World News

ระเบิดเบรุต บานปลาย ตำรวจยิงแก๊สนำตาสลายม็อบ ประท้วงรัฐบาลไม่เหลียวแล

กองกำลังความมั่นคงเลบานอน ตัดสินใจยิงแก๊สน้ำตา เพื่อสลายฝูงชน ที่ออกมารวมตัวกัน เพื่อชุมนุมขับไล่รัฐบาล ท่ามกลางความไม่พอใจ ที่ไม่ได้รับความช่วยเหลือเท่าที่ควรจากรัฐบาล หลังเกิดเหตุ ระเบิดเบรุต ที่ทำให้เกือบทั้งกรุงเบรุต ได้รับความเสียหาย

สำนักข่าวต่างประเทศรายงานว่า ชาวกรุงเบรุต เมืองหลวงของเลบานอน ช่วยกันเก็บกวาดซากปรักหักพัง ของสิ่งปลูกสร้างต่างๆ ที่ได้รับความเสียหาย เป็นบริเวณกว้างแทบจะทั้งเมือง จากเหตุสารแอมโมเนียม ไนเตรท ที่เก็บไว้บริเวณท่าเรือ เกิดระเบิดขึ้นมา เมื่อวันอังคารที่ผ่านมา (4 ส.ค.) ตามเวลาท้องถิ่น

GettyImages 1227937209

การออกมาเก็บกวาดทำความสะอาด จากเหตุ ระเบิดเบรุต เกิดขึ้นท่ามกลางความไม่พอใจต่อทางการเลบานอน ที่คนเหล่านี้มองว่า ไม่เหลียวแลความยากลำบากของพวกเขา สถานการณ์ที่บานปลาย จนทำให้เกิดการรวมตัวกัน เพื่อชุมนุมประท้วงขับไล่รัฐบาล  และเกิดการเผชิญหน้ากับกองกำลังรักษาความมั่นคง

บรรดาผู้ประท้วงพากันจุดไฟเผาร้านค้า ทุกทำลายข้าวของ และขว้างปาก้อนหินเข้าใส่เจ้าหน้าที่ ซึ่งตอบโต้ด้วยการยิงแก๊สน้ำตาเข้าใส่ ในความพยายามที่จะสลายฝูงชน ที่แม้ว่าจะมีจำนวนไม่มากนัก แต่แสดงออกอย่างชัดเจนถึงความโกรธแค้นที่มีอยู่ โดยเหตุปะทะกันครั้งนี้ มีผู้ได้รับบาดเจ็บจำนวนหนึ่ง

GettyImages 1184426838
แฟ้มภาพ

จนถึงขณะนี้ ยอดผู้เสียชีวิตจากเหตุระเบิดขนาดใหญ่ดังกล่าวอยู่ที่อย่างน้อย 157 คนแล้ว และมีผู้ได้รับบาดเจ็บอีกมากกว่า 5,000 คน โดยคาดว่า จำนวนผู้เสียชีวิตจะมีมากกว่านี้ ท่ามกลางปฏิบัติการค้นหา และกู้ภัย ที่ยังดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง เพื่อค้นหาผู้ที่ยังสูญหายอยู่

ชาวเลบานอนจำนวนมาก ยังมองว่า เหตุระเบิดที่เกิดขึ้น มีสาเหตุมาจากความไม่ใส่ใจของรัฐบาล ที่ทำให้มีสารแอมโมเนียม ไนเตรท มากถึง 2,750 ตัน ถูกเก็บไว้กลางเมืองขนาดนี้  โดยจนถึงขณะนี้ ทางการเลบานอนได้ทำการควบคุมตัว ผู้ที่เชื่อว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับการระเบิดดังกล่าวไว้แล้ว 16 คน เพื่อสอบปากคำในเรื่องนี้ ตามที่รัฐบาลประกาศว่า จะดำเนินการหาตัวคนผิดมาลงโทษให้ได้

ระเบิดเบรุต

ในเวลาเดียวกัน ประเด็นที่มาของ แอมโมเนียม ไนเตรท ทั้งหมด ยังคงเป็นที่ข้องใจของหลายฝ่าย หลังมีการเปิดเผยในเบื้องต้นว่า สารเคมีทั้งหมดเดินทางมาพร้อมกับเรือบรรทุกสินค้า “โรซุส” เมื่อเดือนพฤศิกายน 2556 โดยเรือเดินทางมาจากจอร์เจีย และมีปลายทางคือโมซัมบิก

แต่เรือเข้าจอดเทียบท่าในกรุงเบรุตด้วยเหตุผลที่ยังไม่ชัดเจน และเจ้าหน้าที่ของรัฐบาลเลบานอน ยึดแอมโมเนียม ไนเตรท เอาไว้ และจนถึงตอนนี้ยังคงคลุมเครือว่า ใครคือผู้สั่งซื้อสินค้าทั้งหมดนี้

ด้านกระทรวงการต่างประเทศของไซปรัส แถลงว่า ยินดีให้ความร่วมมืออย่างเต็มที่ กับกระบวนการสืบสวนสอบสวนของรัฐบาลเลบานอน  พร้อมอ้างอิงถึงนายอิกอร์ เกรชุสกิน นักธุรกิจชาวรัสเซีย ซึ่งเป็นเจ้าของเรือโรซุสว่า อยู่ที่ไซปรัสจริง แต่ไม่ได้ถือหนังสือเดินทางของไซปรัส และยังไม่มีการควบคุมตัว

ระเบิดเบรุต

อย่างไรก็ตาม สำนักงานตำรวจสากลในเลบานอนเชิญเกรชุสกินไปให้ข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับเรือโรซุสแล้ว

ขณะที่สำนักงานการท่าเรือในกรุงไบรา เมืองหลวงของโมซัมบิก ออกแถลงการณ์ว่าทางการโมซัมบิก “ไม่เคยมีข้อมูลมาก่อน” ว่าเรือโรซุสมีปลายทางคือกรุงไบรา โดยให้ข้อมูลเพิ่มว่า ตามปกติการขอนำเรือจอดเทียบท่าต้องแจ้งล่วงหน้าอย่างน้อย 15 วัน

รู้จักแอมโมเนียม ไนเตรท 

แอมโมเนียม ไนเตรท  จัดเป็นวัตถุอันตราย ทำให้หลายประเทศมีมาตรการควบคุมอย่างเข้มงวด อาทิ ในกลุ่มสหภาพยุโรป (EU) กำหนดให้เติมแคลเซียมคาร์บอเนต (Calcium Carbonate) เพื่อให้กลายเป็น แคลเซียมแอมโมเนียมไนเตรท (Calcium Ammonium Nitrate) ซึ่งปลอดภัยกว่า ขณะที่สหรัฐฯ กำหนดให้โรงงานที่เก็บสารแอมโนเนียมไนเตรท ตั้งแต่ 2,000 ปอนด์ หรือ 900 กิโลกรัมขึ้นไป อาจถูกทางการเข้าตรวจสอบ เป็นต้น

ทั้งนี้ ในบทความชื่อ “เมื่อปุ๋ยเคมีถูกใช้เป็นระเบิด” ที่เขียนโดย บุญรักษ์ กาญจนวรวณิชย์ เผยแพร่บนเว็บไซต์ของ ศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (MTEC) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ระบุว่า การนำปุ๋ยแอมโมเนียมไนเตรทมาใช้เป็นวัตถุดิบในการทำระเบิดมีมานานแล้วโดยนำไปผสมกับเชื้อเพลิง เนื่องจากระเบิดที่ได้ใช้งานง่ายและมีราคาถูก จึงนิยมใช้มากในเหมืองถ่านหิน เหมืองหิน เหมืองแร่โลหะ และอื่นๆ

ระเบิดเบรุต

สำหรับประเทศไทย มีกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับสารแอมโมเนียม ไนเตรทหลายฉบับ อาทิ “ประกาศกระทรวงกลาโหม เรื่อง กำหนดยุทธภัณฑ์ที่ต้องขออนุญาตตามพระราชบัญญัติควบคุมยุทธภัณฑ์ พ.ศ. 2530” ในหมวด 2.3 สารเคมีและสารเคมีที่ใช้เป็นส่วนผสมของวัตถุระเบิด ลำดับที่ 4 เลขที่ 6484-52-2 (ยกเว้นปุ๋ยที่กรมวิชาการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ รับขึ้นทะเบียนเป็นปุ๋ยเคมี หรือผลิตภัณฑ์อื่นที่ไม่ใช่วัตถุระเบิด แต่มีแอมโมเนียมไนเตรทเป็นส่วนผสม)

ตาม พ.ร.บ.ควบคุมยุทธภัณฑ์ พ.ศ. 2530 มาตรา 15 บัญญัติไว้ว่า  ห้ามมิให้ผู้ใดสั่งเข้ามา นำเข้ามา ผลิต หรือมีซึ่งยุทธภัณฑ์ เว้นแต่จะได้รับใบอนุญาตจากปลัดกระทรวงกลาโหม

การอนุญาตตามวรรคหนึ่ง จะกำหนดเงื่อนไขไว้ในใบอนุญาตก็ได้ การขออนุญาตและการอนุญาต ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่กำหนดในกฎกระทรวง และมาตรา 42 ระบุว่า ผู้ฝ่าฝืนมาตราดังกล่าวต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกินห้าหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

อ่านข่าวเพิ่มเติม 

Avatar photo