Business

ไร้เงาต่างชาติ 3 เดือน ซัด รายได้ท่องเที่ยว 6 เดือน วูบ 65.1% หวังครึ่งปีหลังทะยอยฟื้น

รายได้ท่องเที่ยว 6 เดือน หดตัว 65.1% กระทรวงท่องเที่ยวฯ เผย นักท่องเที่ยวหาย 66.1% หลังล็อกดาวน์ ไม่มีนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้าไทย 3 เดือนติด ยังหวังทะยอยฟื้น

ข้อมูลจาก กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา เปิดเผยว่า ในเดือนมิถุนายน 2563 ไม่มีนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ เข้ามาประเทศไทย เป็นเดือนที่ 3 ซึ่งเป็นผลมาจากมาตรการล็อกดาวน์ ปิดประเทศ เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ส่งผลให้ตั้งแต่เดือนมกราคม – มิถุนายน 2563 รายได้ท่องเที่ยว 6 เดือน จากนักท่องเที่ยวต่างชาติ อยู่ที่ 3.3 แสนล้านบาท หดตัว 65.15% จากช่วงเวลาเดียวกันของปีที่ผ่านมา

รายได้ท่องเที่ยว 6 เดือน

ทั้งนี้ ผลจากการล็อกดาวน์ ทำให้ไม่มีนักท่องเที่ยวต่างชาติ เดินทางเข้ามาประเทศไทย ตั้งแต่เดือนเมษายน 2563 ส่งผลให้ จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติสะสม 6 เดือนแรกของปี 2563 อยู่ที่ 6.7 ล้านคน หดตัว 66.15%

อย่างไรก็ตาม กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ประเมินว่า อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวไทย ได้ ผ่านจุดต่ำสุดแล้ว ตั้งแต่เดือน เมษายน 2563

ขณะที่นักท่องเที่ยวชาวไทย ที่เริ่มเดินทางท่องเที่ยวได้ จากมาตรการผ่อนปรนของรัฐบาล ทำให้ระหว่างเดือน มกราคม-มิถุนายน 2563 มีจำนวนนักท่องเที่ยวชาวไทยสะสม 28.33 ล้านคน-ครั้ง หดตัว 63.07% สร้างรายได้สะสม 2.1 แสนล้านบาท หดตัว 61.16% เมื่อเทียบจากช่วงเวลาเดียวกันของปีที่ผ่านมา โดยปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่เดือนเมษายน 2563

ส่วนรายได้รวมนักท่องเที่ยวทั้งหมด ทั้งชาวไทยและต่างชาติ ในช่วง 6 เดือนแรก อยู่ที่ 5.4 แสนล้านบาท หดตัว 63.7% จากช่วงเวลาเดียวกันของปีที่ผ่านมา

เมื่อพิจารณาข้อมูลเฉพาะเดือน มิถุนายน 2563 พบว่า จำนวนนักท่องเที่ยว ไทยเที่ยวไทย อยู่ที่ 3.28 ล้านคน-ครั้ง ลดลง 74.57% และมีรายได้ 1.6 หมื่นล้านบาท หดตัว 80.10% จากเดือน มิถุนายน 2563

รายได้ท่องเที่ยว 6 เดือน

อย่างไรก็ตาม การที่ประเทศไทย สามารถควบคุมการระบาดของโรคโควิด -19 ได้เป็นอย่างดี ส่งผลให้ภาครัฐ ดำเนินมาตรการผ่อนปรน กิจกรรมทางสังคมและเศรษฐกิจ ภายในประเทศมากขึ้น เกิดการเดินทางท่องเที่ยวในประเทศที่ดีขึ้นตามลำดับ และคาดว่าจะปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง

ทั้งนี้ จังหวัดที่มีจำนวนนักท่องเที่ยวชาวไทยสูงสุด 3 อันดับแรก ได้แก่ กรุงเทพมหานคร กาญจนบุรี และ นครราชสีมา ตามลำดับ

สำหรับในปี 2562 ที่ผ่านมา นักท่องเที่ยวต่างชาติ เข้ามาท่องเที่ยวประเทศไทย มีการใช้จ่ายอยู่ที่ 1.93 ล้านล้านบาท คิดเป็น 64% จากรายได้การท่องเที่ยวของไทยทั้งหมด และอีก 36% หรือรายได้กว่า 1.08 ล้านล้านบาท มาจากกลุ่มไทยเที่ยวไทย

ขณะที่ ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจทีเอ็มบี (TMB Analytics) คาดการณ์ว่า ในครึ่งปีหลัง 2563 นี้ การท่องเที่ยวจะฟื้นตัวใน 10 จังหวัดหลัก เช่น ชลบุรี ภูเก็ต เชียงใหม่ ฯลฯ โดยเฉพาะการที่มีวันหยุดระยะสั้นๆ (2-3 วัน) จะช่วยการท่องเที่ยว ของกลุ่มนักท่องเที่ยวชาวไทย และเพิ่มเม็ดเงิน ที่ใช้จ่ายในการท่องเที่ยวไทย มากขึ้น

นอกจากนี้ จากที่ภาครัฐออกมาตรการกระตุ้นท่องเที่ยวในประเทศ วงเงิน 2.2 หมื่นล้านบาท สำหรับ 3 แพ็คเกจ คือ “กำลังใจ-เราไปเที่ยวกัน-เที่ยวปันสุข” ในช่วงกรกฎาคมถึงตุลาคมปีนี้ คาดว่าจะกระตุ้นต่อยอดค่าใช้จ่ายท่องเที่ยวได้ 6.4 หมื่นล้านบาท และจากปัจจัยสนับสนุน คาดช่วยพยุงให้รายได้จากการท่องเที่ยวทั้งปีนี้อยู่ที่ 5.7 แสนล้านบาท ลดลง 46.8% จากปีที่ผ่านมา

รายได้ท่องเที่ยว 6 เดือน

ดังนั้นสำหรับผู้ประกอบการควรเน้นการ ขยายตลาดไทยเที่ยวไทย ในช่วงโควิด-19 โดยเฉพาะกลุ่มคนไทยที่นิยมไปเที่ยวต่างประเทศ ให้กลับมาเที่ยวเมืองไทย เพราะเป็นกลุ่มที่มีกำลังซื้อ โดยมีจำนวนประมาณ 10 ล้านคน ต่อปี มีค่าใช้จ่าย 3.2 หมื่นบาทต่อคนต่อทริป และที่ผ่านมามีจุดหมายในการท่องเที่ยวหลัก 5 อันดับแรก ได้แก่ อาเซียน ยุโรป ญี่ปุ่น จีน และเกาหลีใต้

ด้าน ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า มาตรการกระตุ้นการท่องเที่ยวในประเทศของภาครัฐ จะส่งผลดีต่อผู้ประกอบการ ในภาคการท่องเที่ยว ที่ได้รับผลกระทบอย่างหนัก จากการระบาดของโควิด-19 เนื่องจากช่วยเหลือครอบคลุมผู้ประกอบการ ในห่วงโซ่ของภาคการท่องเที่ยว ทั้งทางตรงและทางอ้อม อาทิ ธุรกิจโรงแรม ธุรกิจนำเที่ยว ธุรกิจขนส่ง และธุรกิจท้องถิ่นอย่างร้านขายของที่ระลึก หรือร้านอาหาร เป็นต้น

ทั้งนี้ ภายใต้สมมติฐานที่ไม่มีการระบาดรอบใหม่ที่รุนแรงในไทย ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า ทั้งปี 2563 คนไทยเดินทางท่องเที่ยวในประเทศน่าจะอยู่ที่ 89.5-91.5 ล้านคน-ครั้ง หรือหดตัว 46.4 – 45.2% จากปีที่ผ่านมา ขณะที่รายได้จากคนไทยเดินทางท่องเที่ยวในประเทศน่าจะมีมูลค่า 5.45-5.67 แสนล้านบาท หรือหดตัว 49.5 – 47.5% จากปีที่ผ่านมา ซึ่งเป็นตัวเลขคาดการณ์ที่ดีกว่าที่เคยประเมินไว้

11AUG ผลกระทบอุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทย 1

เปิดไทม์ไลน์สถานการณ์โรคโควิด-19 ที่ส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทย

  • 24 มกราคม รัฐบาลจีนประกาศระงับบริษัทนำเที่ยว ดำเนินกิจกรรม ในประเทศและต่างประเทศ
  • 12 กุมภาพันธ์ องค์การอนามัยโลก ประกาศตั้งชื่อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ อย่างเป็นทางการว่า “Covid-19”
  • 29 กุมภาพันธ์ กระทรวงสาธารณสุขไทย ประกาศให้ โรคติดเชื่อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ โรคโควิด-19 เป็นโรคติดต่อนตราย ตามพระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ. 2558
  • 12 มีนาคม องค์การอนามัยโลก ประกาศให้ โควิด-19 เป็นโรคระบาดใหญ่ (Pandemaic) ที่ระบาดไปทั่วโลก
  • 13 มีนาคม ทางการไทยประกาศยกเลิก VOA นักท่องเที่ยวขาวจีน และอีก 17 ประเทศ
  • 24 มีนาคม มาตรการเยียวยาผู้ประกันตน และผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจาก โควิด-19
  • 25 มีนาคม ประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน มีผลวันที่ 26 มีนาคม 2563
  • 3 เมษายน

-รัฐบาลไทย ประกาศห้ามประชาชนออกนอกเคหสถานในยามวิกาลทั่วประเทศ ระหว่างเวลา 22.00-04.00น.

-ประกาศสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย เรื่อง ห้ามอากาศยานทำการบิน เข้าสู่ประเทศไทย เป็นการชั่วคราว

  • 15 เมษายน ประกาศสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย เรื่องห้ามอากาศยานทำการบิน เข้าสู่ประเทศไทย เป็นการชั่วคราว (ฉบับที่ 3)

11AUG ผลกระทบอุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทย 2

  • 27 เมษายน ประกาศสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย เรื่องห้ามอากาศยานทำการบิน เข้าสู่ประเทศไทย เป็นการชั่วคราว (ฉบับที่ 4)
  • 3 พฤษภาคม ศบค.เริ่มบังคับใช้มาตรการผ่อนปรนระยะที่ 1
  • 16 พฤษภาคม ประกาศสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย เรื่องห้ามอากาศยานทำการบิน เข้าสู่ประเทศไทย เป็นการชั่วคราว (ฉบับที่ 5)
  • 17 พฤษภาคม ศบค.เริ่มบังคับใช้ มาตรการผ่อนปรน ระยะที่ 2
  • 29 พฤษภาคม คณะรัฐมนตรี มีมติต่อ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน อีก 1 เดือน มีกำหนดสิ้นสุด 30 มิถุนายน 2563
  • 1 มิถุนายน ศบค.เริ่มบังคับใช้ มาตรการผ่อนปรน ระยะที่ 3
  • 15 มิถุนายน ศบค.เริ่มบังคับใช้ มาตรการผ่อนปรน ระยะที่ 4
  • 24 มิถุนายน ศบค.เริ่มบังคับใช้ มาตรการผ่อนปรน ระยะที่ 5
  • 30 มิถุนายน คณะรัฐมนตรีมีมติ

-ขยายระยะเวลาประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในทุกเขตท้องที่ทั่วราชอาณาจักร ตั้งแต่วันที่ 1-31 กรกฏาคม 2563

-โครงการฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมภาคการท่องเที่ยว 2 โครงการ ดังนี้

1.โครงการเราเที่ยวด้วยกัน

2.โครงการกำลังใจ

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo