Politics

สดร.แจงกรณีเสียงดังสนั่นบนท้องฟ้าหลายพื้นที่ คาด ‘ดาวตก’ ขนาดใหญ่พุ่งผ่านท้องฟ้า

สดร.แจงกรณีเกิดเสียงดังสนั่นบนท้องฟ้าหลายพื้นที่ใน กทม. ปทุมธานี นนทบุรี คาดเกิดจาด “ดาวตก” ขนาดใหญ่พุ่งผ่านท้องฟ้าจนเกิดเสียงดังสนั่น ขออย่าตื่นตระหนก เป็นเหตุการณ์ที่สามารถอธิบายได้ตามหลักการทางวิทยาศาสตร์

สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) (สดร.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ชี้แจงกรณีเสียงดังสนั่น ช่วงเย็นวันที่ 6 สิงหาคม 2563 ว่า อาจเกิดจากดาวตกขนาดใหญ่ พุ่งผ่านท้องฟ้า ด้วยความเร็วสูง เคยเกิดมาแล้วหลายครั้งในไทยและทั่วโลก ไม่พบรายงานความเสียหาย หรือ ได้รับบาดเจ็บ ขอประชาชนอย่าตื่นตระหนก เป็นเหตุการณ์ที่สามารถอธิบายได้ตามหลักการทางวิทยาศาสตร์

สดร.

ดร. ศรัณย์ โปษยะจินดา ผู้อำนวยการ สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ กล่าวว่า ตามที่มีข้อมูลเผยแพร่ทางโซเชียลมีเดีย ในช่วงเย็นวันที่ 6 สิงหาคม 2563 เวลาประมาณ 17.00 น. มีประชาชนจำนวนหนึ่ง ได้ยินเสียงดังสนั่นบริเวณพื้นที่ เขตสายไหม แจ้งวัฒนะ พระราม 2 ในเขตกรุงเทพมหานคร รวมถึงบริเวณ อ.ปากเกร็ด จ. นนทบุรี และหลายพื้นที่ใน จ.ปทุมธานี รู้สึกได้ถึงแรงสั่นสะเทือน และมีผู้บันทึกภาพกลุ่มควัน พาดผ่านบนท้องฟ้า ในช่วงเวลาดังกล่าวไว้ได้ และไม่มีรายงานผลกระทบใด ๆ ต่อชีวิตและทรัพย์สิน

ทั้งนี้ จากหลักฐานที่รวบรวมได้ เบื้องต้นคาดว่า อาจเกิดจากดาวตกขนาดใหญ่ พุ่งผ่านท้องฟ้าด้วยความเร็วสูง (เร็วกว่าเสียง) ทำให้เกิดเสียงดังสนั่น สามารถได้ยินได้ในหลายพื้นที่ และเกิดแรงสั่นสะเทือน ที่สามารถรับรู้ได้ บางแห่งได้รับแรงกระแทก จนหน้าต่างสั่นไหว อย่างไรก็ตาม หากมีข้อมูล ภาพ หรือคลิปเหตุการณ์ ก็จะมีข้อมูลมากเพียงพอที่จะหาข้อสันนิษฐานที่ชัดเจนกว่านี้

อย่างไรก็ตาม กรณีนี้เคยเกิดขึ้นในประเทศไทยมาแล้ว เช่น เมื่อวันที่ 7 กันยายน 2558 บริเวณจังหวัดกาญจนบุรี นนทบุรี ฯลฯ และไม่มีผู้ได้รับบาดเจ็บ

สำหรับ การระเบิดเหนือท้องฟ้าในลักษณะนี้ เกิดขึ้นทั่วโลกมาแล้วหลายครั้ง แต่มีเพียงเหตุการณ์เดียว เมื่อปี 2556 ที่เมืองเชลยาบินสค์ ประเทศรัสเซีย ที่มีรายงานผลกระทบรุนแรง จากอุกกาบาตยักษ์พุ่งเข้าสู่โลก และระเบิดเหนือฟ้า สร้างความเสียหายให้กับอาคารบ้านเรือน และมีผู้ได้รับบาดเจ็บ แต่ไม่มีผู้เสียชีวิตแต่อย่างใด

ดร.ศรัณย์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ตามปกติแล้ว จะมีอุกกาบาตขนาดเล็ก หลุดเข้ามาในบรรยากาศของโลกเป็นประจำ โดยทั่วไป ไม่ก่อให้เกิดความเสียหายใดๆ แต่หากวัตถุมีขนาดใหญ่ และมีมวลรวมหลายตัน เมื่อเข้ามาในบรรยากาศโลกด้วยความเร็วสูง จึงเกิดการระเบิดเหนือพื้นโลก มีแสงสว่างวาบ และมีเสียงระเบิด ตามมาเป็นระลอกในภายหลัง

ศรัณย์ โปษยะจินดา
ดร. ศรัณย์ โปษยะจินดา

ทั้งนี้ ถึงแม้ว่าจะมีโครงการเฝ้าระวังวัตถุใกล้โลกของ NASA และหลายหน่วยงานที่คอยติดตามวัตถุในลักษณะเช่นนี้ แต่ก็ยังไม่สามารถตรวจจับ วัตถุที่มีขนาดเล็กๆ ที่อาจมีวงโคจร ที่ผ่านเข้าใกล้โลกได้ทั้งหมด เนื่องจากมีความสว่างน้อย และมีจำนวนมากนับล้านวัตถุ

วัตถุที่สามารถทำให้เกิดเหตุการณ์ในลักษณะนี้มีหลายชนิด เช่น ดาวเคราะห์น้อย ที่มักโคจรมาใกล้โลก เศษซากดาวเทียม ที่หมดอายุการใช้งาน และถูกปล่อยทิ้งไว้ในวงโคจร อาจถูกแรงดึงดูดของโลก ดึงกลับมาในชั้นบรรยากาศก็เป็นได้ เหตุการณ์นี้ถือเป็นเรื่องปกติ สามารถอธิบายได้ตามหลักวิทยาศาสตร์ ไม่ต้องกังวลและตื่นตระหนกไป เนื่องจาก โอกาสที่จะเกิดอันตรายต่อชีวิต และทรัพย์สินนั้นมีความเป็นไปได้น้อยมาก

อย่างไรก็ตาม ประเทศไทย มีโครงการเฝ้าระวังวัตถุจากนอกโลก ดำเนินการโดย สดร. ร่วมกับกองทัพอากาศ และกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ใช้กล้องโทรทรรศน์ ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 0.7 เมตร เฝ้าสังเกตการณ์ วัตถุที่มีขนาดใหญ่กว่า 100 เมตร ที่อาจทำให้เกิดความเสียหายในวงกว้าง

ปกติแล้ว นักดาราศาสตร์จะตรวจสอบล่วงหน้า และสามารถติดตามวัตถุที่มีขนาดใหญ่ ได้เกือบทั้งหมด ส่วนวัตถุที่มีขนาดเล็กกว่า 100 เมตรนั้น ตรวจสอบได้ยากมาก และ หากวัตถุขนาดเล็กพุ่งชนโลก ก็จะเกิดการเสียดสีในชั้นบรรยากาศ อาจเกิดการระเบิด เผาไหม้หมดไปบนท้องฟ้า หรือ อาจเหลือเพียงเศษอุกกาบาตขนาดเล็กตกลงมา ซึ่งไม่ก่อให้เกิดอันตราย และความเสียหายต่อชีวิตและทรัพย์สิน

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo
Siree Osiri OHO BANGKOK