Business

ยักษ์พลังงาน ‘เอ็กซอน โมบิล’ ชะลอลงทุน โครงการปิโตรเคมีแห่งอนาคต 3 แสนล้าน

เอ็กซอน โมบิล หวาดโควิด-19 ชะลอลงทุน โครงการปิโตรเคมีแห่งอนาคต ในไทย ด้าน กนอ. ไม่หวั่น เดินหน้าพัฒนา เขตเศรษฐกิจอุตสาหกรรมแห่งอนาคต ต่อเนื่อง 

นางสาวสมจิณณ์ พิลึก ผู้ว่าการ การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) เปิดเผยว่า เอ็กซอน โมบิล ได้แจ้งชะลอการลงทุน โครงการปิโตรเคมีแห่งอนาคต ในประเทศไทยออกไปอย่างไม่มีกำหนด เนื่องจากสถานการณ์โควิด-19 และสภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว แต่ กนอ.ยังเดินหน้าพัฒนาพื้นที่ บริเวณเขตเศรษฐกิจอุตสาหกรรมแห่งอนาคต อย่างต่อเนื่อง

เอ็กซอน โมบิล
Manager Engineering in standard safety uniform working in gas turbine electric power plant during sunset or morning time background

ก่อนหน้านี้ เอ็กซอน โมบิล ได้แสดงความสนใจจะเข้ามาลงทุนโครงการปิโตรเคมี ที่วางเป้าหมายเป็นโครงการแห่งอนาคต มูลค่าลงทุนหลัก 3 แสนล้านบาท โดยจะใช้เทคโนโลยีทันสมัย สามารถนำน้ำมันดิบ (ฟีดสต๊อก) เข้าสู่กระบวนการผลิตเป็นผลิตภัณฑ์เคมีได้โดยไม่ต้องไปผ่านกระบวนการกลั่น พร้อมทั้งให้ กนอ.จัดหาที่ดินให้ ในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี)

อย่างไรก็ตาม แม้ว่า เอ็กซอนฯ จะชะลอการลงทุนออกไป แต่ กนอ. จะเดินหน้าพัฒนาพื้นที่อย่างต่อเนื่อง โดยจะเริ่มจากการพัฒนา 2 พื้นที่บนบกก่อน ได้แก่ บริเวณแหลมฉบัง ต.ทุ่งสุขลา อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี เนื้อที่ 1,200 ไร่ เป็นคลังสินค้า ลานจอดรถยนต์และรถบรรทุกเพื่อการส่งออก และอู่ต่อเรือ

สำหรับพื้นที่ที่ 2 เป็นชุมชน และพื้นที่เชิงพาณิชย์ โดยรอบโรงกลั่นน้ำมัน ประกอบด้วย ชุมชนกระจายตัวและแทรกตัวอยู่ระหว่างโรงกลั่นน้ำมันและระหว่างคลังน้ำมันและคลังก๊าซ เนื้อที่ประมาณ​ 5,000 ไร่ ซึ่งเป็นหนึ่งในแผนขยายพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมแหลมฉบัง

นอกจากนี้ กนอ.ยังได้ลงนาม ดำเนินการตามสัญญาจ้างงาน ปักเสาพาดสายไฟฟ้าแรงสูงในนิคมอุตสาหกรรมในพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษสงขลา ระยะที่ 1 ร่วมกับ การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค(กฟภ.) เพื่อรองรับความต้องการใช้ไฟฟ้า และสร้างเสถียรภาพ ด้านพลังงาน ในนิคมอุตสาหกรรม พื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษสงขลา ซึ่งปัจจุบันมีความคืบหน้า การก่อสร้างโครงการมีความคืบหน้าแล้ว 70%

สมจิณณ์ พิลึก
สมจิณณ์ พิลึก

ทั้งนี้ มั่นใจการก่อสร้างเป็นไปตามแผนที่วางไว้ โดยภายในสิ้นปี 2563 นี้จะแล้วเสร็จ 100% และยอมรับว่า โควิด-19 ส่งผลกระทบ ต่อการเดินทางของผู้ประกอบการ และนักลงทุนของนิคมอุตสาหกรรม ที่ส่วนใหญ่เป็นนักลงทุนต่างชาติ ไม่สามารถเดินทางเข้ามาดำเนินกิจการไทยได้ เนื่องจากไทยยังไม่เปิดเส้นทางบินระหว่างประเทศแบบพาณิชย์ อีกทั้งยังส่งผลกระทบต่อแรงงานต่างด้าวที่ลดลง แต่ยืนยันไม่มีปัญหาต่อการก่อสร้างแน่นอน

สำหรับภายในปลายปีนี้ จะเปิดให้ผู้ประกอบการไทยที่มีความพร้อม 1 รายเข้าดำเนินกิจการ ในนิคมอุตสาหกรรมสงขลา โดยเป็นสถานีบริการน้ำมันในลักษณะคอมมูนิตี้มอลล์บนพื้นที่ประมาณ​ 30 ไร่ และผู้ประกอบการอีก 5-6 รายทั้งในและต่างประเทศ เช่น มาเลเซีย จีน อยู่ระหว่างเจรจารายละเอียด

ขณะที่นิคมอุตสาหกรรมสงขลา มีเนื้อที่ทั้งหมด 927 ไร่ แบ่งเป็น 2 ระยะ ได้แก่ ระยะที่ 1 พื้นที่ประมาณ 629 ไร่ แบ่งเป็นเขตอุตสาหกรรมทั่วไป 289 ไร่ เขตพาณิชยกรรม 56 ไร่ และพื้นที่สาธารณูปโภคและพื้นที่สีเขียว 282 ไร่ ฟรีค่าเช่า 3 ปีแรก ปีที่ 4 ลดค่าเช่า 25%

ด้าน นายสมพงษ์​ ปรีเปรม ผู้ว่าการการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค(กฟภ.) กล่าวเพิ่มเติมว่า คาดใช้งบประมาณวางระบบสายส่งเข้ามายังพื้นที่นิคมฯ สงขลา ประมาณ​ 35.5 ล้านบาท รวมระยะทาง 7.446 กิโลเมตร(กม.) เป็นการก่อสร้างระบบจำหน่ายแรงสูง 33 กิโลโวลต์ แบบเคเบิ้ลใต้ดิน ระยะทาง 0.546 กม. ซึ่งคาดว่านิคมฯ นี้จะใช้ไฟอยู่ที่ 25 เมกกะวัตต์ และหลังจากนี้ จะขยายความร่วมมือในการพัฒนานิคมฯ อื่นๆ ร่วมกับ กนอ. ต่อไป

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo