Business

‘ประกันสังคม’ แก้กฎหมาย เปิดทางเลือกรับ ‘เงินชราภาพ’ แบบบำเหน็จหรือบำนาญ

“ประกันสังคม” แก้กฎหมาย เปิดทางผู้ประกันตนเลือกรับ “เงินชราภาพ” แบบบำเหน็จหรือบำนาญ พร้อมขยายสิทธิประโยชน์ 3 กรณี “เจ็บป่วย-พิการ-เสียชีวิต”

นางพิศมัย นิธิไพบูลย์ รองเลขาธิการ สำนักงานประกันสังคม ในฐานะโฆษกสำนักงานประกันสังคม เปิดเผยถึงมาตรการบรรเทาผลกระทบจากไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) สำหรับนายจ้างและลูกจ้างในระบบกองทุนประกันสังคม ผ่านรายการสถานีประกันสังคม เมื่อวันที่ 31 กรกฎาคม 2563 ที่ผ่านมา

ประกันสังคม เงินชราภาพ

สำหรับกรณีที่มีผู้ประกันตนจำนวนมาก ต้องการแก้ไขวิธีรับเงินชราภาพจากกองทุนประกันสังคมเมื่อเกษียณอายุ จากปัจจุบันกำหนดว่า ผู้ประกันตนที่จ่ายเงินสมทบไม่ถึง 180 เดือนจะได้รับเป็นเงินชราภาพแบบบำเหน็จ และถ้าจ่ายเงินสมทบมากกว่า 180 เดือนขึ้นไป ก็จะได้รับเงินชราภาพแบบบำนาญเท่านั้น

นางพิศมัยกล่าวว่า สำหรับข้อเรียกร้องเรื่อง เงินชราภาพ ดังกล่าว ทาง ประกันสังคม ได้แก้ไขกฎหมายเกี่ยวกับการรับเงินชราภาพไปแล้ว 1 ตัว แต่ยังไม่ผ่านความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) เนื่องจากเกิดสถานการณ์ไวรัสโควิด-19 แพร่ระบาดก่อน

การแก้ไขกฎหมายดังกล่าว จะขยายการเกษียณอายุรับเงินชราภาพจาก 55 ปี เป็น 60 ปี โดยในช่วงเปลี่ยนผ่าน ผู้ประกันตนจะได้รับการชดเชย ผู้ที่มีอายุมากกว่า 55 ปีไปแล้ว สามารถเลือกรับเงินบำเหน็จไปก่อนหนึ่ง จากนั้นสามารถรับเงินบำนาญต่อภายหลังได้

นอกจากนี้ จะมีการแก้ไขกฎหมายเพื่อให้ผู้รับเงินชราภาพแบบบำนาญ สามารถใช้สิทธิประกันสังคมต่อได้ 3 กรณี คือ เจ็บป่วย ทุพพลภาพ และเสียชีวิต แต่ล่าสุดกฎหมายยังไม่ผ่าน

ประกันสังคม พิศมัย

ประกันสังคม ปิ๊งไอเดียดึง “เงินชราภาพ” ใช้ยามฉุกเฉิน

สำหรับกรณีที่มีผู้ประกันตนเรียกร้องขอนำเงินสมทบกรณีชราภาพ จากกองทุนประกันสังคม ออกมาใช้ชั่วคราว เมื่อเกิดความเดือดร้อนหรือเหตุฉุกเฉินเหมือนกรณีโควิด-19 นั้น นางพิศมัยเปิดเผยว่า สำนักงานฯ รับฟังข้อเรียกร้องดังกล่าวมาจากหลายช่องทางและกำลังอยู่ระหว่างการศึกษาความเป็นไปได้

ทั้งนี้ การเปิดให้นำเงินสมทบกรณีชราภาพออกมาใช้ชั่วคราว ต้องไปแก้ไขกฎหมายในระดับ พ.ร.บ. ซึ่งใช้เวลานานพอสมควร โดยสำนักงานฯ กำลังพิจาณาเปรียบเทียบกับประเทศต่างๆ ที่ใช้วิธีเก็บเงินสมทบและจ่ายสิทธิประโยชน์คล้ายๆ กับประเทศไทยว่า จะสามารถดำเนินการอย่างไรได้บ้าง ซึ่งตอนนี้ก็ได้ประเทศต้นแบบมาหลายประเทศ

นางพิศมัยกล่าวต่อว่า สำหรับแนวทางที่เป็นไปได้ในตอนนี้ คือ อาจปล่อยเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำให้ผู้ประกันตนผ่านธนาคารที่เข้าร่วมโครงการ โดยต้องเป็นไปตามเงื่อนไขที่กองทุนประกันสังคมกำหนด

แนวทางดังกล่าวคล้ายกับกรณีปัจจุบัน ซึ่งกองทุนฯ เปิดให้นายจ้างที่ประสบปัญหาไวรัสโควิด-19 กู้เงินดอกเบี้ยต่ำในอัตรา 3% โดยมีนายจ้างยื่นสมัครเข้ามาแล้วเป็นจำนวนมาก

กรณีที่ผู้ประกันตน หน่วยงาน และองค์กรต่างๆ เสนอเข้ามา อยากจะนำเงินกรณีชราภาพของตัวเองไปใช้ เราอยู่ระหว่างการศึกษา ขณะเดียวกันก็ต้องดูด้วยว่า กฎหมายจะแก้ไขได้เร็วขนาดไหน

ย้ำวัตถุประสงค์ “เงินสมทบชราภาพ”

อย่างไรก็ตาม เงินชราภาพ ของกองทุน ประกันสังคม มีวัตถุประสงค์ให้นำเงินไปใช้ยามชราภาพจริงๆ โดยผู้ประกันตนที่จ่ายเงินสมทบไม่ถึง 180 เดือน ก็จะได้รับเป็นเงินก้อนบำเหน็จ และถ้าจ่ายเงินสมทบมากกว่า 180 เดือนขึ้นไปก็จะได้รับบำนาญ เพื่อนำไปใช้ยามชรา จะได้มีคุณภาพชีวิตที่ดี

เพราะฉะนั้นการนำเงินชราภาพมาใช้ตอนนี้ ก็เป็นการทำให้เงินให้ผู้ประกันตนหายไปจากระบบ เมื่อถึงเวลาต้องใช้เงินอาจจะลดน้อยถอยลง แต่สำนักงานฯ ก็พร้อมรับฟังความคิดเห็นของทุกฝ่าย

แรงงาน ๒๐๐๘๐๓

ห่วงตกงานพุ่งปลายปีนี้

นางพิศมัย กล่าวว่า สำหรับปัจจุบันสำนักงานประกันสังคมมีความห่วงใยผู้ประกันตนหรือลูกจ้างในระบบ ประกันสังคม ในช่วงนี้เป็นอย่างมาก โดยหากเกิดเหตุสุดวิสัย นายจ้างต้องเลิกจ้าง ตกงาน หรือลูกจ้างต้องลาออก ก็ขอให้ใช้สิทธิ์ที่มีอยู่ เพราะผู้ประกันตนมีเงินสะสมมาแล้วจำนวนหนึ่ง ก็อยากให้สิทธิ์ของประกันสังคมต่อ

โดยผู้ประกันตนมาตรา 33 หรือพนักงานเอกชนที่ว่างงานลง สามารถสมัครเป็นผู้ประกันตนมาตรา 39 ได้ หลักเกณฑ์ คือ ต้องชำระเงินสมทบมาแล้ว 12 เดือน และต้องสมัครภายใน 6 เดือนนับจากวันที่ออกจากงาน

เวลาไปรับเงินกรณีว่างงานก็ให้สอบถามเจ้าหน้าที่ได้เลยว่า อยากจะสมัครเป็นผู้ประกันตนมาตรา 39 ต่อ แล้วอยู่ในหลักเกณฑ์ที่สามารถสมัครได้ เจ้าหน้าที่ก็จะแจ้งว่า ควรจะสมัครภายในเดือนไหน เพราะว่าถ้าเกิน 6 เดือนแล้ว จะขาดสิทธิ์ ลูกจ้างต้องเข้าใจตรงนี้ด้วย ถ้ายังสงสัย ก็สามารถโทรไปที่สายด่วน 1506 ของประกันสังคมได้

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo