Technology

แห่แจ้งเบาะแส เว็บผิดกฏหมาย ผ่าน ‘เพจอาสาจับตาออนไลน์’

เพจอาสาจับตาออนไลน์  เปิดตัวสัปดาห์แรก ประชาชนแห่แจ้งเบาะแส สื่อสังคมออนไลน์ เว็บผิดกฎหมาย 1,050 ยูอาร์แอล พบเข้าข่ายผิด 317 รายการ

นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รัฐมนตรีว่าการ กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) เปิดเผยว่า  ในช่วง 1 สัปดาห์แรกของการเปิดตัว เพจอาสาจับตาออนไลน์” ให้เป็นช่องทางสร้างความมีส่วนร่วมของประชาชน ในการแจ้งเบาะแส สื่อสังคมออนไลน์/เว็บผิดกฎหมาย พบว่า มีผู้ส่งข้อมูลแจ้งเบาะแสสื่อสังคมออนไลน์ เว็บผิดกฎหมายเข้ามาแล้ว จำนวน 1050 รายการ (ยูอาร์แอล)

เพจอาสาจับตาออนไลน์

ทั้งนี้ จากการตรวจสอบพบว่า จากการแจ้งเบาะแสเข้ามาทั้งหมด มีเว็บ โซเชียลมีเดีย ที่เข้าข่ายเป็นการดำเนินการกระทำความผิดตามกฎหมาย จำนวน 317 รายการ (ยูอาร์แอล)

หลังผ่านกระบวนการตรวจสอบ รวบรวมหลักฐาน ได้ดำเนินการยื่นศาลขอปิดกั้น จำนวน 181 รายการ (ยูอาร์แอล) และศาลมีคำสั่งแล้ว 7 รายการ (ยูอาร์แอล) มีเรื่องอยู่ระหว่างตรวจสอบข้อกฎหมาย 101 รายการ (ยูอาร์แอล) และเป็นความผิดส่วนตน (หลอกลวง ถูกฉ้อโกง) จำนวน 35 รายการ (ยูอาร์แอล)

ปัจจุบันกระทรวงดิจิทัลฯ ได้เร่งรัด ระบบรับเรื่องร้องเรียนสื่อออนไลน์ ให้รวดเร็วยิ่งขึ้น โดยกระบวนการรวบรวม และตรวจสอบหลักฐานต่างๆ ต้องเสร็จสิ้นภายใน 48 ชั่วโมง แล้วส่งให้ศาลอนุมัติคำสั่ง เพื่อให้ทางตำรวจกองบังคับการ ปราบปรามการกระทำความผิด เกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บก.ปอท.) และตำรวจที่เกี่ยวข้อง ไปตามจับผู้กระทำผิดได้โดยเร็ว

นอกจากนี้ ยังรวมถึงการส่งต่อไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง แหรือลบเนื้อหา ที่ไม่เหมาะสม โดยที่ผ่านมาเฉพาะครึ่งปีแรกของปี 2563 ได้รับแจ้ง 8,715 เว็บ ส่งศาลเพื่อออกคำสั่งไปแล้วทั้งสิ้น 7,164 เว็บ

IMG 31861 20200602153537000000 e1591170748809
พุทธิพงษ์ ปุณณกันต์

“ผมเชื่อว่าประชาชนเป็นหูเป็นตาที่ดีที่สุด เมื่อพบสื่อสังคมออนไลน์หรือเว็บผิดกฎหมาย แจ้งได้ทุกเรื่องที่เพจ “อาสา จับตา ออนไลน์” ทาง inbox m.me/DESMonitor จะมีเจ้าหน้าที่รับเรื่องและตรวจสอบตลอด 24 ชั่วโมง พิจารณาข้อมูลร้องเรียนตามข้อกฎหมายและตอบกลับโดยเร็ว” นายพุทธิพงษ์กล่าว

นายพุทธิพงษ์ กล่าวว่า นับตั้งแต่เข้ารับตำแหน่ง รมว.ดีอีเอส ได้พยายามหามาตรการต่างๆ เพื่อแก้ปัญหาการโพสต์เนื้อหาผิดกฎหมายบนโซเชียลมีเดียในประเทศไทย แม้จะใช้เวลานานพอควร เพราะเป็นเรื่องใหม่ แต่ก็ขอขอบคุณคนไทยทุกคน ที่สนับสนุนและให้กำลังใจมาตลอด ซึ่งทางออกสำหรับเรื่องนี้ก็คือต้องบังคับใช้ พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2560 มาตรา 27 หรือ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ อย่างจริงจัง

โดยมาตรา 27 ใน พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ระบุไว้ว่า “ผู้ใดไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของศาล หรือพนักงานเจ้าหน้าที่ที่สั่งตามมาตรา 18 หรือมาตรา 20 หรือไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของศาลตามมาตรา 21 ต้องระวางโทษปรับไม่เกินสองแสนบาท และปรับเป็นรายวัน อีกไม่เกินวันละห้าพันบาท จนกว่าจะปฏิบัติให้ถูกต้อง” ซึ่งหมายความว่า แพลตฟอร์มสื่อสังคมออนไลน์รายใด ไม่ปฏิบัติตามคำสั่งศาล ที่ให้ลบหรือปิดเนื้อหาผิดกฎหมาย จะมีทั้งโทษปรับและปรับรายวันอีก จนกว่าจะยอมแก้ไข

สำหรับเรื่องที่ห้ามทำ ผิดกฎหมาย พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ได้แก่

1. เข้าถึงระบบ หรือข้อมูลของผู้อื่นโดยไม่ชอบ

2. แก้ไข ดัดแปลง หรือทำให้ข้อมูลผู้อื่นเสียหาย

3. ส่งข้อมูลหรืออีเมล์ก่อกวนผู้อื่น หรือส่งอีเมล์สแปม

4. เข้าถึงระบบ หรือข้อมูลทางด้านความมั่นคงโดยมิชอบ

5. จำหน่ายหรือเผยแพร่ชุดคำสั่งเพื่อนำไปใช้กระทำความผิด

6. ข้อมูลที่ผิด พ.ร.บ. เข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์

7. ให้ความร่วมมือ ยินยอม รู้เห็นเป็นใจกับผู้ร่วมกระทำความผิด

8. ตัดต่อเติม หรือดัดแปลงภาพ

9. เผยแพร่ข้อมูล เกี่ยวกับเยาวชน ต้องกระทำโดยปกปิดไม่ให้ทราบตัวตน

10. เผยแพร่เนื้อหาลามก อนาจาร

11. กด Like & Share ถือเป็นวิธีหนึ่งในการ เผยแพร่ข้อมูล

12. แสดงความคิดเห็นที่ผิด พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ

13. ละเมิดลิขสิทธิ์ นำผลงานของผู้อื่นมาเป็นของตนเอง

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo