Business

ล้นตลาด! ปลดล็อกโรงงานหน้ากาก ขายตามปกติได้แล้ว ควบคุมราคา 2.50 บาท

ปลดล็อกโรงงานหน้ากาก ​”พาณิชย์” ประกาศขายตามช่องทางการค้าปกติได้แล้ว แต่คุมราคาขายปลีกชิ้นละ 2.50 บาท ตั้งเงื่อนไข หากเกิดวิกฤติระบาด ผู้ผลิตต้องพร้อมขายให้บุคลากรทางการแพทย์ และกลุ่มเสี่ยงก่อน

นายวิชัย โภชนกิจ อธิบดี กรมการค้าภายใน กล่าวหลังประชุมการบริหารจัดการหน้ากากอนามัย ว่าได้ออกประกาศสำนักงาน คณะกรรมการกลางว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ ฉบับที่ 27 พ.ศ.2563 เรื่อง ปลดล็อกโรงงานหน้ากาก หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการจำหน่ายหน้ากากอนามัย ลงวันที่ 11 สิงหาคม 2563 โดยปรับแนวทาง และหลักเกณฑ์การบริหารหน้ากากอนามัย ทางการแพทย์ใหม่ ให้ผู้ผลิตสามารถจำหน่ายได้ ตามกลไกตลาดปกติ จากเดิมกำหนดให้ต้องปันส่วนขาย ให้กับรัฐ แต่ต้องขายปลีกไม่เกินชิ้นละ 2.50 บาท

หากเกิดวิกฤติการระบาดขึ้นมาอีก หรือมีความจำเป็นเร่งด่วน ผู้ผลิตต้องพร้อม ที่จะขายให้กับบุคลากรทางการแพทย์ และกลุ่มเสี่ยงก่อนเป็นอันดับแรก ส่วนการส่งออก ยังกำหนดให้ผู้ผลิตต้องขออนุญาต จากคณะกรรมการเฉพาะกิจ ที่พิจารณาอนุญาตการส่งออกเช่นเดิม 

ปลดล็อกโรงงานหน้ากาก

ปลดล็อกโรงงานหน้ากาก เหตุล้นตลาด

สำหรับการปลดล็อก ให้ผู้ผลิตขายได้ตามช่องทางการค้าปกติ เป็นไปตามมติของคณะกรรมการเฉพาะกิจเกี่ยว กับการบริหารจัดการพัสดุ สำหรับการป้องกัน ควบคุม หรือรักษาโรคติดเชื้อโควิด-19 เนื่องจากขณะนี้กำลังการผลิตหน้ากากอนามัยทางการแพทย์ของไทยเพิ่มขึ้น จากเดิมที่เคยผลิตได้วันละ 1.2 ล้านชิ้น ช่วงแรกของการระบาด จากโรงงานที่ได้มาตรฐาน 9 แห่ง แต่ขณะนี้ผลิตได้เพิ่มเป็นวันละ 4.5 ล้านชิ้น จากโรงงานทั้งหมด 30 แห่ง ยังมีการนำเข้าอีกประมาณ 20 ล้านชิ้น ขณะที่บุคลากรทางการแพทย์ และกลุ่มเสี่ยง มีความต้องการใช้ราววันละ 3 ล้านชิ้น ทำให้มีส่วนเกินเหลืออยู่มาก

“ตั้งแต่วานนี้(11 ส.ค.) เป็นต้นไป โรงงานสามารถขายให้กับคู่ค้าได้ตามปกติ แต่ต้องขายปลีกชิ้นละไม่เกิน 2.50 บาท ตามราคาควบคุมที่กกร. กำหนด เป็นราคาที่โรงงานอยู่ได้ เพราะขณะนี้ ราคาวัตถุดิบสำคัญ อย่างเมลท์โบลน (แผ่นกรองเชื้อโรค) ราคาลดลงมาก จากการที่ผู้ผลิตในต่างประเทศ ส่งออกได้มากขึ้น ทำให้จากนี้ไป ผู้บริโภคจะหาซื้อหน้ากากอนามัยทางการแพทย์ตามท้องตลาดได้แล้ว” นายวิชัย กล่าว

ปลดล็อกโรงงานหน้ากาก

ทั้งนี้ หากผู้บริโภค พบว่าผู้ค้ารายใดขายราคาเกินกว่าชิ้นละ 2.50 บาท สามารถแจ้งได้ที่สายด่วน 1569 และที่สำนักงานพาณิชย์จังหวัดทั่วประเทศ จะจัดส่งเจ้าหน้าที่ออกตรวจสอบ หากพบขายเกินราคาควบคุม จะดำเนินการตามกฎหมาย มีโทษปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือทั้งจำทั้งปรับ และหากผู้ค้า อ้างว่า หน้ากากที่ขายเกินเป็นหน้ากากนำเข้า เมื่อส่งเจ้าหน้าที่ไปตรวจสอบ จะต้องพิสูจน์ให้ได้ว่าเป็นหน้ากากนำเข้าจริง เพราะอนุญาตให้ผู้นำเข้า คิดราคาขายโดยบวกเพิ่มค่าใช้จ่ายต่างๆ จากการนำเข้าได้ไม่เกิน 60% ของราคานำเข้า

มีสต็อกหน้ากากเพียงพอ

นอกจากนี้ ยังได้รับแจ้งจากกระทรวงสาธารณสุขว่า มีสต็อกหน้ากากอนามัย เก็บไว้ใช้เกิน 1 เดือนแล้ว ส่วนจังหวัดต่างๆ ที่ได้รับจัดสรรจากกระทรวงมหาดไทย มีสต็อกไว้มาก ทำให้หน่วยงานที่จำเป็นต้องใช้ หน้ากากอนามัย ไม่มีปัญหาการขาดแคลน

สำหรับหน้ากากอนามัยส่วนเกิน ที่มีการผลิตเพิ่มขึ้น 1.2 ล้านชิ้นต่อวัน คณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้มีมติให้กรมการค้าภายใน ไปหารือร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งกรมบัญชีกลาง กระทรวงมหาดไทย และกระทรวงสาธารณสุข หาแนวทางบริหารจัดการให้เหมาะสม

ทั้งนี้มีความเห็นตรงกันว่า รัฐจะรับซื้อหน้ากากอนามัยส่วนเกิน ไว้ทั้งหมด เพื่อนำมาขายต่อ ให้กับหน่วยงานที่มีความจำเป็นต้องใช้ ในราคาต้นทุน เช่น การบินไทย, สายการบินต่างๆ, สำนักงานตำรวจตรวจคนเข้าเมือง (สตม.) และบริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (ทอท.)  เพื่อรองรับการคลายล็อกดาวน์  ที่เปิดให้มีการเริ่มบินภายในประเทศ และ เริ่มเปิดรับคนต่างชาติบางกลุ่มเข้ามา

นายวิชัย กล่าวว่ากระทรวงพาณิชย์ เป็นหนึ่งในองค์ประกอบ ของคณะกรรมการเฉพาะกิจ เกี่ยวกับการบริหารจัดการพัสดุ สำหรับการป้องกัน ควบคุม หรือรักษาโรคติดเชื้อ ไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ได้เสนอให้คณะกรรมการเฉพาะกิจฯ พิจารณาปรับเปลี่ยน วิธีการจัดซื้อหน้ากากอนามัยใหม่

นายชินวัฒน์ มธุรพร รองประธานบริหาร บริษัท ไทย ฮอสพิทอล โปรดักส์ จำกัด ผู้ผลิตหน้ากากอนามัยทางการแพทย์ กล่าวว่า ถือเป็นการที่ที่รัฐปลดล็อกให้จำหน่ายหน้ากากอนามัยได้ตามช่องทางการค้าปกติ เพราะที่ผ่านมา โรงงานเสียโอกาสทางธุรกิจ แต่ลูกค้าในต่างประเทศเข้าใจ จากที่ต้องผลิตป้อนในประเทศให้เพียงพอก่อน

ปลดล็อกโรงงานหน้ากาก

หลังจากนี้บริษัทคงมุ่งผลิตเพื่อส่งออกให้มากขึ้น เพราะมาตรการของรัฐที่ผ่านมา ทำให้บริษัทส่งออกได้น้อย เนื่องจากต้องปันส่วนขายให้กับรัฐ โดยปกติจะส่งออกถึง 90% ของการผลิตทั้งหมด มีตลาดส่งออกอยู่ที่สหรัฐ ยุโรป ญี่ปุ่น เชื่อว่าแม้จะส่งออกเพิ่มขึ้น แต่ปริมาณยังเพียงพอแน่นอน ส่วนราคาวัตถุดิบที่ลดลงนั้น ล่าสุด เมลท์โบลน อยู่ที่กิโลกรัม (กก.) ละประมาณ 400-500 บาท จากในช่วงที่ราคาสูงสุดขึ้นไปถึงกก.ละเกือบ 2,000 บาท

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo
ทีมบรรณาธิการข่าว The Bangkok Insight