Politics

ยอดผู้ติดเชื้อวันนี้ทะลุ 20 ล้านคน ‘หมอธีระ’ เตือน ‘ศบค.-สมช.’ โปรดฟัง!!

ยอดผู้ติดเชื้อวันนี้ 10 ส.ค. อยู่ที่ 19,981,875 คน จ่อทะลุ 20 ล้านคน “หมอธีระ” เตือน “รัฐบาล-ศบค.-สมช.” โปรดทบทวนเกณฑ์ของระยะที่ 5 – 6 

รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก Thira Woratanarat รายงาน ยอดผู้ติดเชื้อวันนี้ 10 ส.ค. โดยระบุว่า สถานการณ์ทั่วโลก 10 สิงหาคม 2563 ติดเชื้อเพิ่มอีก 208,627 คน ตายเพิ่ม 4,449 คน ยอดรวมตอนนี้ 19,981,875 คน ช่วงสายๆ ของวันนี้จะทะลุ 20,000,000 คน

ยอดผู้ติดเชื้อวันนี้ 10 ส.ค.

  • อเมริกา ติดเพิ่ม 46,266 คน รวม 5,192,022 คน ยอดผู้เสียชีวิตตอนนี้ 165,541 คน
  • บราซิล ติดเพิ่ม 23,010 คน รวม 3,035,422 คน เมื่อวานยอดเสียชีวิตทะลุ 100,000 คนไปแล้ว ทำให้บราซิลเป็นประเทศที่สองที่มีจำนวนคนตายเกินแสน รองจากอเมริกา
  • อินเดีย ติดเพิ่ม 62,117 คน รวม 2,214,137 คน
  • รัสเซีย ติดเพิ่ม 5,189 คน รวม 887,536 คน
  • แอฟริกาใต้ เม็กซิโก เปรู ติดกันเพิ่มอีก 6-7 พันกว่าคน
  • ในขณะที่สหราชอาณาจักร อิหร่าน ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย ติดกันหลักพันถึงหลายพัน เฉกเช่นเดียวกับญี่ปุ่นที่สถานการณ์ดูระบาดหนักขึ้นเรื่อยๆ
  • น่าเป็นห่วงญี่ปุ่น ที่เริ่มมีกระแสปลุกระดมให้ไม่ใส่หน้ากาก และให้เชื่อว่า “COVID-19 เป็นหวัดธรรมดา”…

หากทางการไม่สามารถคุมโรคได้โดยเร็ว อาจพบจำนวนผู้เสียชีวิตสูงขึ้นมากในเวลาอันใกล้นี้ เพราะเค้าเป็นสังคมสูงอายุ และในระยะยาว มีแนวโน้มว่าหากวัคซีนมีประสิทธิภาพที่ไม่สูงมากนัก ก็อาจทำให้กลายเป็นพื้นที่เสี่ยงต่อการเป็นโรค หรือพื้นที่ดงโรคได้ ส่งผลต่อภาพลักษณ์เมืองท่องเที่ยวที่อาจแก้ไขได้ยาก

  • หลายประเทศในทวีปยุโรป ปากีสถาน แคนาดา สิงคโปร์ และออสเตรเลีย ติดเพิ่มกันหลักร้อย
  • ส่วนจีน ฮ่องกง มาเลเซีย และเกาหลีใต้ ติดเพิ่มกันหลักสิบ

…พรุ่งนี้รายงานอย่างเป็นทางการจะมียอดติดเชื้อทั่วโลกเกิน 20 ล้านคน…

หากเราลองฟังความเห็นของผู้เชี่ยวชาญหลายต่อหลายคน ทุกคนมองไปในทิศทางเดียวกันว่า ไทยเรามีโอกาสสูงมากที่จะเกิดการระบาดซ้ำในไม่ช้านี้

ความเห็นดังกล่าวนั้นตั้งอยู่บนความจริงที่ว่า รัฐแง้มประตูประเทศให้มีการเดินทางของกลุ่มเป้าหมายต่างๆ จากต่างประเทศเข้ามาได้

หากเปิดอ้าซ่า ไม่มีประเทศใดเลยที่รอดจากการระบาดซ้ำ และระลอกสองนั้น รุนแรงกว่าระลอกแรก คุมยากกว่า และก่อให้เกิดความเสียหายที่หนักหนา รัฐ ศบค. และสมช. โปรดทบทวนเกณฑ์ของระยะที่ 5 – 6 เสียใหม่

หากท่านตามข่าว ท่านจะพบว่า มีการใช้เกณฑ์ที่ประกาศไป เพื่อนำเข้ากลุ่มชาวต่างชาติจำนวนมาก บางเรื่องดูจะมีความจำเป็น เช่น แรงงาน

บางเรื่อง ไม่ใช่ความจำเป็น ไม่มีก็ไม่ตาย ไม่ได้จำเป็นต่อการดำรงชีพของประชาชนในประเทศ เช่น นักกีฬา นักวิ่งแข่งขัน นักฟุตบอล

บางเรื่อง อาจไม่ต้องนำเข้าและใช้คนไทยทำแทน หรือหากจะนำเข้าก็ควรมีรายละเอียดการคัดเลือกแหล่งที่มาให้ลดความเสี่ยงลงให้น้อยที่สุด เช่น ครูสอนภาษา เป็นต้น

โปรดคำนึงไว้เสมอว่า ทั่วโลกระบาดรุนแรง หลายต่อหลายประเทศมีอัตราการตรวจพบว่าติดเชื้อสูงกว่าไทยหลายสิบเท่า

การนำเข้าแต่ละคน แต่ละครั้ง ล้วนมีความเสี่ยงที่จะเกิดการหลุดรอดของผู้ติดเชื้อเข้ามาสู่ชุมชน และแพร่ระบาดได้ จึงต้องขันน็อต ระแวดระวังให้ดี

ประชาชนไทยก็ควรตระหนักถึงความเสี่ยงดังกล่าว และรักตัวเองรักครอบครัว ป้องกันตนเองเสมอ

ใส่หน้ากาก… ล้างมือ… อยู่ห่างๆ คนอื่นหนึ่งเมตร พูดน้อยลง… พบปะคนน้อยลงสั้นลง เลี่ยงที่แออัดที่ชุมนุมที่อโคจร

คอยสังเกตอาการตนเองและครอบครัว…หากไม่สบาย ให้หยุดเรียนหยุดงานและรีบไปตรวจรักษา

ยอดผู้ติดเชื้อวันนี้ 10 ส.ค.

“รศ.นพ.ธีระ” ระบุอีกว่า รัฐ ศบค. สมช. หากปล่อยให้สถานการณ์เป็นไปตามภาวะปัจจุบัน คาดว่ามีความเสี่ยงสูงมากที่จะมีการระบาดภายในประเทศภายในไตรมาสสุดท้ายของปีนี้

สิ่งที่ควรทำคือ

หนึ่ง ทบทวนเกณฑ์การผ่อนคลายอนุญาตให้กลุ่มเป้าหมายต่างๆ ที่ประกาศไปในระยะที่ 5-6 เสียใหม่ โดยประเมิน”ความจำเป็น”ที่จะต้องนำเข้าคนต่างชาติเข้าสู่ประเทศไทย กับประโยชน์ที่จะได้รับและความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้น และควรหาทางส่งเสริมให้ใช้แรงงานในประเทศแทน ทั้งนี้ความจำเป็นที่กล่าวอ้างโดยหน่วยงานต่างๆ ที่ขออนุญาตนำเข้านั้น ต้องเป็น “ความจำเป็นอย่างยิ่งยวด” มิใช่ “จำเป็นแบบส่วนตัว”

สอง ท่ามกลางสถานการณ์ระบาดทั่วโลกจะแตะ 20 ล้านคนเช่นนี้ ควรยุตินโยบายฟองสบู่ท่องเที่ยวโดยเด็ดขาด ไม่ว่าจะอยู่ในรูปแบบใด โดยควรทิ้งระยะไปอีกอย่างน้อย 6 เดือน ตามธรรมชาติของโรคระบาดในอดีตที่น่าจะค่อยลงบรรเทาลงใน 6-18 เดือน แล้วค่อยประเมินสถานการณ์อีกครั้ง

สาม ส่งเสริมหน่วยงานระดับนโยบายทุกหน่วยงาน ให้สร้างนโยบายพัฒนาประเทศโดยยึดหลักเศรษฐกิจพอเพียง ลดการพึ่งพาต่างชาติ ยืนบนขาตนเอง

สี่ ควรวางแผนพัฒนาระบบการตรวจคัดกรองโรค COVID-19 ให้มีความครอบคลุมทุกพื้นที่ และมีจุดบริการในทุกชุมชน เพื่อเตรียมรองรับสถานการณ์การระบาดซ้ำในไตรมาสสุดท้ายของปีนี้ ให้ประชาชนทุกคนสามารถเข้าถึงบริการตรวจได้โดยเร็ว ไม่ใช่จัดที่โรงพยาบาลเท่านั้น

ห้า ลด ละ เลิก แคมเปญสื่อสารสาธารณะที่จะทำให้ประชาชนประมาทการ์ดตก เช่น ความมั่นใจว่าจะเอาอยู่ การไม่มีเคสในประเทศ ฯลฯ แต่ควรมุ่งเน้นการสร้างความตระหนักถึงปัญหาการระบาดซ้ำที่อาจเกิดขึ้นได้ทุกเมื่อ ความรู้เกี่ยวกับระบบการตรวจคัดกรองใกล้บ้าน ความสำคัญของการป้องกันตัวและครอบครัว การสร้างจิตสำนึกของทุกคนในสังคมและรณรงค์ให้งดการให้บริการแก่คนที่ไม่ป้องกันตัว รวมถึงความสำคัญอย่างยิ่งยวดในระยะถัดจากนี้ไปที่ทุกคนจะต้องประเมินอาการตนเองและครอบครัว หากไม่สบายให้รีบไปตรวจรักษา

สำหรับประชาชน : ยาและวัคซีนต้องใช้เวลาในการศึกษาอีกนานพอสมควร และหากจะได้ผล อาจได้ผลไม่สูงนัก การจะได้ยาหรือวัคซีนมาใช้แบบเดี่ยวๆ เพื่อหวังผลในการจัดการควบคุมโรค COVID-19 นั้นคงจะเป็นไปได้ยาก แต่จำเป็นต้องนำยาหรือวัคซีนนั้นมาใช้ควบคู่ไปกับมาตรการทางด้านการป้องกันตัวระดับบุคคล คือใส่หน้ากาก ล้างมือ อยู่ห่างๆ เลี่ยงที่แออัด และตรวจคัดกรองตั้งแต่เนิ่นๆ เพื่อหาการติดเชื้อและรีบนำเข้าสู่กระบวนการรักษา เพื่อให้หายดีและตัดวงจรการระบาดในชุมชน

สิ่งที่พวกเราทุกคนจะทำได้คือ รักตัวเองและครอบครัว ใช้ชีวิตอย่างมีสติ ป้องกันตนเองเสมอ ใส่หน้ากาก ล้างมือ อยู่ห่างคนอื่นหนึ่งเมตร พูดน้อยลง พบปะคนน้อยลงสั้นลง เลี่ยงที่แออัดที่ชุมนุมที่อโคจร และสังเกตอาการตนเอง หากไม่สบายให้รีบไปตรวจครับ…

ประเทศไทยต้องทำได้
ด้วยรักต่อทุกคน
รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์
คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo
Siree Osiri OHO BANGKOK