Business

โอกาสธุรกิจสัตว์น้ำแปรรูปไทย คว้าอานิสงส์โควิด จีนซื้อผ่านอีคอมเมิร์ซพุ่ง

โอกาสธุรกิจสัตว์น้ำแปรรูปไทย จากโควิด-19 ตลาดสดจีนปิด ส่งผลซื้อผ่านอีคอมเมิร์ซเพิ่ม แนะผู้ประกอบการไทยพัฒนาคุณภาพสินค้า เน้นมาตรฐานความปลอดภัย

นายสมเด็จ สุสมบูรณ์ อธิบดี กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (DITP) เปิดเผยว่า โอกาสธุรกิจสัตว์น้ำแปรรูปไทย มีเพิ่มมากขึ้น เนื่องจากโควิด-19 ทำให้ ตลาดจำหน่ายผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำในจีน ถูกสั่งปิด ส่งผลให้การบริโภค ผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำแปรรูป ได้รับความนิยมมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะการสั่งซื้อสินค้า ผ่านช่องทางออนไลน์มากขึ้น

อาหารทะเล

ทั้งนี้ สะท้อนได้จาก ปริมาณการขาย ผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำแปรรูป ผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำกึ่งสำเร็จรูป และผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำพร้อมรับประทาน ผ่านช่องทางอีคอมเมิร์ซในช่วงที่เกิดวิกฤติการณ์ โรคโควิด-19 เพิ่มขึ้นมากกว่า 2 เท่า เพราะผู้บริโภคสะดวกสบาย จากการขนส่ง และบริการโลจิสติกส์ที่รวดเร็ว

ดังนั้น จึงเป็นสิ่งยืนยันว่า การค้าปลีกรูปแบบใหม่ ช่วยส่งเสริมให้ผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำ ที่มีคุณภาพสูง และผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำแปรรูป เข้าถึงผู้บริโภคได้สะดวกขึ้น  และ มีแนวโน้มที่จะได้รับความนิยม อย่างต่อเนื่องมากขึ้น ในอนาคต

ยิ่งไปกว่านั้น ผู้บริโภคชาวจีน ยังเป็นผู้ซื้อรายใหญ่ ที่สามารถเลือกซื้อผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำ และผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำแปรรูป ได้จากทั่วโลก ผ่านมาร์เก็ตเพลสรายใหญ่ อย่าง JD.Com และ Tmall Global จึงเป็นโอกาส ของผู้ประกอบการไทย ที่จะนำเสนอผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำ และผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำแปรรูป จำหน่ายในแพลตฟอร์มดังกล่าว รวมทั้ง Thaitrade.com ที่ดำเนินการโดย กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศด้วย

ด้าน นางสาวชนิดา อินปา ผู้อำนวยการ สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ เมืองชิงต่าว กล่าวเพิ่มเติมว่า ช่วงที่มีการระบาดของโรคโควิด-19 อุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำในจีน เป็นหนึ่งในอุตสาหกรรม ที่ได้รับผลกระทบอย่างหนัก

01 อธิบดี
สมเด็จ สุสมบูรณ์

ข้อมูลจาก สมาคมผู้ผลิตสินค้าสัตว์นำของจีน หรือ China Aquatic Products Processing and Marketing Alliance (CAPPMA) ระบุว่า การส่งออกผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำ ซึ่งมีสัดส่วนการส่งออกสูงสุด ในการส่งออกสินค้าเกษตรทั้งหมดของจีน ได้รับผลกระทบอย่างมาก จากการยกเลิกการสั่งซื้อ และการปิดท่าเรือระหว่างประเทศ ขณะที่การไหลเวียนสินค้าภายในประเทศ ก็ได้รับผลกระทบ จากการที่ตลาดขายส่งผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำถูกปิด เช่นเดียวกับการบริโภค

ขณะที่ผู้ผลิต หรือ เจ้าของฟาร์มปลาแซลมอนในประเทศ ที่มีกลุ่มลูกค้าเป้าหมายเป็น ร้านอาหาร โรงแรม ตลาดขายส่งผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำ โรงงานแปรรูป และการส่งออก ล้วนแต่ได้รับผลกระทบ จากการผลิตต้องหยุดชะงัก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา พบว่า รายได้ของบริษัทผู้ผลิตภายในประเทศ ส่วนใหญ่เท่ากับ 0

ส่วนปูจักรพรรดิ (King Crab) ที่ส่วนใหญ่เป็นการนำเข้า ก็ได้รับผลกระทบเช่นกัน ทำให้เหลือสินค้าคงคลังในประเทศ ค่อนข้างน้อย และราคาจำหน่ายภายในประเทศ สูงกว่าในช่วงที่ผ่านมา ขณะที่จีน เป็นตลาดผู้บริโภคปูจักรพรรดิ ที่ใหญ่ที่สุดของโลก

อย่างไรก็ตาม เนื่องจากการควบคุมการแพร่ระบาด ภายในประเทศจีน มีเสถียรภาพมั่นคง ทำให้การผลิต การไหลเวียนของสินค้า และการบริโภคค่อย ๆ กลับมาฟื้นตัวได้ภายในระยะเวลาไม่นาน

02 20

สำหรับ ผู้ประกอบการไทย ที่ต้องการทำตลาด ผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำแปรรูปในจีน ปัจจัยสำคัญ ที่จะต้องคำนึงถึง คือ รัฐบาลจีน เข้มงวดต่อการตรวจสอบอาหารทะเลนำเข้า อย่างเคร่งครัด โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อเกิดการระบาด ของเชื้อไวรัสโคโรน่าระลอกใหม่ ในปักกิ่ง โดยต้องได้รับใบอนุญาตการนำเข้า และใบรับรองคุณภาพ จากประเทศผู้ส่งออก ตามหลักเกณฑ์ที่ศุลกากรจีนกำหนด

ดังนั้น ผู้ประกอบการไทย ควรเฝ้าติดตามหลักเกณฑ์ และกฎระเบียบ ในการนำเข้าผลิตภัณฑ์ดังกล่าว อย่างใกล้ชิด เพื่อเตรียมพร้อม และปรับปรุงคุณภาพผลิตภัณฑ์สินค้า ให้ได้ตรงตามมาตรฐาน มีความสะอาด สดใหม่อยู่เสมอ และมีคุณภาพตามความต้องการของ ผู้บริโภคชาวจีน อย่างแท้จริง

นอกจากนี้ ผู้ประกอบการไทย ยังต้องติดตามพฤติกรรมการบริโภค และกำหนดกลยุทธ์ทางการตลาด ให้เหมาะสมกับประเภทสินค้า กลุ่มผู้บริโภคที่มีความหลากหลาย ในแต่ละมณฑล แต่ละเมือง โดยใช้ช่องทางอีคอมเมิร์ซ เพื่อสร้างการรับรู้ ทดสอบความนิยม และความต้องการของผลิตภัณฑ์ จะช่วยให้สินค้าไทย สามารถเจาะตลาดจีนได้อย่างมีประสิทธิภาพ และจำหน่ายได้อย่างยั่งยืน

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo