

คุณหมอจากสถาบันเด็กแห่งชาติ มาเล่าให้ฟัง เรื่องแผนเตรียมรับมือการระบาดระลอกสอง ส่วนตัวฟังแล้วก็รู้สึกถึงความพยายามทุ่มเทเต็มที่ของบุคลากรทางการแพทย์ของประเทศเรา ขอชื่นชมจากใจจริง…

“เรื่องเตียง” ตอนนี้ในกรุงเทพมหานครและปริมณฑล เรามีเตียงว่างพอที่จะไว้รับมือ COVID-19 อยู่ประมาณ 2,400 เตียง และไอซียูห้องความดันลบอีกประมาณ 172 ห้อง ในอดีตที่ผ่านมา ผู้ป่วยติดเชื้อแต่ละคนจะอยู่โรงพยาบาลนานถึง 30 วัน กล่าวคือรักษาประมาณสองสัปดาห์ และกักตัวต่อเพื่อเฝ้าสังเกตอาการอีกสองสัปดาห์

แต่หากระบาดซ้ำ และยังขืนใช้เวลาในโรงพยาบาลนานเท่าเดิม ที่ประชุมเห็นตรงกันว่า เตียงจะเต็มอย่างรวดเร็ว และไม่น่าจะพอหากเจอติดเชื้อใหม่ต่อวันจำนวนมากๆ ลองคำนวณคร่าวๆ ให้พวกเราดูกันครับ…

ยอดผู้ติดเชื้อวันนี้

ผู้ป่วยติดเชื้อ 100 คน มี 20 คนไม่มีอาการ มี 65 คนมีอาการเล็กน้อยแต่ต้องนอนโรงพยาบาลเพื่อรับการดูแลรักษา และอีก 15 คนที่อาการหนัก ปอดอักเสบ โดย 5 คนอาจต้องช่วยหายใจและนอนไอซียู

ด้วยทรัพยากรที่มีอยู่ หากระบาดระลอกสองในกรุงเทพและปริมณฑล โดยตั้งสมมติฐานว่าไม่รับจากจังหวัดอื่นๆ เลย…หากติดเชื้อวันละ 100 คน และสะสมกันไป จะมีโอกาสที่เตียงเต็มได้ภายในเวลา 4-6 สัปดาห์ครับ กล่าวคือเคสสะสมเกิน 3,200-3,400 คนเมื่อไหร่ จะเริ่มเห็นความยากลำบากในการรับมือ

พอถึงจุดนั้น จะเกิดการปรับตัวผ่อนลงได้บ้างหากมีการรักษาหายเยอะ แต่หากการระบาดยังเท่าเดิม ทรัพยากรจะเริ่มขาดเคลนจริงภายใน 2-4 สัปดาห์หลังจากนั้น และจะเกิดปัญหาท่วมท้น จนต้องผ่องถ่ายออกไปนอกโรงพยาบาล ดังเช่นในต่างประเทศ กล่าวคือ ผลักให้คนอาการน้อยไปอยู่ที่บ้าน และจะกลับเป็นการกระหน่ำให้การระบาดรุนแรงมากขึ้นเป็นเท่าทวีคูณ และจะเกิดปรากฏการณ์ใบไม้ร่วงตามมาแบบคุมไม่อยู่ได้

ที่กล่าวมานั้น วิเคราะห์เฉพาะส่วนกทม.และปริมณฑล ซึ่งเป็นเมืองหลวง และชุมชนเมืองที่มีประชากรแออัด สุ่มเสี่ยงต่อการระบาด ยังไม่ได้วิเคราะห์เผื่อสำหรับจังหวัดอื่นๆ ที่อาจรับการส่งต่อไปฝากดูแลรักษาหากกทม.และปริมณฑลรับไม่ไหว ก็อาจทำให้หายใจหายคอได้นานขึ้นกว่าที่คาด

อย่างไรก็ตาม ต้องเผื่อใจไว้ด้วยว่า นอกจากฉากข้างต้น อาจเกิดปรากฏการณ์หนักกว่าเดิม กรณีที่ต่างจังหวัด เช่น เมืองท่องเที่ยวต่างๆ หรืออื่นๆ เอาไม่อยู่ แล้วจะต้องส่งต่อมารับการรักษาในกทม. ซึ่งก็มีความเป็นไปได้ และจะโหลดมากขึ้นกว่าเดิม วิกฤติเร็วกว่าเดิม

“เรื่องอุปกรณ์ป้องกัน” ขณะนี้แต่ละโรงพยาบาลพอจะมีหน้ากากอนามัยเพื่อใช้ราว 3 เดือน ประเทศไทยตอนนี้ผลิตได้ราว 4.5 ล้านชิ้นต่อวัน คิดว่าน่าจะพอไหว แต่ถุงมือทางการแพทย์ในบางโรงพยาบาลใหญ่เริ่มขาดแคลน เรื่องชุดป้องกันชนิดต่างๆ พอจะมีสำรองในคลัง แต่จำนวนจำกัด เพราะส่วนใหญ่ต้องสั่งซื้อจากต่างประเทศ

“เรื่องยาที่มีไว้ทดลองใช้รักษา” ยา Hydroxychloroquine มีอยู่ราว 400,000 เม็ด และองค์การเภสัชกรรมทำเรื่องสั่งซื้อจากบริษัทอีกเก้าแสนเม็ด…แต่ข่าวร้ายคือ ยานี้ทางองค์การอนามัยโลก และ US FDA ได้เพิกถอนออกจากรายชื่อยาที่ใช้รักษาโรค COVID-19 ไปแล้ว

ยา Favipiravir มีสำรองในคลังอยู่จำนวนจำกัด ทางอย.กำลังจะขึ้นทะเบียนยาฉุกเฉิน (EUA) ให้แก่บริษัทยาที่ได้รับมอบสิทธิในการผลิตยานี้ คาดว่าจะขึ้นทะเบียนในเดือนกันยายน

ส่วนยาดัง ที่ใช้ในอเมริกา Remdesivir นั้น ทางอย. ดำเนินการขึ้นทะเบียนบริษัท 2 แห่ง และอีกแห่งกำลังรอการขึ้นทะเบียน เดิมคอร์สนึงราคาเป็นแสน แต่บริษัทที่ผลิตยาที่เพิ่งมาขึ้นทะเบียนนี้ ขายหลอดละ 3,000 บาท คำนวณคร่าวๆ น่าจะลดค่าใช้จ่ายเหลือราวหนึ่งในสาม

“เรื่องวัคซีน” ของไทยคงจะผลิตได้ช้ากว่าต่างประเทศ เพราะโครงสร้างพื้นฐานต้องมีการพัฒนา แม้แต่เรื่องการรับถ่ายทอดเทคโนโลยีเพื่อมาผลิตเอง หรือการสำรองเสี่ยงร่วมลงทุนล่วงหน้า ก็ยังติดปัญหาเรื่องกฎระเบียบที่ไม่เคยมีการทำมาก่อน การขับเคลื่อนจึงทำได้ค่อนข้างลำบาก

…ที่เล่ามาทั้งหมดนั้น อยากให้ตระหนักกันว่า โรค COVID-19 นี้ ติดง่ายกว่าไข้หวัดใหญ่ และยังไม่มียารักษามาตรฐาน และไม่มีวัคซีนป้องกัน… หากรัฐยังมุ่งขับเคลื่อนนโยบายโกยเงินเข้าประเทศแบบไม่ดูตาม้าตาเรือ โอกาสระบาดระลอกสองจะสูงมากๆ และจะเกิดในไม่ช้านี้

บอกด้วยความจริงใจว่า…แง้มประตูประเทศ ควรเบรคเพียงเท่านี้ อย่าหาเหาใส่หัวเลยครับ

ขอให้ทุกคนมีความสุขในวันแม่แห่งชาติ และแข็งแรงปลอดภัยทุกคน
ประเทศไทยต้องทำได้
ด้วยรักต่อทุกคน
รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์
คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo
Siree Osiri OHO BANGKOK