Telecommunications

‘ดีแทค’ ขู่ไม่เยียวยา เมินประมูลคลื่น 900

20180906 140142
นายราจีฟ บาวา

โค้งสุดท้ายดีแทคก่อนหมดสัมปทาน ขอคุ้มครองชั่วคราว พร้อมเปิดตัวเลขคาดการณ์มีผู้บริโภค 1 ล้านคนที่จะได้รับผลกระทบหลัง 15 กันยายน ชี้ กสทช. และ CAT ต้องรับผิดชอบร่วมกันกับดีแทค พร้อมเร่งเพิ่มเจ้าหน้าที่คอลเซนเตอร์รับมือสถานการณ์ซิมดับ

ในวันนี้ (6 ก.ย.)  บริษัทโทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือดีแทคได้ยื่นฟ้องต่อศาลปกครอง เพื่อขอให้เพิกถอนมติ กสทช. เมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม 2561 พร้อมทั้งยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งทุเลาการบังคับตามมติ และ/หรือ การกำหนดมาตรการหรือวิธีการคุ้มครอง เพื่อบรรเทาทุกข์ชั่วคราวก่อนการพิพากษาเพื่อคุ้มครองสิทธิของผู้ใช้บริการตามประกาศ กสทช. เรื่องมาตรการคุ้มครองผู้ใช้บริการเป็นการชั่วคราวกรณีสิ้นสุดการอนุญาตสัมปทาน หรือสัญญาการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่

หลังการยื่นฟ้องนายราจีฟ บาวา รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มกิจการองค์กรและพัฒนาธุรกิจดีแทค เปิดเผยว่า ปัจจุบัน บริษัทมีตัวเลขของผู้ใช้งานบนเครือข่าย 850MHz ที่ได้รับสัมปทานจาก CAT มีจำนวน 90,000 ราย

นอกจากนี้ ยังมีลูกค้าดีแทค ไตรเน็ต หรือ DTN อีกเป็นจำนวนมาก ที่ใช้บริการข้ามโครงข่ายภายในประเทศ (Domestic Roaming) ซึ่งเป็นกลุ่มที่ไม่สะดวกในการเปลี่ยนระบบ รวมแล้วเป็นตัวเลขผู้ใช้งานที่จะได้รับผลกระทบประมาณ 1 ล้านราย ที่ถือเป็นความรับผิดชอบร่วมกันของ กสทช. ดีแทค และ CAT จะต้องเข้ามาดูแล

ความพยายามของดีแทคในขณะนี้ก็คือ การแบ่งประเภทของลูกค้าที่จะได้รับผลกระทบออกเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่

  • กลุ่มที่ใช้ซิมจดทะเบียนดีแทค และอยู่ภายใต้สัญญาสัมปทานกับดีแทค ที่จะใช้งานไม่ได้ โดยลูกค้ากลุ่มนี้จะได้เปลี่ยนเป็นซิม DTN ฟรี และได้รับข้อเสนอมือถือราคาพิเศษ
  • กลุ่มที่ใช้ฟีเจอร์โฟนที่รองรับคลื่น 1800MHz และใช้ซิม DTN แล้ว กลุ่มนี้จะใช้งานได้ปกติ แต่จะได้รับข้อเสนอมือถือราคาพิเศษที่รองรับคลื่นดีแทคเทอร์โบ
  • กลุ่มที่อาจไม่ได้รับความสะดวกในการใช้งานในบางพื้นที่ ได้รับข้อเสนอด้านดาต้า และโทรฟรี (ทั้งพรีเพดและโพสต์เพด)

ดีแทคได้จัดทีมคอลเซ็นเตอร์เพื่อเร่งให้ความช่วยเหลือเป็นกรณีพิเศษ ขณะที่การยื่นคำฟ้องต่อศาลปกครอง เพื่อให้ศาลเพิกถอนมติของ กสทช. ก็คือหนึ่งในมาตรการที่ดีแทคนำมาใช้ด้วยเช่นกัน

พร้อมกันนี้ บริษัทยืนยันว่าหากได้รับมาตรการเยียวยา ดีแทคก็พร้อมจะนำส่งรายได้หลังหักค่าใช้จ่าย สำหรับการใช้คลื่นในช่วงดังกล่าวให้กับภาครัฐ

ในจุดนี้ ดีแทคชี้ว่า ค่ายผู้ให้บริการอื่น ๆ ที่ได้รับการเยียวยาจากภาครัฐตั้งแต่หลายปีก่อน ยังไม่ได้นำส่งรายได้ในช่วงเวลาดังกล่าวเข้าภาครัฐเลยด้วยซ้ำ แต่สำหรับดีแทค แสดงความจำนงที่จะจ่ายเลย จึงมองว่า ทางออกอย่างการคุ้มครองการใช้งานชั่วคราว น่าจะเป็นวิธีที่ลงตัวสำหรับทุกฝ่าย และภาครัฐไม่เสียประโยชน์ใด ๆ ด้วย ตรงกันข้ามกับการยุติการให้บริการ จะนำความเสียหายมาสู่ภาครัฐ และผู้ใช้บริการได้มากกว่า

ทั้งนี้ หากดีแทคไม่ได้รับการเยียวยา และเหตุการณ์ดำเนินไปสู่การปิดสัญญาณเครือข่าย 850MHz แล้ว ผลกระทบที่เกิดขึ้นก็คือ ดีแทคจะไม่สามารถให้บริการเครือข่ายได้ในบางพื้นที่ และลูกค้าบางส่วนจะเกิดปัญหาในการใช้บริการ

สิ่งที่จะเกิดขึ้นตามมาก็คือ ลูกค้ากลุ่มนี้ของดีแทคอาจไม่สามารถรอการประมูลคลื่นโลว์แบนด์รอบใหม่ได้ และเปลี่ยนไปใช้บริการจากค่ายอื่นแทน หากสถานการณ์เป็นเช่นนี้ การที่ดีแทคไม่มีลูกค้าในกลุ่มโลว์แบนด์เหลือแล้ว ก็อาจไม่มีเหตุผลที่ดีแทคจะต้องเข้าประมูลคลื่นโลว์แบนด์ที่ภาครัฐจะจัดใหม่อีกต่อไปเช่นกัน

ส่วนเหตุผลที่ไม่เข้าประมูลคลื่นโลว์แบนด์ที่จัดขึ้นเมื่อครั้งก่อนหน้านั้น ดีแทคชี้แจงว่า เหตุที่ไม่เข้าร่วมการประมูลที่ผ่านมา เนื่องจากเงื่อนไขในการติดตั้งฟิลเตอร์ที่ผู้ชนะการประมูลต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่าย และความเป็นไปได้ยากในทางปฏิบัติ ที่ภาครัฐจะปล่อยให้ผู้ชนะการประมูลแก้ปัญหาในการติดตั้งเองทั้งหมด

ขณะที่อีกเงื่อนไขหนึ่งก็คือ การที่ดีแทคต้องย้ายการให้บริการจากคลื่น 850MHz เดิมที่มีมาสู่คลื่นที่ กสทช. เปิดประมูลคือ 900 MHz ที่อาจต้องใช้เวลาถึง 2 ปี ซึ่งเป็นเงื่อนไขที่ไม่เหมาะสมสำหรับการเข้าร่วมประมูล

 

Avatar photo