World News

‘เศรษฐกิจสิงคโปร์’ อ่อนแอลงอีก หั่นคาดการณ์ GDP ใหม่ติดลบลึก 5-7%

“เศรษฐกิจสิงคโปร์” ส่อแววอ่อนแอลงอีก แถลงหั่นประมาณการ GDP ปีนี้ใหม่ เป็นติดลบลึก 5-7% เหตุสถานการณ์โควิด-19 ทั่วโลกยังยืดเยื้อ

วันนี้ (11 ส.ค. 63) กระทรวงการค้าและอุตสาหกรรมของสิงคโปร์ ประกาศการปรับลดตัวเลขคาดการณ์การเติบโตของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) สำหรับปี 2563 จากเดิมติดลบ 4% ถึงติดลบ 7%  เป็น “ติดลบ 5% ถึงติดลบ 7%”

กระทรวงฯ ระบุว่า มีการพิจารณาสภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจระดับประเทศและระดับโลก รวมถึงผลประกอบการทางเศรษฐกิจของสิงคโปร์ในช่วงครึ่งแรกของปีนี้ ก่อนการปรับตัวเลขคาดการณ์ข้างต้น

นับตั้งแต่ปรับลดตัวเลขคาดการณ์การเติบโตของ GDP ปี 2563 เป็น “ติดลบ 7% ถึงติดลบ 4%” เมื่อเดือนพฤษภาคม 2563 เศรษฐกิจสิงคโปร์ มีแนวโน้มอ่อนแอลงเล็กน้อย โดยหลายภาคธุรกิจอุตสาหกรรมที่เปิดกว้างสู่ตลาดโลก (outward-oriented) ของสิงคโปร์จะยังคงถูกฉุดรั้งด้วยสภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจภายนอกที่ซบเซา

เศรษฐกิจ สิงคโปร์

การกลับมาเปิดพรมแดนระหว่างประเทศจะเป็นไปอย่างเชื่องช้ากว่าเดิม สืบเนื่องจากสถานการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ (โควิด-19) ทั่วโลกยังยืดเยื้อ ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อแนวโน้มของภาคธุรกิจอุตสาหกรรมในสิงคโปร์ที่ต้องพึ่งพาการท่องเที่ยวและการเดินทางทางอากาศ

ขณะที่ข้อกำหนดเกี่ยวกับมาตรการการจัดการความปลอดภัยได้ชะลอการกลับมาดำเนินกิจกรรมของภาคธุรกิจอุตสาหกรรม ซึ่งต้องพึ่งพาแรงงานต่างชาติที่พักอาศัยอยู่ตามที่พักต่างๆ ทั้งยังส่งผลกระทบล้นเกิน (spillover effect) ต่ออุตสาหกรรมที่สนับสนุนภาคธุรกิจอุตสาหกรรมดังกล่าวอีกด้วย

นอกจากนี้ กระทรวงฯ ประกาศว่า เศรษฐกิจสิงคโปร์ หดตัว 13.2% ในไตรมาส 2 ระหว่างเดือนเมษายน-มิถุนายน 2563 เมื่อเทียบปีต่อปี ซึ่งย่ำแย่ลงจากการหดตัว 0.3% ในไตรมาสก่อนหน้า และหากเทียบไตรมาสต่อไตรมาสโดยมีการปรับตามฤดูกาล เศรษฐกิจสิงคโปร์หดตัวลง 13.1% ในไตรมาส 2 ซึ่งมากกว่าช่วงไตรมาสแรกที่หดตัว 0.8%

เศรษฐกิจสิงคโปร์

นอกจากไวรัสโควิด-19 ได้ส่งผลกระทบทาง เศรษฐกิจสิงคโปร์ แล้ว ก็ยังส่งผลกระทบไปทั่วโลกรวมถึง “ประเทศไทย”

เมื่อเดือนมิถุนายน 2563 ธนาคารโลก ได้ปรับลดประมาณการณ์เศรษฐกิจไทยปีนี้ลง โดยคาดว่าจะติดลบ -5% จากเดิมที่คาดการณ์ไว้ปลายปีที่แล้วว่าจะขยายตัวได้ 2.9% ก่อนจะกลับมาขยายตัวได้ 4.1% ในปี 2564 และ 3.6% ในปี 2565 เนื่องจากผลกระทบการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่ทำให้มีการล็อคดาวน์กิจกรรมทางเศรษฐกิจ ส่งผลให้มีผู้ตกงานจำนวนมาก

นอกจากนี้ เศรษฐกิจไทยยังได้รับ ผลกระทบจากเศรษฐกิจโลกที่ถดถอย ซึ่งทำให้การค้าโลกหดตัวตาม ซึ่งกระทบต่อการส่งออกของไทยและกระทบต่อภาคการผลิต โดยเฉพาะกลุ่มชิ้นส่วนอิเลคทรอนิกส์และยานยนต์ ขณะที่การเดินทางเพื่อควบคุมการระบาดของโรค ส่งผลกระทบต่อภาคบริการ ภาคค้าปลีก สะท้อนจากยอดขายสินค้าคงทนที่ลดดิ่งลงเกือบ 12% ในช่วงไตรมาสแรกของปี รวมทั้งกระทบต่อภาคการท่องเที่ยว พร้อมแสดงความเป็นห่วงสวัสดิการของครัวเรือนได้รับผลกระทบรุนแรง โดยเฉพาะรายได้ลดลง รวมทั้งคนตกงานเพิ่มขึ้นเป็น 8.3 ล้านคน

กรุงเทพฯ เศรษฐกิจ ไทย

อย่างไรก็ตาม ล่าสุดต้นเดือนสิงหาคม 2563 ที่ผ่านมาหลายสำนักได้ประกาศหั่นคาดการ GDP ของประเทศไทยเพิ่ม

ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้า แถลงภาวะเศรษฐกิจไทยในปี 2563 ว่า เนื่องจากสถานการณ์แพร่ระบาดของเชื้อไวรัส “โควิด” ระลอก 2 ในต่างประเทศและยังไม่มีทีท่าจะดีขึ้นในหลายประเทศ ส่งผลกระทบต่อจำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศเข้ามาในไทยและการส่งออกของไทยลดลงอย่างมาก

ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจจึงปรับประมาณการ เศรษฐกิจ ไทยปี 2563 ใหม่ โดยประเมินว่า เศรษฐกิจไทยปีนี้ จะติดลบลงลึกมากขึ้นในระดับลบ -9.4% จากเดือนเมษายน 2563 เคยประเมินไว้ว่าจะติดลบ -4.9% ถึงติดลบ -3.4% และในกรณีแย่กว่า จะติดลบ -11.4% ส่วนกรณีดีกว่าจะติดลบ -8.4%

ด้านคณะกรรมการร่วมเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ระบุว่า กกร. มีความเป็นห่วงต่อเศรษฐกิจไทยในช่วงข้างหน้า ซึ่งยังขาดแรงขับเคลื่อนสำคัญจากภาคการท่องเที่ยวและการส่งออก ขณะที่มาตรการเยียวยาของรัฐบาล กำลังจะสิ้นสุดลง และสถานการณ์การจ้างงานยังเปราะบาง

ที่ประชุม กกร. ในรอบเดือนสิงหาคม 2563 จึงได้ตัดสินใจปรับลดประมาณการอัตราการเติบโตทาง เศรษฐกิจ ไทย (GDP) ในปี 2563 เป็นติดลบ -7 ถึงติดลบ -9% จากเดิมที่เคยคาดการณ์ไว้จะติดลบตั้งแต่ -5 ถึงติดลบ – 8% และปรับลดคาดการณ์การส่งออกติดลบ  -10 ถึงติดลบ -12 % จากเดิมติดลบ -7 ถึงติดลบ -10% ส่วนอัตราเงินเฟ้อทั่วไปไว้ยังไม่มีการเปลี่ยนแปลง

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo