Politics

‘กรมปศุสัตว์’ สั่งคุมเข้มโรคระบาดสัตว์ทั่วประเทศ หลังอากาศเปลี่ยนแปลง!

“กรมปศุสัตว์” สั่งคุมเข้มโรคระบาดสัตว์ สั่งทุกพื้นที่สืบสวนโรค รายงานสถานการณ์ทุกวัน พร้อมลงพื้นที่สืบหาสาเหตุเร่งแก้ปัญหาโดยเร็ว หลังสภาพอากาศเปลี่ยนแปลง ฝนตก ทำให้สัตว์เครียด

นายสัตวแพทย์สรวิศ ธานีโต อธิบดีกรมปศุสัตว์ กล่าวว่า ได้สั่งการให้ทุกพื้นที่ดำเนินการตามมาตรการควบคุมโรค สืบสวนโรคทุกกรณีตามหลักการระบาดวิทยาและรายงานทุกวันให้ทันสถานการณ์และลงพื้นที่สืบหาสาเหตุเร่งแก้ปัญหาโดยเร็ว “รู้เร็ว คุมเร็ว สงบโรคได้เร็ว” ปัจจุบันสภาพอากาศเปลี่ยนแปลง ฝนตก ส่งผลให้สัตว์เครียด มีภูมิคุ้มกันต่ำ ป่วยง่าย มีแนวโน้มการเกิดโรคระบาดในสัตว์สูงขึ้น จึงให้ทุกพื้นที่เข้มงวดในการควบคุมโรคระบาดในสัตว์ต่างๆ

กรมปศุสัตว์108631

สำหรับโรคปากและเท้าเปื่อย (FMD) ให้ทำวัคซีน ควบคุมการเคลื่อนย้าย และค้นหาสัตว์ป่วย เก็บตัวอย่างทางห้องปฏิบัติการในทุกพื้นที่เกิดโรค เพื่อหาสาเหตุที่แท้จริง สามารถแก้ไขได้ทันท่วงที ควบคุมโรคได้เร็ว โรคเฮโมรายิกเซปทิกซีเมีย (โรคคอบวม) เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย ระบาดรุนแรงในโคและกระบือ ให้ควบคุมการเคลื่อนย้าย ป้องกันการลักลอบนำเข้า ทำวัคซีนให้ครอบคลุม

ขณะเดียวกัน ได้เตรียมพร้อมด้านเวชภัณฑ์ยาปฏิชีวนะในการรักษา การทดสอบความไวของยาในการรักษาโรค โดยจากผลการทดสอบพบว่ายาที่มีความไวในการรักษาได้ผล คือ Ceftriazone Enrofloxacin Ampicilin และ Gentamycin อีกทั้งเก็บตัวอย่างและสืบสวนโรคในทุกกรณีทันทีและให้รายงานรายวัน

ส่วนสัตว์ปีกให้เฝ้าระวังโรคไข้หวัดนก โรคนิวคาสเซิล โรคขี้ขาว ในสุกรให้เฝ้าระวังโรคปากและเท้าเปื่อย โรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร (ASF) ซึ่งไทยสามารถป้องกันการเกิดโรค 2 ปีแล้ว สำหรับโรคอุบัติใหม่ คือ โรคกาฬโรคแอฟริกาในม้า (AHS) ให้เร่งควบคุมโรค สืบสวนหาสาเหตุและรายงานทุกวัน เพื่อควบคุมสถานการณ์ขอคืนสถานะปลอดโรคจากองค์การสุขภาพสัตว์ระหว่างประเทศ (OIE) โดยไว โดยขณะนี้อยู่ในระยะที่ 1 เป็นระยะเผชิญเหตุ

นายสัตวแพทย์สรวิศ กล่าวอีกว่า โรคในสัตว์เลี้ยงที่ต้องเฝ้าระวังเป็นพิเศษ คือ โรคพิษสุนัขบ้า ซึ่งให้ทุกพื้นที่เร่งดำเนินการฉีดวัคซีนควบคุมโรคดำเนินการตามมาตรการ เพื่อให้ประเทศไทยเป็นประเทศที่ปลอดจากโรคพิษสุนัขบ้า โดยปี 2563 กรมปศุสัตว์เป็นเจ้าภาพในการจัดงานวันพิษสุนัขบ้าโลก World Rabies Day 2020

“ให้ทุกหน่วยงานของกรมปศุสัตว์รสร้างเครือข่ายในพื้นที่ในการปฏิบัติงาน เพื่อให้การดำเนินงานในการควบคุมโรคตามมาตรการที่กำหนดได้อย่างมีประสิทธิภาพ เกิดผลกระทบต่อเกษตรกรน้อยที่สุด ตามหลัก รู้เร็ว คุมเร็ว สงบโรคได้เร็ว” นายสัตวแพทย์สรวิศ กล่าว

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo