General

กรมขนส่งฯ ถอย!! ตั้งหลักแผนยึด ‘ใบขับขี่ตลอดชีพ’

กรมการขนส่งทางบก ยืนยัน ไม่ยึดคืน ใบขับขี่ตลอดชีพ และไม่เรียกผู้มี ใบอนุญาตขับรถ ตลอดชีพ ทั้งหมด มาทดสอบสมรรถนะใหม่ หรือทดสอบขับรถใหม่ ตามข้อมูลที่มีการแชร์กันในขณะนี้ อย่างแน่นอน  แต่จะศึกษาถึงแนวทางการคัดกรอง ผู้ที่ขาดสมรรถนะ หรือมีสภาวะโรค ที่แพทย์วินิจฉัยแล้ว เห็นว่า มีความเสี่ยง หรือมีผลต่อประสิทธิภาพ การขับขี่อย่างปลอดภัย

นายจิรุตม์ วิศาลจิตร อธิบดี กรมการขนส่งทางบก เปิดเผยว่า กรมการขนส่งทางบก ยืนยันว่า จะไม่ยึดคืน ใบขับขี่ตลอดชีพ และไม่เรียกผู้มี ใบอนุญาตขับรถ ตลอดชีพทั้งหมด มาทดสอบสมรรถภาพของร่างกายใหม่ หรือทดสอบขับรถใหม่ ตามข้อมูลที่มีการแชร์กันในขณะนี้อย่างแน่นอน

ใบขับขี่ตลอดชีพ

แต่จะมีการศึกษาว่า จะทำอย่างไร ในการคัดกรองผู้ที่ร่างกายเสื่อมสมรรถภาพ หรือมีสภาวะโรค ที่แพทย์วินิจฉัยแล้วเห็นว่า มีผลต่อประสิทธิภาพการขับขี่ อย่างปลอดภัย เช่น โรคทางสมอง โรคปัญหาการมองเห็น ที่รักษาไม่หาย เป็นต้น เพื่อความปลอดภัยของผู้ขับขี่ และผู้ใช้รถใช้ถนนร่วมกัน

การศึกษาดังกล่าว ต้องหารือร่วมกับกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข และแพทยสภา และต้องพิจารณาข้อกฎหมาย ประกอบอย่างรอบคอบ เพื่อไม่ให้กระทบสิทธิผู้ถือใบอนุญาตขับรถตลอดชีพ

ดังนั้น ที่มีการแชร์ข้อมูลว่า จะมีการยึดคืน ใบอนุญาตขับรถ ตลอดชีพ ที่ออกให้แล้ว หรือการให้เข้ามาทดสอบ สมรรถภาพของร่างกายใหม่ หรือทดสอบขับใหม่ จึงไม่เป็นความจริง การดำเนินการเกี่ยวกับใบอนุญาตขับรถ ยังคงเป็นไปตามระเบียบ และกฎหมาย ที่เกี่ยวข้องตามปกติ

อธิบดีกรมการขนส่งทางบก กล่าวเพิ่มเติมว่า กรมการขนส่งทางบก ยังได้มีการนำสถิติการเกิดอุบัติเหตุ และผลการศึกษาสาเหตุการเกิดอุบัติเหตุมาวิเคราะห์เพื่อหาแนวทางในการยกระดับมาตรฐานการออกใบอนุญาตขับรถ

bai e1596944475941

โดยแบ่งเป็น 7 มิติ ประกอบด้วย

  1. การกำหนดสภาวะโรค
  2. การทดสอบสมรรถภาพทางร่างกาย
  3. การอบรม และทดสอบความรู้ ของผู้ขอรับใบอนุญาตขับรถ (ภาคทฤษฎี) โดยจะมีการทบทวน และปรับปรุงเนื้อหาหลักสูตรการอบรม ให้สอดคล้องกับการขอรับใบอนุญาต พร้อมทั้งจัดทำระบบอบรมภาคทฤษฎีออนไลน์แบบ e-Learning
  4. การอบรมการขับรถ และทดสอบความสามารถ ในการขับรถ ของผู้ขอรับใบอนุญาตภาคปฏิบัติ
  5. การบริหารจัดการ
  6. การปรับปรุงรูปแบบ ใบอนุญาตขับรถ โดยจะปรับปรุงให้สอดคล้อง กับอนุสัญญาเวียนนาว่าด้วยการจราจรทางถนน ค.ศ. 1968
  7. การควบคุมพฤติกรรมการขับรถ ด้วยมาตรการตัดแต้ม (การติดตามประเมินผล) เพื่อพัฒนามาตรฐานใบอนุญาตขับรถ ของประเทศไทย ให้ครอบคลุมทุกมิติ ยกระดับความปลอดภัยทางถนนของประเทศ

ก่อนหน้านี้ นางจันจิรา บุรุษพัฒน์ รองอธิบดีกรมการขนส่งทางบก กล่าวว่า ขณะนี้การทดสอบสมรรถภาพผู้ถือ ใบขับขี่ตลอดชีพ ใหม่ ยังเป็นเพียงแนวคิดเท่านั้น ไม่ได้เป็นมาตรการที่ชัดเจน โดยแนวคิดดังกล่าว มีวัตถุประสงค์เพื่อมาตรการยกระดับความปลอดภัย ในการขับขี่ของประชาชน และผู้ใช้รถใช้ถนน

แต่หลายฝ่าย ก็แสดงความกังวลว่า หากกรมการขนส่งฯ ยกเลิกใบขับขี่ตลอดชีพ กรณีที่ทดสอบสมรรถภาพไม่ผ่าน อาจจะกระทบสิทธิ์ผู้ขับขี่ได้ ดังนั้น กรมจึงอยู่ระหว่างการหารือกับฝ่ายกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ว่าจะดำเนินการอย่างไรจึงไม่เกิดปัญหา

ใบขับขี่ตลอดชีพ

รวมทั้ง จะต้องเร่งหารือกับแพทย์สภา ให้เข้ามาร่วมแลกเปลี่ยนข้อมูล เสนอแนะแนวทางเรื่องนี้ด้วย โดยเบื้องต้นอาจจะให้แพทย์ เป็นผู้ใช้ดุลยพินิจ ในการพิจารณาสมรรถภาพของผู้ขับขี่ ที่มาทำการสอบใหม่ หากแพทย์วินิจฉัยว่าสมรรถนะไม่ผ่าน ก็อาจจะไม่สามารถออกใบอนุญาตให้ได้ ซึ่งก็เป็นไปตามหลักการพิจารณาทั่วไป

กรมการขนส่งฯ จะต้องศึกษากลุ่มเสี่ยง วิธีการ และมาตรฐาน fit to drive ของแพทย์ก่อน จากนั้นจึงจะมีความชัดเจนเรื่องแนวทางต่างๆ ต่อไป

ด้านโครงการเปลี่ยนใบขับขี่ตลอดชีพ จากบัตรแบบกระดาษ มาเป็นบัตรแบบอิเล็กทรอนิกส์นั้น มีวัตถุประสงค์เพื่อทำให้ ฐานข้อมูลผู้ถือใบขับขี่ มีความสมบูรณ์และเป็นปัจจุบัน

เพราะผู้ถือใบขับขี่ตลอดชีพส่วนใหญ่เป็นผู้สูงอายุ ที่อยู่นอกระบบฐานข้อมูล ที่ผ่านมากรมจึงไม่รู้เลยว่ามีผู้ถือบัตรกี่คน และเหลืออยู่กี่คนในระบบ โดยหากมาเปลี่ยนเป็นบัตรอิเล็กทรอนิสก์แบบมี QR Code แล้ว ก็จะบันทึกข้อมูลผู้ขับส่วนนี้เข้าฐานข้อมูล ทำให้สามารถตรวจสอบและสื่อสารข่าวสารระหว่างกันได้

ทั้งนี้ การเปลี่ยน ใบขับขี่ตลอดชีพ จากบัตรกระดาษ เป็นบัตรพลาสติกจะเกิดขึ้นโดยเร็ว คาดว่าปี 2564 กรมจะออกประกาศยกเลิกใบขับขี่ที่เป็นกระดาษทั้งหมด แล้วเปิดโอกาสให้ผู้ถือบัตร เข้าเปลี่ยนเป็นใบขับขี่อิเล็กทรอนิกส์แบบมี QR Code โดยจะอำนวยความสะดวก ด้วยการออกหน่วยบริการ และให้เวลาเปลี่ยนเป็นปี รวมถึงมีแนวคิดจะให้ดำเนินการเปลี่ยนฟรี ไม่เก็บค่าใช้จ่ายดำเนินการ 100 บาท

รายงานข่าวแจ้งว่า ผู้ที่ถือใบขับขี่ตลอดชีพในรูปแบบกระดาษ ส่วนใหญ่เป็นผู้ที่มีอายุมากกว่า 40 ปี รวมไปถึงกลุ่มผู้สูงอายุ ซึ่งเป็นกลุ่มเสี่ยง ที่อาจจะมีสมรรถภาพการขับขี่ที่ไม่สมบูรณ์ โดยปัจจุบันคาดว่าอาจจะมีใบขับขี่ประเภทนี้มากถึงหลักล้านใบทั่วประเทศ

อย่างไรก็ตาม กรมได้มีการยกเลิกออกใบอนุญาตขับขี่แบบตลอดชีพ มาตั้งแต่ปี 2546

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo