Opinions

จาก ‘บาซูก้า’ สู่ ‘สมาร์ทบอมบ์’ ยุทธศาสตร์เศรษฐกิจสำหรับ ‘ศึกโควิด-19’ ที่ยืดเยื้อ

Avatar photo
2314

เราได้ผ่านช่วงปิดเมืองเต็มที่ไปแล้ว แต่  ศึกโควิด-19 การทำ “สงคราม” กับ ไวรัสโควิด-19 ยังไม่จบ และดูจะเป็นศึกที่ยืดเยื้อไป จนกว่าเราจะมีวัคซีน และยาที่รักษาโรคนี้ได้

เรากำลังอยู่ใน ภาวะไม่ปกติใหม่ (New Abnormal) ที่ต่างจากช่วงที่ผ่านมา แต่ก็ยังไม่ใช่ภาวะปกติใหม่ แบบโลกหลังมีวัคซีน

ในเฟสนี้ ยุทธศาสตร์เศรษฐกิจอาจต้องเปลี่ยนจากการใช้ “บาซูก้า” มาเป็น  “สมาร์ทบอมบ์”

cover ยุทธศาสตร์เศรษฐกิจ1

ศึกโควิด-19 ทำไมต้องปรับยุทธศาสตร์

ผมเคยเขียนไว้ว่านโยบายการคลังและการเงินควรมี  “5 T” 

ในช่วงล็อกดาวน์ นโยบายต้องเป็น  “บาซูก้า” เน้น ปริมาณใหญ่พอ (Titanic) ทันเวลา (Timely) และ ครอบคลุม คนที่ได้รับผลกระทบให้มากที่สุด

แม้ว่าความช่วยเหลืออาจจะหลุด ให้ประโยชน์ กับคนที่เดือดร้อนไม่มากไปบ้าง ก็พอเข้าใจได้ เพราะความเร็วเป็นสิ่งสำคัญ การเล็งเป้า (Targeting) จึงเป็นเรื่องรอง แต่ที่สำคัญคือ ควรใช้แค่ ชั่วคราว (Temporary) เท่านั้น และต้องมี ความโปร่งใส (Transparency) ในการใช้เงิน

แต่เมื่อเราเข้าสู่เฟสใหม่ น้ำหนักของแต่ละ “T” ก็ย่อมเปลี่ยนไปด้วย

วันนี้ ความสำคัญของ  “การยิงให้เข้าเป้า ใช้ยาให้ตรงจุด” (Targeting) สำคัญกว่าเฟสที่แล้วมาก

หนึ่ง ตอนนี้ทุกคน ไม่ต้องกลั้นหายใจกัน 100% แล้ว แต่ปัญหาคือหายใจกันได้ไม่ทั่วท้อง บางคนได้ออกซิเจนมากหน่อย บางคนยังขาดอากาศอยู่ (เช่น ท่องเที่ยวต่างประเทศ)

สอง รัฐบาลไม่ได้มีกระสุนมากเท่าเดิม ยกตัวอย่างทางด้านการคลัง หลังจากใช้มาตรการกู้เงินต่างๆ ที่ผ่านมาในช่วงโควิด-19 หนี้สาธารณะ อาจกระโดดจาก 41% ขึ้นไปใกล้ 60% ของ GDP

แม้ 60% นี้จะไม่ได้เป็นเส้นตายด้านการคลัง แต่ประเด็นคือ เรื่องความยั่งยืนทางการคลังระยะยาว เมื่อศักยภาพการเติบโตของ GDP ในระยะยาวของไทยอาจชะลอลงไปอีกในอนาคต บวกกับภาระทางการคลังที่มาพร้อมกับสังคมสูงอายุ

สาม รัฐบาลต้องเริ่มคำนึงถึงผลข้างเคียงระยะยาวของมาตรการระยะสั้นต่างๆ มากขึ้น เช่น อาจตั้งคำถามว่าหากยืดมาตรการพักหนี้แบบครอบคลุมทุกคนนานเกินไป อาจเริ่มส่งผลกระทบต่อวินัยทางการเงินหรือไม่

GettyImages 1030437914

ยุทธศาสตร์ “สมาร์ทบอมบ์”

ยุทธศาสตร์  “สมาร์ทบอมบ์” คือระเบิดขนาดเล็กที่ใช้เฉพาะจุด เฉพาะเวลา อย่างแม่นยำ เพื่อประหยัดกระสุน และลดผลข้างเคียง ที่ไม่ต้องการ

หลักการนี้สามารถนำมาใช้กับเครื่องมือทางนโยบายเศรษฐกิจยุคโควิด-19 ที่มีอยู่ 3 ชิ้นหลักคือ นโยบายเปิดเมือง นโยบายการเงิน และ นโยบายการคลัง

  • นโยบายเปิดเมือง จากปิด/เปิดเมืองแบบเดียวกันทั่วประเทศ มาเป็น นโยบายเฉพาะพื้นที่ (Area-based policy)

ข้อนี้อาจดูเหมือนเป็นนโยบาย “สาธารณสุข” มากกว่านโยบาย “เศรษฐกิจ” แต่แท้จริงแล้ว ในยุคโควิด-19 การเปิด-ปิดเมือง เป็นเครื่องมือกระตุ้นเศรษฐกิจที่สำคัญไม่แพ้ นโยบายการเงินการคลังด้วยซ้ำ โดยเฉพาะเมื่อเราคำนึงถึงความสำคัญ ของการท่องเที่ยวในเศรษฐกิจไทย (18% ของ GDP กระทบคนงาน 20% ของทั้งประเทศ)

เราจึงควรมองนโยบายนี้เป็น “ลูกครึ่ง” ที่เป็นทั้งเครื่องมือทางเศรษฐกิจ และการควบคุมโรค

ที่ผ่านมาประเทศไทยใช้วิธีการเปิด-ปิดเมือง แบบครอบคลุมทั้งประเทศ ปิดทีทั้งประเทศ เปิดเมืองมา 6 รอบ ก็เป็นรายกิจกรรม/กิจการ ที่ใช้กฎเดียวกันทั้งประเทศ แม้วิธีการเช่นนี้ได้ผลอย่างดี ในช่วงที่ผ่านมา แต่เมื่อกิจกรรมที่เปิด มีความเสี่ยงสูงขึ้น ก็คงยากที่จะหลีกเลี่ยง ไม่ให้มีการติดเชื้อเลย

แทนที่เราจะปิดเมืองทั้งประเทศ เมื่อพบการติดเชื้อ เราสามารถใช้ นโยบายเฉพาะพื้นที่ คือปิดบางกิจกรรมในบางพื้นที่เช่น อาจจะเลือกปิดบางกิจกรรม ที่เสี่ยงต่อการแพร่เชื้อที่สุด (อย่างเช่น สถานที่ในร่มที่มีคนแออัด มีการตะโกนใช้เสียงมาก คุมระยะห่างยาก) ไว้ชั่วคราว

ตามด้วยการดึงทรัพยากรกำลังคนทางการแพทย์ ลงมาช่วยตรวจ และแกะรอยคนติดเชื้อ รวมทั้ง แยกตัวกลุ่มเสี่ยงในพื้นที่นั้น อย่างเข้มข้น (Test, Trace and Isolate)

ศึกโควิด-19

Travel Bubble แบบเฉพาะพื้นที่

ในทำนองเดียวกัน การเปิดการท่องเที่ยวต่างประเทศ ก็อาจใช้วิธีแบบ Area-based ได้เช่นกัน เพราะแต่ละจังหวัด มีการพึ่งพานักท่องเที่ยวต่างชาติไม่เท่ากัน บางจังหวัดอาจต้องการให้เริ่มมีนักท่องเที่ยวต่างชาติกลับมาบ้าง ในขณะที่บางจังหวัดอาจบอกว่าไม่จำเป็น และกลัวไวรัสมากกว่า

การทำ นโยบายแบบสมาร์ทบอมบ์ คือการเริ่มทดลองเปิดท่องเที่ยวแบบ Travel Bubble กับประเทศที่คุมโรคได้ดี ให้เข้ามาได้ในจังหวัดที่พึ่งพานักท่องเที่ยวมากๆ และมีความพร้อมก่อน โดยต้องมีระบบติดตาม ที่ให้นักท่องเที่ยวเหล่านั้นอยู่ในจังหวัด ที่ขออนุญาตไว้เท่านั้น

ยกตัวอย่างเช่น อาจเริ่มให้นักท่องเที่ยวสาย long stay (มาครั้งหนึ่งแล้วอยู่นานๆ) จากประเทศที่กำหนดเดินทางมาที่ภูเก็ต หรือสมุย ทำแคมเปญ Work from Thailand มากึ่งพัก กึ่งทำงาน ที่โรงแรมในภูเก็ต เปลี่ยนบรรยากาศแทนที่จะติดอยู่บ้านในประเทศตน

หากเกิดโชคร้าย มีคนติดเชื้อเข้ามา เราก็น่าจะ “สกัดไฟ” ไม่ให้ลามได้ง่ายกว่าที่อื่น เพราะไม่มีการเดินทางด้วยรถยนต์ ข้ามไปจังหวัดอื่นๆ

ศึกโควิด-19

นโยบายการเงิน-การคลังแบบเฉพาะจุด

  • นโยบายการเงิน

เปลี่ยนจากมาตรการที่มีผลบังคับใช้กับทุกคนถ้วนหน้า เช่น นโยบายลดดอกเบี้ย มาเป็น นโยบายที่เน้นเฉพาะกลุ่ม เช่น ผลักดันให้สถาบันการเงินช่วยเหลือ SMEs และกลุ่มคนที่อาจเข้าไม่ถึงแหล่งเงินกู้จากธนาคาร (underbanked) ดังที่ผมได้เขียนไว้

  • นโยบายการคลัง

ปรับจากการกระจายการเยียวยาเป็นวงกว้าง มาเป็น นโยบายอัดฉีดเฉพาะจุด โดยแบ่งได้เป็น 2 ประเภท

  • มาตรการทางการคลัง เพื่อช่วยเหลือเยียวยากลุ่มที่เดือดร้อน

เช่น ภาคการท่องเที่ยว โดยนอกจากการสนับสนุนในรูปแบบเดิมๆ แล้ว (อย่างการลดภาษี หรือช่วยเเหลือผ่านประกันสังคม) รัฐอาจพิจารณาเครื่องมือทางการเงินรูปแบบใหม่ๆ เช่น ตั้งกองทุนรัฐร่วมกับเอกชน ลงทุนในหุ้นของกิจการโรงแรม ที่คุณภาพดี แต่โดนพิษโควิด-19 หลายแห่ง ที่กระจายอยู่ทั่วประเทศ ซึ่งคล้ายกับนโยบายในยุโรป ซึ่งนอกจากอาจใช้งบน้อยกว่าแล้ว ยังมีความเป็นได้ว่า ในอนาคตอาจได้เงินคื นเมื่อโรงแรมหลายแห่ง ฟื้นตัวกลับมามีกำไร

  • มาตรการทางการคลังที่ไม่ใช่แค่กระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้น

แต่เชื่อมโยงไปสู่แก้ปัญหาเชิงโครงสร้าง และเสริมความสามารถในการแข่งขันของประเทศในระยะยาวด้วย ยกตัวอย่างเช่น การลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัล ซึ่งรวมถึง 5G หรือระบบคลาวด์ เพื่อรับมือกับเศรษฐกิจสังคม ที่เข้าสู่โลกดิจิทัลมากขึ้นหลังโควิด-19 อย่างที่เป็นธีมใหญ่ ในแผนฟื้นเศรษฐกิจของทั้งประเทศจีน และเกาหลีใต้

3 หลักการสำคัญของยุทธศาสตร์สมาร์ทบอมบ์

แต่ไม่ว่าจะใช้นโยบายใดก็ตาม ยุทธศาสตร์เศรษฐกิจแบบสมาร์ทบอมบ์นี้ ต้องยืนอยู่บน 3 หลักการสำคัญ

  • ต้องมีข้อมูลเป็นตัวนำ (Data-driven) อยู่บนฐานข้อมูลที่แน่นทั้งด้านทางเศรษฐกิจและสาธารณสุข

เราคงทำอะไร “สมาร์ท” ไม่ได้หากขาดข้อมูล จะ “สกัดไฟ” ป้องกันไม่ให้ไวรัสระบาดวงกว้าง เมื่อพบการติดเชื้อก็ทำได้ยาก หากเราไม่สามารถแกะรอย (Trace) ได้อย่างรวดเร็วว่าผู้ติดเชื้อไปไหนมาบ้าง  จะออกมาตรการช่วยภาคท่องเที่ยวและ SMEs ก็คงลำบาก หากไม่มีข้อมูลธุรกิจเหล่านี้ โดยเฉพาะเมื่อธุรกิจจำนวนมากอาจ “อยู่นอกระบบ”

หากรัฐบาลขาดข้อมูลบางครั้ง ก็ควรประสานงานกับภาคประชาสังคม ที่อาจมีข้อมูล และความเข้าใจในแต่ละพื้นที่ดีกว่า

ศึกโควิด-19

  • ต้อง Well-coordinated คือ มีการประสานกันทั้ง 3 เครื่องมือเศรษฐกิจ ทั้งเปิดเมือง-การคลัง-การเงิน ไม่ใช่ต่างคนต่างทำ

หากเราต้องปิดบางประเภทกิจการที่เสี่ยงในพื้นที่หนึ่ง เพราะเกิดการระบาด นโยบายการคลัง ควรหันมาช่วยเยียวยากิจการ ที่ได้รับผลกระทบหนักๆ ในพื้นที่นั้น ฝั่งธนาคารแห่งประเทศไทย อาจต้องเข้ามาช่วยเร่งสถาบันการเงิน ให้ช่วยปรับโครงสร้างหนี้ กับธุรกิจในพื้นที่นั้นๆ ที่อาจกลับมาอยู่ในสภาพกลั้นหายใจอีกครั้ง

  • ต้องมี Continuous assessment หรือการติดตามประเมินผลใกล้ชิด เพราะเรากำลังอยู่ในดินแดนที่ไม่รู้จักอย่างแท้จริง

การคิดนอกกรอบ และทดลองไอเดียใหม่ เป็นสิ่งจำเป็น แต่แน่นอนว่า ทั้งความสำเร็จ และความล้มเหลว ย่อมเกิดขึ้นได้ โจทย์คือ จะทำอย่างไรให้เรารู้ตัวเร็วว่า นโยบายไหนไม่เวิร์ค และสามารถปรับปรุงได้ทัน

นอกจากนี้ ยิ่งมีการเก็บข้อมูลประเมินผลมาก ฐานข้อมูลก็ยิ่งได้รับการพัฒนา และช่วยเสริมหลักการข้อแรกอีกด้วย เช่น หลังจากการทำนโยบาย “เราไม่ทิ้งกัน” ในช่วงที่ผ่านมา ซึ่งสุดท้ายมีคนเข้าร่วมประมาณ 15 ล้านคน เราก็ควรจะมีข้อมูลคนงานนอกประกันสังคมที่ดีขึ้น นำไปใช้ในการทำ Targeting ในอนาคตได้แม่นยำขึ้น

สุดท้าย คงต้องขอออกตัวว่า ส่วนตัวผมเองก็ไม่ได้ชอบการเปรียบเทียบยุทธศาสตร์เศรษฐกิจกับ “อาวุธ” สักเท่าไร แต่ในกรณีนี้ อาจช่วยให้เห็นภาพว่า เรากำลังต่อสู้  “สงคราม” ที่ยิ่งใหญ่ และยืดเยื้อกับโควิด-19 อยู่จริงๆ

เอาใจช่วยให้ประเทศไทย “ชนะ” ศึกนี้ได้ครับ

ภาพ : BOT MAGAZINE

เรื่อง : สันติธาร เสถียรไทย

Group Chief Economist ของ Sea Limited

ที่มา : www.the101.world

อ่านข่าวเพิ่มเติม